10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Fireball และ Bolide

       เหตุการณ์ “ลูกไฟปริศนา” เมื่อเช้านี้ (จันทร์ 7 กันยายน พ.ศ.2558 ประมาณ 8:40น.) ซึ่งมีผู้พบเห็นจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่กรุงเทพและปริมณฑล ไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีและอุทัยธานี ทำให้คิดว่าน่าจะมาทำความรู้จักคำศัพท์และเรียนรู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุในอวกาศที่เข้ามาในบรรยากาศของโลกกันสักหน่อย

 

1. คำว่า สะเก็ดดาว (meteoroid) ใช้เรียก วัตถุในอวกาศซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของดาวหาง (comet) หรือดาวเคราะห์น้อย (asteroid) ขนาดของสะเก็ดดาวตั้งแต่ราว 10 ไมโครเมตร ไปจนถึงราว 1 เมตร

2. หากสะเก็ดดาว (ในข้อ 1) เคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศของโลก จะเกิดการเสียดสีกับอากาศจนเกิดความร้อนและแสงสว่าง เรียกว่า ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ (meteor, shooting star หรือ falling star)

3. ดาวตก (ในข้อ 2) ที่สว่างมากกว่าโชติมาตร -3 จะสว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ในพื้นที่กว้าง และเรียกว่า ลูกไฟ (fireball) หรืออาจนิยามว่า ถ้าดาวตกสว่างกว่าดาวศุกร์ก็เรียกว่า ลูกไฟ ก็ได้ [ดูคำอธิบายเกี่ยวกับโชติมาตรโดยย่อในข้อ 4]

4. คำว่า โชติมาตร หรืออันดับความสว่าง (magnitude) เป็นตัวเลขที่ใช้วัดความสว่างของวัตถุบนท้องฟ้า มีข้อสังเกตว่าตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งสว่างมาก เช่น ดาวเหนือ (+2.1) ดาววีก้า (+0.14) ดาวโจร หรือซิริอุส (-1.46) ดาวศุกร์ (-4.6) ดวงจันทร์ (-12.4) และดวงอาทิตย์ (-26.7)

หมายเหตุ: จากการสอบถาม ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พบว่า ลูกไฟเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 มีความสว่างไม่น้อยกว่า -15 กล่าวคือ สว่างกว่าดวงจันทร์วันเพ็ญ

5. การที่เราเห็นลูกไฟได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าลูกไฟนั้นต้องมีความสว่างอย่างน้อย -6 (และยิ่งถ้าปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไร ก็ต้องยิ่งสว่างมาก กล่าวคือ ค่าตัวเลขโชติมาตรน้อยกว่า -6 มาก)

6. หากลูกไฟ (ในข้อ 3) ระเบิดขึ้นในบรรยากาศของโลก ในทางเทคนิคจะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (bolide) หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน คำว่า fireball (ลูกไฟ) และ bolide (ดาวตกชนิดระเบิด) มักจะใช้แทนกันได้

7. หากชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวตกลงบนพื้นโลก ก็จะเรียกว่า อุกกาบาต หรือ อุกลาบาต (meteorite)

8. ลูกไฟอาจฝากรอยทางไว้บนท้องฟ้าได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

8.1 เส้นเทรน (train) คือ แนวสว่างที่เกิดจากโมเลกุลของอากาศถูกกระตุ้น (excited) และไอออไนซ์ (ionized) แนวเส้นเทรนนี้ส่วนใหญ่จะคงตัวอยู่ไม่กี่วินาที แต่นานๆ ครั้งอาจคงตัวอยู่นานหลายนาทีก็เคยพบ แนวเส้นเทรนมักเกิดที่ระดับความสูงเกิน 80 กิโลเมตร

8.2 เส้นควัน (smoke trail) คือ กลุ่มผงอนุภาคขนาดเล็กที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างสะเก็ดดาวกับอากาศ เส้นควันมักจะเกิดขึ้นที่ความสูงต่ำกว่า 80 กิโลเมตร และมักจะพบร่วมกับลูกไฟที่ปรากฏในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน

9. ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีความสูงในช่วง 19.1 ถึง 61.1 กิโลเมตร [จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 – ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]

10. ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีอัตราเร็วในช่วง 12.4 ถึง 32.1 กิโลเมตร/วินาที [จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 – ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]

หมายเหตุ: อัตราเร็ว 32.1 กิโลเมตร/วินาที = 115,560 กิโลเมตร/ชั่วโมง!

เรียบเรียงโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

Credit: http://uknowledge.org/10-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-firebal/
9 พ.ย. 58 เวลา 17:13 1,242 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...