เผย 10 ข้อเท็จจริง กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองน่าอยู่อย่างที่คิด

      ถึงแม้ผลรางวัลเมืองน่าเที่ยวจะตกเป็นของกรุงเทพฯ อยู่หลายครั้งจากหลายสำนัก แต่รู้หรือไม่ว่าการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ โดย The Economist Intelligence Unit เรากลับอยู่รั้งท้ายตารางเป็นอันดับ 102 ของโลกจากทั้งหมด 140 ประเทศ แล้วเหตุใดทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

       ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง "10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ" ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ชี้ให้เห็นว่า การตรวจสอบต่างๆ เรามักมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลกลาง แต่เรื่องท้องถิ่นไม่ค่อยมีใครจับตามอง ไม่ค่อยมีการตรวจสอบประเมินผลนโยบายหรือเรื่องต่างๆ ที่ทำ แต่หากนึกถึงสิ่งที่กระทบชีวิตประจำวันจริงๆ หลายเรื่องมาจากรัฐบาลท้องถิ่น และสิ่งเหล่านี้กระทบชีวิตของเรามากกว่านโยบายในระดับมหภาคเสียอีก แล้ว 10 ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานั้นจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

ข้อเท็จจริงที่ 1 กทม. มี 37 หน่วยงานดูแลการจราจร แต่อัตราเร็วเฉลี่ยของรถยนต์อยู่ที่ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ถึงแม้ในกทม. จะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านการจราจรกว่า 37 หน่วยงาน อาทิ กทม. เป็นผู้สร้างและซ่อมสัญญาณไฟจราจร, ตำรวจจราจรคือผู้ควบคุมสัญญาณไฟ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจรเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเดินรถเมล์และรถไฟฟ้า แต่นั่นไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาการจราจรดีขึ้น ล่าสุด ผลสำรวจจาก Castrol Magnatec Start-Stop index ระบุว่า ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนสายหลักของประเทศไทยอยู่ที่ 16 กม. ต่อชั่วโมง หรือเท่ากับความเร็วของจักรยานที่แนะนำให้ปั่นในเมือง

 

ภาพ: Tore Bustad

ข้อเท็จจริงที่ 2 ลงทุนไปมากกับการขนส่งมวลชนที่มีจำนวนผู้ใช้บริการน้อย เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ซึ่งลงทุนใช้งบฯ ไปถึง 33,000 ล้านบาท แต่มีผู้โดยสารปีละ 17 ล้านคนเท่านั้น น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิม 35 ล้านคนต่อปี เช่นเดียวกับขบวนรถด่วน BRT ที่ลงทุนไป 2,800 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 13 ล้านคน ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ได้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทในการดูแล ทั้งที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 29 ล้านคนต่อปี

ข้อเท็จจริงที่ 3 กทม. มีเจ้าหน้าที่เทศกิจกว่า 3,200 คน เฉลี่ยอัตราส่วน 2 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบจำนวนเทศกิจของกทม. จำนวน 3,200 คน กับพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร เฉลี่ยจะมีเทศกิจ 2 คน คอยดูแลพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แต่ทำไมเราถึงยังพบเจอปัญหาสภาพทางเท้าทรุดโทรม ร้านค้าแผงลอยและมอเตอร์ไซค์อยู่บนฟุตบาท ป้ายโฆษณากีดขวางทางเท้า ซึ่งบางครั้งก็เป็นป้ายประชาสัมพันธ์ของกทม. เอง

ข้อเท็จจริงที่ 4 กทม. ใช้งบฯ ประชาสัมพันธ์ปีละ 377 ล้านบาท เท่ากับจ้างคนกวาดถนนเพิ่มได้อีก 3,500 คน งบประมาณประชาสัมพันธ์ของกทม. อยู่ที่ปีละ 377 ล้านบาท แต่เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการของกรุงเทพฯ เช่น "กรุงเทพฯ มหานครแห่งความสุข" ใช้งบฯ 30 ล้านบาท "รักกรุงเทพร่วมสร้างกรุงเทพ" ใช้งบฯ 20 ล้านบาท "กรุงเทพฯมหานครแห่งอนาคต" ใช้งบฯ 8 ล้านบาท

