นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า

http://variety.teenee.com/world/73138.html

นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า

 

เมื่ออองซานซูจี หญิงแกร่งแห่งพม่า บุตรีของอูอองซาน อายุได้ ๒ ขวบ พ่อของเธอก็ถูกลอบสังหาร เธอเล่าไว้ในบทความ "่พ่อของฉัน" จากหนังสือ Freedom from Fear ว่าตอนนั้นเธอยังเด็กเกินกว่าที่จะจำความได้ แต่เธอพยายามเก็บข้อมูลของพ่อผ่านหนังสือและพูดคุยกับคนที่รู้จักพ่อ

ต่อไปนี้เป็นประวัติของพ่อของเธอ

 

อูอองซานเกิดวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่เมือง นะม็อก (Natmauk) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในเขตกันดารตอนกลางของพม่า ปีนั้นครบรอบสามสิบปีที่อังกฤษเข้าปกครองพม่า อูอองซานเป็นลูกชายคนที่หก ซึ่งเป็นคนสุดท้องของครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ วัยเด็กอูอองซานเรียนเก่ง ฉลาด ผลการเรียนยอดเยี่ยม ทำงานหนัก และมีวินัยในตัวเองสูง

ตอนเด็ก ๆ ด้วยความที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องย้ายไปอยู่เมืองอื่น อูอองซานตัดสินใจประท้วงแม่ด้วยการอดอาหาร เพราะแม่ไม่ยอมให้ไปอยู่ไกล แต่ที่สุดประท้วงสำเร็จและได้ย้ายไปเรียนที่เมือง เยนานชอง (Yenangyuang) สมความตั้งใจ ตอนเป็นเด็ก อูอองซาน เขียนหนังสือระบายความในใจหลายหนว่า ฝันถึงวิธีการต่าง ๆ นานา ที่จะต่อต้านและขับไล่อังกฤษออกจากประเทศ บางครั้งถึงขั้นจินตนาการว่าอยากจะมีมนต์วิเศษเพื่อบันดาลให้ฝันเป็นจริง

 

เมื่อได้รับทุนเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งชาติ อูอองซาน เริ่มสนใจการกล่าวสุนทรพจน์ของนักการเมืองดัง ๆ และเข้าร่วมโต้วาทีในประเด็นการเมือง จากนั้นเริ่มเป็นบรรณาธิการวารสารของโรงเรียน ด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยมในวิชาภาษาพม่าและบาลี อองซานได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งย่างกุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย อูอองซานเข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างเช่นการกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขามักถูกเยาะเย้ยอยู่เสมอ เนื่องจากสำเนียงที่เขาพูดแปลก ๆ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ

 

ในช่วงนั้นนักศึกษาพม่าตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น บรรยากาศเต็มไปด้วยการถกเถียงเรื่องความรักชาติ พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙ กลุ่มนักศึกษาแนวชาตินิยมได้ขึ้นเป็นแกนนำของสหภาพนักศึกษา และอูอองซาน ได้ตำแหน่งเป็นบรรณาธิการวารสาร Oway ของสหภาพนักศึกษาพม่าในยุคนั้น

ช่วงนั้นวารสารตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งชื่อ Hell Hound at Large หรือ หมานรกลอยนวล ซึ่งได้กลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุประท้วงไปทั่วมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้อหาของบทความโจมตีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริหารตามหาตัวผู้เขียนกันจ้าละหวั่น อูอองซานในฐานะบรรณาธิการ บอกว่าเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่จะเปิดเผยตัวผู้เขียน ตอนแรกอูอองซานถูกบีบให้ลาออก แต่ไม่ยอม กลุ่มแนวร่วมนักศึกษาเริ่มก่อการประท้วงเพราะไม่พอใจผู้บริหาร เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งประเทศจับตามอง หนังสือพิมพ์เผยแพร่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยแสดงความเห็นใจนักศึกษา ขณะเดียวกันกลุ่มนักการเมืองของพม่าก็เริ่มเห็นถึงแววและพลังทางการเมืองของนักศึกษา รัฐบาลเองถูกกดดัน ในที่สุดผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยต้องลาออก

