ย้อนดู 13 เหตุการณ์ในวันศุกร์ 13 กับเหตุแปลก ชวนสะพรึง รวมถึงเหตุฉาวโฉ่ในวันวาน ศุกร์ 13 เพียงเหตุบังเอิญหรืออาถรรพ์ ? ศุกร์ 13 กลายมาเป็นตำนานอาถรรพ์ที่สร้างความหวาดผวาไปทั่วโลก ด้วยเชื่อว่าวันดังกล่าวเป็นวันแห่งความโชคร้ายที่ไม่ว่าจะลงมือทำการใดก็มักจะไม่สำเร็จผล
ในขณะที่ใครหลายคนมองว่าความเชื่อเรื่อง อาถรรพ์ ศุกร์ 13 นั้น เป็นเพียงเรื่องงมงายเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในวันดังกล่าวมักจะมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงโศกนาฏกรรม และเหตุการณ์ระดับโลก ซึ่งจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญหรือเป็นเพราะ "อาถรรพ์ ศุกร์ 13" ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้าฟันธงเสมอไป ดังเช่นเหตุการณ์ประหลาดในวันศุกร์ 13 ที่เราจะยกตัวอย่างมาให้ติดตามในครั้งนี้
1. การกระโดดสู่ความตายของนักท้ามฤตยู
ด้วยเพราะ แซม แพทช์ นับเป็นหนึ่งในนักกระโดดท้ามฤตยูคนดังของสหรัฐฯ ที่เคยท้าความตาย โชว์กระโดดจากหน้าผาของน้ำตกไนแองการามาเป็นสิบ ๆ ครั้ง ดังนั้นจึงไม่มีใครคาดคิดว่าการโชว์กระโดดในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2372 จะกลายมาเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขา โดยข้อมูลจากหนังสือ "Sam Patch, the Famous Jumper" ระบุว่า ในวันศุกร์ 13 ดังกล่าว แซม แพทช์ ได้ทำการกระโดดในขณะที่เมา ทำให้เขาจบชีวิตลงต่อหน้าผู้ชมนับหมื่น ขณะที่รายงานจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในปี 2426 ระบุว่า แซม แพทช์ ได้กระโดดลงมาผิดท่าและลงผิดจุดจากการกระโดดที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าประหลาดยิ่งขึ้นเมื่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เรื่องเล่าอาถรรพ์ ศุกร์ 13 จะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายเสียอีก
2. เพลิงมรณะในวันศุกร์ 13
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2482 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นทั่วรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย สังหาร 36 ชีวิตภายในวันเดียว โดยพบว่าเหตุเพลิงไหม้ที่น่ากลัวครั้งนั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่นำไม้แห้ง ๆ มาเผาทำลายพืชผักที่ไม่เติบโตในช่วงฤดูแล้งนั้น แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้จนเปลวไฟลุกลามไปทั่ว โดยพบว่าในเดือนมกราคมปีนั้น เปลวไฟได้สร้างความเสียหายในพื้นที่ 75% ของรัฐ อาคารกว่า 1,300 หลังถูกทำลายวอด มีผู้เสียชีวิตรวม 71 ราย
3. ทิ้งระเบิดใส่พระราชวังบักกิงแฮม
ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มนาซีได้เปิดศึกกับสหราชอาณาจักรอย่างเข้มข้น โดยพบว่าพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง 16 ลูก อย่างไรก็ตามความเสียหายที่หนักที่สุดเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2483 เมื่อระเบิด 5 ลูกถูกทิ้งลงที่พระราชวัง เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย และเสียชีวิตอีก 1 ราย แต่นับว่าเป็นเคราะห์ดีที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระราชินีเอลิซาเบธทรงปลอดภัย ส่วนอาคารของพระราชวังโดยรวมก็นับว่าได้รับความเสียหายเล็กน้อยเท่านั้น
4. อุทกภัยครั้งใหญ่ในแคนซัส
นับเป็นเหตุอุทกภัยที่หนักหนาครั้งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐแคนซัส สหรัฐฯ หลังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2494 จนเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่า 40 เซนติเมตรในหลายพื้นที่ กระทั่งล่วงเข้าสู่วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนทำให้น้ำในแม่น้ำมีระดับความลึกถึง 12.4 เมตร ขณะที่ชุมชนเมืองและย่านธุรกิจในเมืองโทพีก้า ลอว์เรนซ์ และแมนฮัตตัน ก็มีน้ำท่วมสะสมสูง 2.4 เมตร นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดโดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 28 ราย และอีก 500,000 ชีวิตไร้ที่อาศัย วิศวกรของกองทัพสหรัฐฯ ประเมินค่าเสียหายจากเหตุครั้งนั้นราว 935 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ในเวลานั้น ซึ่งเทียบประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 แสนล้านบาท) ในขณะนี้
5. วิกฤตการณ์สงครามเย็น
ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น โลกเกือบจะเปิดฉากสงครามกันอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2495 สหภาพโซเวียตได้ยิงเครื่องบินขนส่งทางทหาร DC-3 ของสวีเดนตก โดยทางสวีเดนระบุว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินฝึกทหาร ขณะที่ทางโซเวียตเองก็ออกมาประกาศว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเพียง 1 วัน เครื่องบินของสวีเดนก็ถูกโซเวียตยิงตกอีกระหว่างค้นหาซาก DC-3
แต่แล้วในที่สุดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปได้เกือบ 40 ปี ทางการสวีเดนก็ได้ออกมายอมรับว่า DC-3 เป็นเครื่องบินสอดแนม ขณะที่ในปี 2534 ทางโซเวียตก็ยอมรับว่าเป็นผู้ยิง DC-3 ตก ขณะที่ซากของเครื่องบินที่หายไปเพิ่งจะถูกค้นพบที่ก้นทะเลบอลติก ในปี 2546 โดยพบศพลูกเรือ 4 ใน 8 ราย ทั้งนี้ปัจจุบันซากเครื่องบินดังกล่าวได้ถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศสวีเดน
6. เหตุฆาตกรรมที่ถูกเพิกเฉย
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2477 หนึ่งในคดีฆาตกรรมที่โหดร้ายและฉาวโฉ่มากที่สุดของนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ได้เกิดขึ้นเมื่อ คิตตี้ เจโนวิส ผู้จัดการบาร์แห่งหนึ่งได้ถูกชายแปลกหน้าจู่โจมเข้าแทงและข่มขืนขณะกลับมาที่อพาร์ทเม้นท์ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเศร้าเมื่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์มีรายงานว่า ในเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง มีเพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ไม่ต่ำกว่า 38 คน แต่ไม่มีใครที่ยื่นมือเข้าช่วยหรือแจ้งตำรวจเลยแม้แต่คนเดียว
คดีของ คิตตี้ เจโนวิส ได้กลายมาเป็นตัวอย่างทางจิตวิทยาในเวลาต่อมา โดยใช้อ้างถึงเหตุการณ์ที่พยานซึ่งพบเห็นเหตุร้ายในสถานการณ์หนึ่ง ๆ เลือกจะไม่ยื่นมือเข้าแทรกหรือทำอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากคิดว่ามีคนอื่นยื่นความช่วยเหลือให้แล้ว จากการสอบสวนในเวลาต่อมา พบว่ามีพยานหลายคนที่เลือกจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเจโนวิสเสียชีวิตไปแล้ว บางคนไม่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด บางคนก็เลือกจะเมินหน้าหนีจากสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่บางส่วนไม่เข้าใจว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นกันแน่ พวกเขาเหล่านี้จึงไม่ขอเอาตัวเองเข้าไปยุ่งด้วย จึงไม่ได้แจ้งตำรวจในทันที
7. พายุไซโคลนรุนแรง
วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2513 คือวันที่บังกลาเทศถูกพายุไซโคลนโบลา ซึ่งมีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศพัดถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย พายุไซโคลนที่มีความแรงลม 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังก่อให้เกิดคลื่นสูง 5 เมตรในมหาสมุทร ซัดเข้าสู่พื้นดินจนผู้คนต้องปีนต้นไม้เพื่อหนีตาย อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มผู้ที่มีอัตรารอดชีวิตสูงสุดก็คือผู้ชายวัย 15-49 ปี ขณะที่คนอื่นอย่างคนแก่ เด็ก ผู้ป่วย และผู้หญิงส่วนมาก ซึ่งไม่สามารถปีนต้นไม้ได้ต่างถูกน้ำพัดหรือกลืนหายไปกับพายุ
8. ผู้ประสบภัยที่ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด
ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2515 ทีมรักบี้จากประเทศอุรุกวัยได้ขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศชิลี ทว่าน่าเศร้าที่พวกเขากลับไปไม่ถึงจุดหมาย เมื่อเครื่องบินเกิดปัญหาระบบนำทางขัดข้องทำให้เครื่องตกลงบนภูเขาหิมะ ส่วนยอดของเทือกเขาแอนดีส พร้อมกับผู้โดยสาร 45 ชีวิต
แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มของบททดสอบอันแสนสาหัสของ 27 ชีวิตที่เหลืออยู่เท่านั้น แม้พวกเขาจะรอดตายจากการตกของเครื่องบิน แต่ก็ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บและอาหารที่ไม่เพียงพอ เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้รอดชีวิตก็จำต้องกินร่างของเพื่อนที่จากไปเพื่อประทังชีวิต เท่านั้นยังไม่พอเมื่อมีหิมะถล่มซ้ำสังหารผู้รอดชีวิตไปอีก 8 ราย กระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม คนอื่น ๆ ที่เหลือก็เริ่มถูกความเจ็บป่วยคุกคามชีวิต