 

ภาพ: Nopphan Bunnag

ข้อเท็จจริงที่ 5 ค่ารถไฟฟ้าในกทม. แพงกว่าในโตเกียว 1.4 เท่า ในฮ่องกง 1.7 เท่า ในเซี่ยงไฮ้ 4 เท่า เมื่อราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยใน กทม. ปรับตัวสูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ผู้คนต้องออกไปอาศัยอยู่บริเวณชานเมืองมากขึ้น และก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเดินทางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยก็แพงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเมืองอื่น เช่น โตเกียว ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และค่าครองชีพ

ข้อเท็จจริงที่ 6 กทม. ประกาศว่ามีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรต่อคน แต่ความจริงมีเพียง 2.2 ตารางเมตรต่อคน ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมได้ทำการรวบรวมพื้นที่สีเขียวใน กทม. ทั้ง 50 เขต พบว่ามีพื้นที่ 34 ล้านตารางกิโลเมตร โดยนับรวมพื้นที่ของเอกชน ต้นไม้บนทางเท้า หรือกระทั่งเกาะกลางถนน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้กว่า 40% ใช้ประโยชน์และเข้าถึงไม่ได้ และจำนวนคนที่นำมาคำนวณเป็นตัวเลขประชากรตามทะเบียนราษฎร์ที่มีเพียง 5 ล้านคน แต่แท้จริงแล้วตามสำมะโนประชากรมีคนอาศัยอยู่ในกทม. 9 ล้านคน

ข้อเท็จจริงที่ 7 กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล ประเทศเกาหลีใต้ 2 เท่า และมากกว่าจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย 1.5 เท่า ซึ่งทั้งสองเมืองมีประชากรราว 10 ล้านคน ขณะที่กทม. มีประชากร 9 ล้านคน

 

ภาพ: DOME SEKOSER

ข้อเท็จจริงที่ 8 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนสังกัดกทม. ตกวิชาเลขที่จัดสอบโดย PISA ผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์จากการจัดสอบโดย PISA (การจัดสอบวัดผลระดับนานาชาติ) ซึ่งเป็นเกณฑ์พื้นฐานขั้นต่ำที่นักเรียนควรรู้ ปี 2555 พบว่า 65% ของนักเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่นักเรียนในสังกัดเทศบาล และอบต. ทั่วประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์น้อยกว่า 57%

ข้อเท็จจริงที่ 9 กทม. จ่ายโบนัสให้ปีละ 2,300 ล้านบาท ทุกหน่วยงานของกทม. มีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับดีมาก ทำให้ได้รับการจัดสรรโบนัส 2,300 ล้านบาทหรือประมาณ 1.5 เดือนในทุกหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบฯ ราว 200 ล้านบาทต่อปี ในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และได้รับงบฯ ดูงานทั้งในและต่างประเทศจำนวน 66 ล้านบาท

ข้อเท็จจริงที่ 10 ศาลาว่าการกทม. หลังใหม่ ใช้งบประมาณ 9,900 ล้านบาท แพงกว่าตึกที่สูงที่สุดในกทม. การก่อสร้างอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ที่นานกว่า 20 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบประมาณในการสร้าง รวมเป็นเงินกว่า 9,957 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 97,000 ตารางเมตร เฉลี่ยเป็นเงิน 103,717 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างอาคารมหานคร (อาคารที่สูงที่สุดในกทม.) อยู่ที่ 86,855 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น

ที่มา: THAIPUBLICA

ภาพ: l@mie

Credit: http://krungthep.coconuts.co/2015/11/02/10-facts-about-bkk
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...