 

จากการประท้วงครั้งนั้น อูอองซานกลายเป็นผู้นำนักศึกษา และเริ่มมีตำแหน่งทางการเมืองในฐานะประธานสหภาพนักศึกษาระดับประเทศ

 

เมื่อจบปริญญาตรี พ.ศ. ๒๔๘๑ อูอองซานเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง "เราคือชาวพม่า" (Dobama Asiayone) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนรุ่นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าที่สนใจการเมืองแต่ไม่ต้องการเข้าร่วมกับนักการเมืองอาวุโสซึ่งขาดความกล้าหาญ กลุ่มเราคือชาวพม่าต้องการเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ที่รักชาติ

ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ เกิดเหตุวุ่นวายในพม่ามากมาย เช่นการเดินขบวนของชาวไร่ชาวนาที่กรุงย่างกุ้ง นักศึกษาประท้วง โรงเรียนหยุดประท้วง การปะทะกันระหว่างชาวพม่าและชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย การประท้วงของคนงาน ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ แต่ละกลุ่มแตกก๊กแตกเหล่าเพราะอิจฉากัน

 

อูอองซานได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมาร์กซิสต์และแนวนิยมซ้ายพอสมควร แต่เขาพยายามไม่ฝักใผ่ฝ่ายใด และพยายามยึดมั่นอยู่กับการนำพาพม่าให้ได้รับอิสรภาพ

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กำลังเกิดสงครามในยุโรป อาณานิคมเริ่มสั่นคลอน อูอองซานร่วมกับบามอ (Ba Maw) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ จัดตั้งพรรคกลุ่มเสรีภาพ โดยบามอเป็นประธานพรรค อูอองซานเป็นเลขาธิการพรรค เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในยุโรป พรรคกลุ่มเสรีภาพประกาศไม่ช่วยอังกฤษรบ บามอถูกจำคุกใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ส่วนอูอองซานหนีรอดไปได้

 

อองซานซูจี เล่าในบทความ "พ่อของฉัน" ว่า

ในช่วงแรกของการต่อสู้ อูอองซานหวังไว้ในใจว่าไม่อยากเห็นการปะทะ ความรุนแรง หรือ การนองเลือด และหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือทางการเมืองอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป อูอองซานเริ่มเปลี่ยนความคิด และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เขาได้เขียนระบายความในใจว่า

 

"ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากภายในพม่าเอง โดยต้องรวบรวมผู้คนให้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนน เพื่อแสดงพลังต่อต้านอังกฤษ และขณะเดียวกันต้องร่วมมือกับต่างประเทศ และร่วมมือกับแรงงานภาคอุตสาหกรรม ชาวชนบท ชาวไร่ ชาวนา และคนในเมือง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแสดงอารยะขัดขืนอย่างพร้อมเพียง ขณะเดียวกันก็ต้องคว่ำบาตรไม่ใช้สินค้าอังกฤษ และต้องเขย่าอังกฤษด้วยการโจมตีในลักษณะกองโจร เพื่อต่อต้านทหาร พลเรือน ตำรวจ และการสื่อสารทั้งมวลในประเทศ การกระทำเป็นระบบเช่นนี้จะทำให้อังกฤษต้องช็อก และหมดจากอำนาจไปโดยปริยาย และมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะบุกพม่าด้วย"

อูอองซานเองยอมรับว่าแผนการณ์ของตนนั้นยิ่งใหญ่เกินตัว และสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะความไม่คล่องตัวที่จะต้องปลุกเร้าการเดินขบวนประท้วงในระดับมวลชน ซึ่งต้องใช้พลังค่อนข้างมาก แต่เขายืนกรานว่าต้องหาทางให้กลุ่มแนวร่วมรักชาติมีอาวุธเพื่อปฏิบัติการณ์แบบกองโจร และในที่สุดที่ประชุมตกลงกันว่าต้องหาตัวแทนหนึ่งคนออกไปนอกพม่า เพื่อจัดหาอาวุธและความช่วยเหลือ ความที่อูอองซานเป็นผู้เสนอความคิดนี้ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ลงมือ

 

