ในช่วงปี 1930 ความพยายามรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตในสหรัฐฯ มีความโหดร้ายและป่าเถื่อนอย่างมาก ซึ่งแทนที่แพทย์ในสมัยนั้นจะพยายามรักษาอาการของผู้ป่วยจากสาเหตุที่แท้จริง แต่แพทย์กลับเริ่มทำการทดลองรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่างๆ
และ "Lobotomy" (การผ่ากลีบ) ก็เป็นวิธีหนึ่งที่แพทย์ในสมัยนั้นนิยมใช้รักษาผู้ป่วยทางจิต ด้วยการใช้ "สว่านเจาะ" ไปที่บริเวณสมองกลีบหน้า แล้วทำการขยับให้เส้นประสาทเสียหายเป็นการลบบุคลิกภาพของผู้ป่วย ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเชื่อฟังคำสั่งของคนอื่นอีกด้วย แต่ขั้นตอนการผ่าตัดนั้นต้องทำในห้องผ่าตัดที่มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อและยาสลบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
แต่แล้วต่อมาในปี 1945 แพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Walter Freeman ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการผ่าตัดแบบเดิมของ Lobotomy ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ "ที่เจาะน้ำแข็ง" เจาะเข้าไปที่ "เบ้าตา" ของผู้ป่วยโดยไม่ต้องมีถุงมือหรืออุปกรณ์อะไรมากมาย และคิดค่าบริการเพียง 25 เหรียญเท่านั้น โดยเรียกวิธีนี้ว่า "Transorbital Lobotomy"
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากเพราะในปี 1949 มีผู้ป่วยทางจิตมากถึง 5,000 คน/ปี ที่ถูกรักษาด้วยวิธีนี้ มีทั้งคนยุโรปและอเมริกาซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่า 50,000 คนเลยทีเดียว และถึงแม้ว่าชาติอื่นๆ จะนิยมการรักษาอาการทางจิตด้วยวิธีนี้ แต่สหภาพโซเวียตกลับเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธและห้ามไม่ให้ผ่าตัดด้วยวิธีนี้เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไร้มนุษยธรรมนั่นเอง
จนกระทั่งปี 1960 - 1970 ก็มีการพิจารณาและตรวจสอบการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วพบว่า มันเป็นการผ่าตัดที่ป่าเถื่อนมาก ทั้งยังส่งผลเสียต่อผู้ป่วย และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากกว่าจะช่วยให้หายป่วยอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการยกเลิกการรักษาด้วยวิธีนี้ไปในที่สุด
ข้อมูลและภาพประกอบจาก "creepybasement"