เปิดทำเนียบ 7 อุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สุดที่โลกเคยพบ หินก้อนยักษ์จากอวกาศที่พาตัวมาพุ่งชนโลกและยังคงทิ้งหลักฐานให้มนุษย์ได้ดูต่างหน้ามาจนถึงทุกวันนี้
จากข่าวชาวไทยจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศพบเห็นลำแสงปริศนา ลุกโชนสว่างวาบพุ่งผ่านท้องฟ้า ในช่วงค่ำของวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (อ่านข่าว ฮือฮา ลำแสงประหลาดพุ่งสว่างวาบเหนือท้องฟ้าทั่วไทย-สดร. ชี้เป็นดาวตก คลิก) ก่อนได้รับคำเฉลยให้หายข้องใจว่า ที่มาของแสงสว่างวาบนั้น คือ "ดาวตกทอริดส์" นั่นเอง ส่วนใครที่ถามต่อไปว่า ลูกไฟสว่างวาบนั้นพุ่งลงไปตกที่จุดใด ก็ต้องรีบเฉลยกันว่า เราคงไม่มีทางได้พบเห็นมัน เพราะมันน่าจะถูกเผาไหม้หมดก่อนจะตกถึงพื้นโลกเสียอีก
ส่วนก้อนหินนอกโลกที่พุ่งใส่ดาวเคราะห์ของเรา และยังคงปรากฏเป็นชิ้นส่วนให้มนุษย์ได้พบเห็นเป็นประจักษ์แก่สายตานั้น จะถูกเรียกว่า "อุกกาบาต" (Meteorite) และด้วยความที่นาน ๆ ครั้งโลกจะได้ประสบอุบัติการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าอุกกาบาตที่ตกถึงพื้นโลกจะก้อนใหญ่หรือเล็ก ก็ย่อมกลายเป็นข่าวดังทุกครั้งไป แต่ในวันนี้กระปุกดอทคอมขอนำเฉพาะที่เด็ด ๆ จากเว็บไซต์ scribol มาฝาก กับ 7 อุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สุดที่โลกเคยพบ ไปติดตามกันเลย
7. อุกกาบาตวิลลาเมตต์
จุดที่ตก : รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา
ขนาด 7.8 เมตร น้ำหนักโดยประมาณ 15.5 ตัน
วิลลาเมตต์เป็นอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก้อนหินต่างดาวแสนขรุขระนี้ ประกอบได้ด้วยแร่เหล็กถึง 91% และนิกเกิล 7.62% ก่อนจะถูกเอามาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน มันถูกค้นพบโดย เอลลิส ฮิวจ์ ในปี ค.ศ. 1902 และใช้เวลาขนย้ายกว่า 3 เดือน ซึ่งเดิมทีมันตกอยู่ในที่ดินของบริษัท ออริกอน ไอออน แอนด์ สตีล ที่อ้างความเป็นเจ้าของวิลลาเมตต์มาก่อน
ภาพจาก NASA
ภาพจาก Dante Alighieri
ภาพจาก American Museum of Natural History
6. อุกกาบาตเอ็มโบซี
จุดที่ตก : ประเทศแทนซาเนีย
น้ำหนักโดยประมาณ 16 ตัน
อุกกาบาตเอ็มโบซี ถูกค้นพบในประเทศแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1930 และมีน้ำหนักราว 16 ตัน เมื่อแรกที่ค้นพบนั้น ก้อนอุกกาบาตราวครึ่งหนึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกพอสมควร แต่ปัจจุบันดินบริเวณนั้นได้ถูกกำจัดออกให้เรามองเห็นสะเก็ดดาวก้อนนี้ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการสร้างฐานเอาไว้รองรับด้านล่างด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พบร่องรอยหลุมอุกกาบาตที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อหินอวกาศก้อนนี้พุ่งชนโลก จึงคาดว่า อุกกาบาตเอ็มโบซีอาจกลิ้งไปกับผิวโลกเหมือนหินก้อนกลม ๆ หรือไม่เช่นนั้น ก็คงเป็นเพราะมันตกสู่พื้นโลกมานับพันปีแล้ว จนร่องรอยหลุมอุกกาบาตเลือนหายไปหมด
ภาพจาก Jensen Meteorites
ภาพจาก Arquivos Do Insolito
5. อุกกาบาตอักปาลิลิค
จุดที่ตก : ประเทศกรีนแลนด์
น้ำหนักโดยประมาณ 20 ตัน
อักปาลิลิค เป็นชิ้นส่วนของก้อนอุกกาบาตเคป ยอร์ก ที่คาดว่าตกมาในพื้นที่ของเกาะกรีนแลนด์เมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว และเป็นอุกกาบาตแร่เหล็กที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งเท่าที่เคยพุ่งชนโลก และแม้จะเป็นเพียงชิ้นส่วนที่หลุดออกมา อุกกาบาตอักปาลิลิคก็ยังมีขนาดใหญ่และหนักถึง 20 ตัน
ก่อนที่จะถูกค้นพบอย่างเป็นทางการ อักปาลิลิคเป็นแหล่งแร่เหล็กสำหรับชาวอินุ เพื่อนำไปทำอาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งข่าวของมันไปถึงหูนักวิทยาศาสตร์เข้า จึงได้ส่งทีมค้นหาออกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1818-1883 แต่ก็ล้มเหลวกลับมาทุกครั้ง จวบจนปี ค.ศ. 1961 วาน เอฟ บุชวาลด์ ก็ได้พบชิ้นส่วนหนักราว 20 ตันนี้เข้า มันจึงได้ถูกนำมาแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก อยู่ทุกวันนี้