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ อูอองซานและพรรคพวกเดินทางออกจากพม่าทางเรือ และไปขึ้นฝั่งที่ เอ้หมึง (Amoy) ของจีน และปักหลักอยู่ที่นั่นในช่วง ๒-๓ เดือนเพื่อสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มคอมมูนิสต์จีน ความพยายามนั้นไม่สำเร็จ แต่กลับได้รับการติดต่อจากตัวแทนของญี่ปุ่นเพื่อเจอกับ เจ้าหน้าที่กองทัพของญี่ปุ่น พันเอกเคจิ ซูซูกิ (鈴木敬司) ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำของกลุ่ม Minami Kikan (南機関-ตัวแทนทางใต้) ซึ่งเป็นองค์กรลับที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยพม่าเพื่อให้ได้รับเอกราชและปิดถนนเข้าสู่พม่า

แต่การติดต่อกับญี่ปุ่นไม่ราบรื่นเสียทีเดียวสมาชิกพรรคกลุ่มเสรีภาพ เริ่มไม่ลงรอยกันว่าควรจะยอมรับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นหรือไม่ แต่อูอองซานขอให้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นไปก่อน แล้วดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

ก่อนจะมาเป็นผู้นำนักศึกษา อองซานมาจากตระกูลชาวนา ที่ลุงแท้ๆของแม่(บางสำนวนบอกว่าปู่)เป็นดาค้อยท์ที่ถูกอังกฤษจับเอาไปตัดหัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝังจิตฝังใจตัวเขามาก ยามเด็กอองซานเป็นนักเรียนที่เรียนดีจนได้ทุนและสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้ วิชาที่สนใจเป็นพิเศษก็คือ ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์

เมื่อเป็นนักศึกษา ลักษณะท่าทาง การแต่งกาย และการพูดจาของอองซานมีลักษณะเป็นคนบ้านนอก เรื่องนี้ทำให้ถูกเด็กเมืองหลวงหัวเราะเยาะบ่อยๆ ครั้งหนึ่ง หาญขึ้นไปโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ "พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" ที่จัดโดยสหภาพนักศึกษา ความเป็นเด็กบ้านนอกเลยพูดผิดพูดถูก เมื่อคิดศัพท์อังกฤษไม่ออก ก็มั่วภาษาบาลีมาโต้ ถูกคนฟังก็ฮาป่า ถากถาง แต่หลังจากนั้น อองซานจึงมุฝึกภาษาอังกฤษ จนได้รับการยอมรับทั้งมหาวิทยาลัย สุดท้าย ถึงขนาดได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการบริหารของสหภาพนักศึกษา

 

ในขณะที่อองซานสร้างตนจนเป็นที่นิยมยอมรับ โดยเฉพาะในความเด็ดเดี่ยว กล้าและตรงไปตรงมา แต่หลายคนเห็นว่าอองซานเป็นคนน่ากลัวก็คือ การเป็นคนเงียบขรึมผิดปกติ บางทีก็ระเบิดอารมณ์ร้ายออกมาจนคนรอบข้างอยู่ใกล้กระเจิง นักศึกษาจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าอองซานเป็นคนเพี้ยน แต่บางคนบอกว่าเขาบ้า

 

อูอองซานกลับไปที่พม่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยปลอมตัวเป็นชาวประมงเชื้อสายจีน พร้อมกับข้อเสนอจากญี่ปุ่นว่าจะอบรมชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เต็มใจพร้อมจะลักลอบออกจากพม่า ในที่สุดอองซานได้รวบรวมพรรคพวกในนามกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ" (Thirty Comrades) ตัดสินใจออกจากพม่า เพื่อรับการฝึกทางทหาร กลุ่มนี้ต่อมาได้กลายเป็นแกนนำเรียกร้องเอกราชให้กับพม่า ทั้งหมดเข้ารับการฝึกทางทหารอย่างหนักที่เกาะไหหลำ และที่นี่ความเป็นผู้นำของอองซาน ชัดเจนมากขึ้น อองซานพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทหารที่มีทักษะสูง มีความกล้า และสมบุกสมบันมาก เขาคอยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับ "เพื่อนสามสิบ" ที่เข้ารับการฝึก

