เนตรอน ทะเลสาบแห่งความตาย ที่ทำให้สัตว์กลายเป็นรูปปั้น

พื้นที่ของโลก 29% เป็นพื้นดิน ส่วนอีก 71% ที่เหลือเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ ต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงบนโลก แน่นอนว่าด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของน้ำ ย่อมมีแหล่งน้ำแห่งใดสักแห่งที่มีความพิเศษเฉพาะตัว เช่นเดียวกับทะเลสาบสุดแปลกที่ชื่อ ทะเลสาบเนตรอน ซึ่งถูกจัดอันดับโดยนิตยสาร แทรเวล แอนด์ ลีเชอร์ ให้ติดอันดับหนึ่งในทะเลสาบที่แปลกที่สุดในโลก แถมยังได้รับฉายาว่า?ทะเลสาบเมดูซ่า? เพราะมีเกลือเนตรอนปริมาณสูง หากสัตว์ใดตกลงไปในน้ำจะมีสภาพแห้งกรังและแข็งเหมือนถูกสตาฟเอาไว้นั่นเอง

            ทะเลสาบเนตรอน เป็นทะเลสาบน้ำเค็มขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย ใกล้กับพรมแดนประเทศเคนยา บริเวณฝั่งตะวันออกของหุบเขารอยเลื่อน อีสต์ แอฟริกัน ริฟท์ (East African Rift) และได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์

            น้ำในทะเลสาบเนตรอนไหลมาจากแม่น้ำเซาเธิร์น อีวาโซ กิโร (Southern Ewaso Ng?iro) ของประเทศเคนยา ซึ่งไหลผ่านธารน้ำพุร้อนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุก่อนจะมารวมกันที่ทะเลสาบเนตรอน 

            ทะเลสาบแห่งนี้ค่อนข้างตื้น โดยพื้นที่ที่ลึกที่สุดไม่ถึง 3 เมตร ส่วนความกว้างและความยาวของทะเลสาบนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในช่วงเวลาต่าง ๆ เนื่องจากน้ำในทะเลสาบแห่งนี้จะระเหยไปในอากาศอย่างรวดเร็วมาก โดยเท่าที่มีการบันทึกมาคือ กว้าง 22 กิโลเมตร ยาว 57 กิโลเมตร

            ส่วนสีแดงเข้มของทะเลสาบนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่น้ำระเหยอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูแล้ง จุลินทรีย์ขนาดจิ๋วจำพวกฮาโลไฟล (Halophile) โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ชื่อ ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกมันสามารถสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเองและมีสีแดงเข้มจัด

            หลังจากที่น้ำในทะเลสาบระเหย จะเกิดแร่ธาตุหลักซึ่งเป็นเกลือที่ชื่อ เนตรอน สะสมอยู่ในปริมาณเข้มข้น ทำให้น้ำในทะเลสาบไม่ใช่น้ำที่พบทั่วไป แต่มีสภาพคล้ายน้ำปูนซึ่งมีความเป็นด่างสูง วัดค่า pH ได้ 9-10.5 มีฤทธิ์กัดกร่อนเช่นเดียวกับแอมโมเนีย ส่วนอุณหภูมิในน้ำก็สูงถึง 60 องศาเซลเซียส
 

image: http://files.unigang.com/pic/5/2231(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน


            ด้วยฤทธิ์กรัดกร่อนของน้ำในทะเลสาบ สามารถทำลายผิวหนัง ขน และลูกตาของสัตว์ต่าง ๆ ที่เผลอตกลงไปในน้ำ แน่นอนว่าสัตว์ที่จมน้ำซึ่งไม่สามารถทนการกัดกร่อนของสารเคมีได้ก็จะตายในที่สุด 

            ส่วนสาเหตุที่ทะเลสาบได้รับฉายาว่า ทะเลสาบเมดูซ่า ก็เพราะซากศพของสัตว์ที่จมน้ำ จะมีสภาพแห้งและแข็งเป็นหินเหมือนถูกสตาฟเอาไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะเกลือเนตรอนในน้ำมีส่วนช่วยในการถนอมร่างที่ตายแล้ว และซากศพของสัตว์เหล่านี้จะถูกโซเดียมคาร์บอเนตเกาะตามร่างกายจนแข็งเหมือนหิน 
 

image: http://files.unigang.com/pic/5/2232(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน

  
            เกร็ดความรู้ - ในสมัยอียิปต์โบราณมีการขุดเอาแร่เนตรอนจากก้นทะเลสาบที่เหือดแห้งใกล้แม่น้ำไนล์เพื่อนำไปทำมัมมี่

            นิค แบรนดท์ ช่างภาพมืออาชีพได้เดินทางมาถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ทวีปแอฟริกา เพื่อรวมเล่มหนังสือภาพชื่อ Across the Ravaged Land เขาได้มาเดินเล่นอยู่ที่ริมทะเลสาบแห่งนี้ และสังเกตเห็นซากนกและซากสัตว์ที่แข็งเป็นหินที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาติดฝั่ง จึงจัดแจงนำพวกมันไปวางตามจุดต่าง ๆ และถ่ายภาพ จนบังเกิดเป็นภาพชุดชวนสะพรึงที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2556 จนทำให้ทั่วโลกเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทะเลสาบเนตรอนว่าเป็นแหล่งน้ำต้องคำสาป 
 

image: http://files.unigang.com/pic/5/2233(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน
 
 

image: http://files.unigang.com/pic/5/2234(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน

image: http://files.unigang.com/pic/5/2235(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน


            ทางเว็บไซต์ของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จึงจัดทำบทความเกี่ยวกับความงามและความมหัศจรรย์ของทะเลสาบเนตรอน ว่าความจริงแล้วทะเลสาบไม่ได้ดูน่าขนลุกอย่างในภาพเลย ในทางกลับกัน ทะเลสาบแห่งนี้มีความสวยงามอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกฟลามิงโก้ โดยนกฟลามิงโก้กว่า 2 ล้านตัวจะใช้ทะเลสาบในบริเวณตื้น ๆ เพื่อหาคู่ และสร้างรังเพื่อวางไข่บนเนินดินที่น้ำระเหยจนแห้ง เกิดเป็นภาพฝูงนกสีชมพูแสนสวย ที่ดึงดูดนักดูนกทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
 

image: http://files.unigang.com/pic/5/2236(1).jpg

ทะเลสาบเนตรอน

 
             นอกจากนกฟลามิงโก้แล้ว ในน้ำทะเลสาบแห่งนี้ยังมีปลาชนิดหนึ่งชื่อ อัลคาไลน์ ทิลาเปีย ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ปลานิลอาศัยอยู่ มันวิวัฒนาการและปรับสภาพตัวเองจนกระทั่งสามารถทนทานต่อฤทธิ์ด่างในน้ำได้อย่างสบาย ๆ

ภาพจาก Around de Globe , Lake Scientist , Nick Brandt , Birdlife.org  http://hilight.kapook.com/view/127849


Read more at http://www.unigang.com/Article/29182#1buxPHPlEFVyf6Qj.99

Credit: http://www.unigang.com/Article/29182
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...