ภาพจาก FunkMonk
ภาพจาก Gabriel
4. อุกกาบาตบาคุบิริโต
จุดที่ตก : ประเทศเม็กซิโก
ขนาด 4 เมตร น้ำหนักโดยประมาณ 22 ตัน
ตั้งแต่มีการค้นพบอุกกาบาตชิ้นนี้ มันก็ได้ชื่อว่าเป็นอุกกาบาตที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศเม็กซิโกมาตลอด ซึ่งอุกกาบาตยาว 4 เมตร หนัก 22 ตันนี้ ถูกพบโดย กิลเบิร์ต เอลลิส ไบเลย์ นักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1892 และได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านพื้นเมืองในการขุดค้น ทำให้มันถูกตั้งชื่อตามชุมชนที่ขุดพบ และปัจจุบันมันก็ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Centro de Ciencias de Sinaloa ในเมืองคูเลียคัน ประเทศเม็กซิโก
ภาพจาก Meteorite Art
ภาพจาก Meteorite Art
3. อุกกาบาตอาห์นิกิโต
จุดที่ตก : ประเทศกรีนแลนด์
ขนาด 12.1 เมตร น้ำหนักโดยประมาณ 31 ตัน
อาห์นิกิโต เป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของอุกกาบาตเคป ยอร์ก และยังถือเป็นก้อนอุกกาบาตที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่มนุษย์ได้ทำการขุดค้นเคลื่อนย้ายด้วย นักวิทยาศาสตร์พยายามตามหาอุกกาบาตก้อนนี้ตามคำร่ำลือเรื่องแหล่งแร่เหล็กของชาวอินุ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1818 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1984 โรเบิร์ต อี เพียรี นักสำรวจมหาสมุทรอาร์กติกชาวอเมริกันก็ค้นพบมันในที่สุด แต่ด้วยขนาด 12.1 เมตร และน้ำหนักถึง 31 ตัน ทำให้การแค่จะเคลื่อนย้ายมันจากจุดที่พบไปขึ้นเรือ ก็ใช้เวลาไปถึง 3 ปี และในที่สุดมันก็ถูกขายให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา และอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพจาก VSmithUK
ภาพจาก Meteorite Recon
2. อุกกาบาตเอล คาโก
จุดที่ตก : ประเทศอาร์เจนตินา
น้ำหนักโดยประมาณ 37 ตัน
เอล คาโก เป็นชิ้นส่วนอุกกาบาตแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มอุกกาบาตคัมโบ เดล เชโล ที่ตกลงในพื้นที่ชื่อเดียวกัน ในประเทศอาร์เจนตินา จุดที่ตกกลายเป็นหลุมยุบขนาดถึง 60 ตารางกิโลเมตร โดยที่เอล คาโก มีน้ำหนักถึง 37 ตัน ถูกจัดว่าเป็นวัตถุจากนอกโลกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 เท่าที่มีการค้นพบมา
ก้อนอุกกาบาตเอล คาโก ถูกค้นพบระบุตำแหน่งได้จากเครื่องตรวจจับโลหะ ในปี ค.ศ. 1969 มันฝังอยู่ลึกจากผิวดิน 5 เมตร โดยก่อนหน้านั้นเคยมีรายงานเกี่ยวกับเบาะแสของมันมาแล้วนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1576 โดยเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการมีอยู่ของมันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวอะบอริจิน ด้านนักวิทยาศาสตร์คะเนความเก่าแก่จากร่องรอยหลุมยุบ คาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 4,000-5,000 ปีทีเดียว
ภาพจาก Planeta Pia
ภาพจาก Jensen Meteorites
1. อุกกาบาตโฮบา
จุดที่ตก : ประเทศนามิเบีย
น้ำหนักโดยประมาณ 60 ตัน
มาถึงก้อนอุกกาบาตชนโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มันคืออุกกาบาตโฮบา มีน้ำหนักมากถึง 60 ตัน และรูปทรงค่อนข้างแบน มีพื้นที่ผิวหน้าราว 6.5 ตารางเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเมืองกรูตฟอนไตน์ แคว้นโอตโจซอนด์จูปา ประเทศนามิเบีย ต้องแวะมาดูกันให้ได้ โดยน้ำหนักที่มหาศาลของมันทำให้อุกกาบาตที่ประกอบไปด้วย เหล็ก 84% และนิเกิล 16% นี้ ยังคงอยู่ที่เดิม ไม่มีการขยับเขยื้อนไปไหน หลังจากที่ถูกค้นพบโดยชาวนาในปี 1920 ซึ่งคาดกันว่ามันน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 80,000 ปี และถูกชั้นบรรยากาศชะลอความเร็วเลยไม่บุบสลายแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น รูปทรงราบเรียบแปลกตาของมันอาจมาจากการที่มันลงสู่พื้นแบบตกกระดอนคล้ายการโยนหินลงบนผิวน้ำก็ได้
ภาพจาก coda
ภาพจาก Giant Crystals
ภาพจาก Giant Crystals