มีข้อมูลบันทึกโดย โบ จ่อ ซอ (Bo Kyaw Zaw) ในหนังสือ Burma in Revolt โดย Bertil Lintner เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ" ทำการฝึกบนเกาะไหหลำ บันทึกว่า

 

"อองซานและเนวินมีปากเสียงกันบ่อยครั้งขณะทำการฝึกบนเกาะไหหลำ อองซานเป็นคนตรงไปตรงมา ส่วนเนวินเป็นคนหลักแหลม เป็นนักวางแผนมือฉกาจ อองซานมักจะมีความเห็นไม่ตรงกับเนวิน ที่เนวินมักทำตัวเป็นนักการพนันและเจ้าชู้ ซึ่งขัดกับบุคลิกของออง ซาน ส่วนพวกที่เหลือก็เห็นด้วยกับอองซาน แต่เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมและความสามัคคีเราจึงต้องอยู่ร่วมกันให้ได้"

ในที่สุดกองทัพเพื่อเอกราชพม่า (Burma Independence Army-BIA) ซึ่งเป็นกองกำลังที่ประกอบด้วยผู้เข้ารับการฝึกจากค่ายที่ไหหลำ คนไทยเชื้อสายพม่า และสมาชิกกลุ่ม Minami Kikan เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพเมื่อธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ มีพันเอกซูซูกิเป็นผู้บังคับหน่วยและประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่น อูอองซาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่านายพลอองซานได้แล้ว รับหน้าที่ประธานเสนาธิการทหาร

 

นอกจากการจัดตั้ง BIA แล้ว กลุ่มเพื่อนสามสิบยังกรีดเลือดสาบานแล้วดื่มร่วมกัน ถือฤกษ์ถือยามเปลี่ยนชื่อ นายพลอองซานก็เปลี่ยนชื่อเป็น "โบทีซา" แปลว่า "นายพลที่มีอำนาจ" ชู หม่อง เปลี่ยนชื่อเป็น "โบเนวิน"แปลว่า "นายพลที่จรัสแสงดั่งดวงอาทิตย์"

กลุ่มเพื่อนสามสิบเปลี่ยนกันหมดก่อนออกศึกรบกับอังกฤษ

 

ภาพกลุ่มเพื่อนสามสิบ มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วย

 

นายพลเนวินมีชื่อเดิมว่า ชู หม่อง เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๙๑ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม เขาเคยพยายามที่จะเผาโรงเรียนของตัวเองเนื่องจากไม่ชอบไปโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้เพียงสองปีก็สอบไม่ผ่าน เลยต้องออกไปหางานทำ เมื่ออายุ ๓๐ ปี เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่ม เพื่อนสามสิบ พร้อมกับนายพลอองซาน ไปฝึกการรบที่เกาะไหหลำภายใต้ความช่วยเหลือของกองทัพญี่ปุ่น

ด้วยนิสัยที่กร้าวร้าวตั้งแต่เด็ก เมื่อก้าวสู่อาชีพทหาร โดยเฉพาะหลังผ่านการฝึกหลักสูตรตำรวจลับร่วมกับกลุ่มสหายสามสิบในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เนวินได้ก้าวหน้าในสายอาชีพนี้มาก สามารถเลื่อนฐานะและตำแหน่งทางการทหารอย่างรวดเร็ว จนได้ขึ้นเป้ฯผู้นำสูงสุดของกองทัพพม่าในปี ค.ศ.๑๙๔๙ หลังจากเริ่มเป็นทหารเพียง ๘ ปี

 

สุดท้าย ขึ้นมาครองตำแหน่งจอมผด็จการ และอยู่ในอำนาจถึง๒๖ปี นายพลเนวินจึงเป็นผู้ที่ชาวพม่าไม่มีวันลืมอีกคนหนึ่ง

 

ที่มา คุณ เพ็ญชมพู ,เรือนไทยดอทคอม

โพสโดย :JaAey..ja (ทีมงาน TeeNee.Com)

Credit: ที่นี่ดอดคอม
10 พ.ย. 58 เวลา 03:30 1,773 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...