แทบไม่น่าเชื่อว่ากู้ภัยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้กระทั่งสิ้นเดือนธันวาคม ผู้รอดชีวิต 16 คนสุดท้ายได้รับการช่วยเหลือในที่สุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2515 หลังจากต้องผจญชีวิตในถิ่นทุรกันดารอันหนาวเหน็บนานถึง 72 วัน
9. อุบัติเหตุเครื่องบินสังหาร 174 ชีวิต
แม้ตามสถิติแล้ว อัตราการเกิดปัญหาเครื่องบินตกในวันศุกร์ 13 จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในวันอื่น ๆ ทว่า ศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2515 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทีมรักบี้จากอุรุกวัยประสบอุบัติเหตุ กลับเกิดเหตุเครื่องบินตกถึง 2 ครั้งในวันเดียวกัน โดยอีกเหตุหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินที่บรรทุกผู้โดยสาร 164 ราย และลูกเรืออีก 10 ราย จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดในสนามบินที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยไม่มีผู้รอดชีวิตแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้น่าแปลกที่สาเหตุของเหตุดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ แต่ความผิดปกติด้านวิศวกรรมอาจถือเป็นความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง
10. เหตุตึกถล่มโรงแรมรอยัลพลาซ่า นครราชสีมา
ภาพจาก เฟซบุ๊ก โคราชบ้านเอ๋ง
ไม่ต้องเกรงใจ๋กั๋น ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมที่ชาวจังหวัดนครราชสีมายากจะลืมเลือน เมื่ออาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่า จังหวัดนครราชสีมา ได้ถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน บาดเจ็บ 227 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีข้าราชการครูถึง 47 ราย พนักงานบริษัทเชลล์ฯ 24 ราย พนักงานโรงแรม 33 ราย และผู้มาใช้บริการ 33 ราย
ทั้งนี้จากการสืบสวนก็พบว่า สาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าวเป็นผลจากที่ทางโรงแรมได้ต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้น เป็น 6 ชั้นอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน เมื่อเสาที่ตั้งอยู่บนคานแบกรับน้ำหนักมากเกินไป จึงทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้นสอง ทำให้โครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตามและส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด
11. การเสียชีวิตของ ทูพัค ชาเคอร์
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @tupacshakurlc
เรียกว่าเป็นหนึ่งในความสูญเสียของวงการเพลงฮิปฮอป เมื่อ ทูพัค ชาเคอร์ (Tupac Shakur) แร็พเปอร์ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในลาสเวกัส สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2539 หลังจากถูกมือมืดรัวกระสุนใส่เมื่อวันที่ 7 กันยายน อย่างไรก็ตามการจากไปของเขากลายมาเป็นที่กังขาของคนทั่งโลก โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุในการลอบสังหารดังกล่าวหลายประการ อาทิ ข้อพิพาททางธุรกิจ ปัญหาส่วนตัว ความรุนแรงระหว่างแก๊ง แม้กระทั่งบางคนยังเชื่อว่าทูพัคอาจยังไม่ตาย แต่น่าจะซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง
12. พายุหิมะในเมืองบัฟฟาโล
แม้ว่าผู้อาศัยในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ จะคุ้นชินกับการมีหิมะตกในช่วงฤดูหนาว แต่พวกเขาคงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดเหตุพายุถล่มเมืองบัฟฟาโลและพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ตั้งแต่ช่วงบ่ายของพฤหัสบดีต่อเนื่องจนถึงวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2549 ทำให้มีกองหิมะสะสมหนาถึง 56 เซนติเมตร ทิ้งให้ชาวเมืองต้องทนอยู่กับสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้นานร่วมสัปดาห์
13. เรือสำราญ กอสตา กอนกอร์เดีย ล่ม
ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2555 ช่วงเวลาอันแสนสงบสำหรับล่องเรือสำราญนอกชายฝั่งแคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี ได้เปลี่ยนมาเป็นความวุ่นวายครั้งใหญ่ในทันที เมื่อเรือสำราญ กอสตา กอนกอร์เดีย ได้ประสบอุบัติเหตุเกยหินปะการังนอกชายฝั่งเกาะจิกลิโอ จนเรือเอียงจมทะเลไปข้างหนึ่ง คร่าชีวิตผู้โดยสารกับลูกเรือไปทั้งสิ้น 32 ราย ขณะที่กัปตันเรือได้ถูกจับกุมในเวลาต่อมา
ข้อมูลจาก
- livescience.com
- express.co.uk