http://www.patjaa.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1/
“อีอยู่” เรื่องจริงของนักโทษประหารหญิง! ของไทยเมื่อร้อยปีก่อน
อีอยู่ นักโทษประหาร
เรื่องจริงของนักโทษประหารในสมัยก่อน แต่สะท้อนภาพวงจรของสังคม กับ การมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาอาชญากรรม มาถึงปัจจุบัน..
“ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ” เสียงตะโกนจากนักโทษประหารซึ่งเป็นหญิง เพชฌฆาตหกคนยังคงร่ายรำดาบ ถอยหน้าถอยหลังอยู่เบื้องหลังนักโทษอีกครู่ ก่อนที่เพชฌฆาตมือหนึ่งจะวิ่งเข้าฟันคออย่างแรง จนศีรษะขาด เลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มุงดูการประหารจึงค่อยเริ่ม แยกย้ายกันกลับไป เสียงพึมพำดังจับความได้ว่า ต่างก็พอใจที่ผู้ตายได้รับกรรมที่กระทำไว้แล้ว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเอง!
เพชฌฆาตยังคงทำงานต่อไปด้วยการตัดข้อเท้าซึ่งมีโซ่ตรวนพันธนาการไว้ และตัดศพออกเป็นชิ้น แล่เนื้อออกจากกระดูก ทิ้งตับไตไส้พุงไว้เป็นทานแก่แร้งกา ส่วนศีรษะเอาไปเสียบไม้ไผ่ปักประจานไว้ให้มองเห็นได้แต่ไกล
เธอเป็นใครทำผิดอะไรไว้จึงต้องรับโทษถึงเพียงนี้..?
ย้อนหลังไปราวเดือนเศษ ที่บ้านของพระบรรฦาสิงหนาท ภรรยาคืออำแดงอยู่ ลักลอบเป็นชู้กับทาสในเรือนชื่อ ไฮ้ มั่วสุมกันอยู่ถึงสองปีเศษโดยตัวสามีไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็คงยังไม่เป็นเรื่อง เป็นราวอะไร ถ้าไม่เป็นเพราะอ้ายไฮ้เอง เกิดไปลักลอบได้เสียกับนางทาสอีกคนหนึ่งชื่อ เกลี้ยง หลังจากทั้งคู่สมสู่กันได้สามเดือน ความเรื่องของอำแดงอยู่เป็นชู้กับอ้ายไฮ้ก็เกิดแตกขึ้นมา..
วันนั้นพระบรรฦาฯบังเอิ๊น ดันกลับบ้านผิดเวลา จึงจับได้คาเตียง ก็เลยทำโทษอ้ายไฮ้ด้วยการโบย ๕๐ที แล้วล่ามโซ่ไว้ที่ครัวไฟ แต่พระบรรฦาจะทำอะไรอำแดงอยู่บ้าง อันนี้ไม่ได้มีการบันทึก ไว้ ผ่านไปห้าวัน อำแดงอยู่ค่อยๆสืบเสาะหาว่าใครหนอ ปากแตรไปรายงานคุณพระผู้เป็นสามี ก็สงสัยว่า อีเกลี้ยงนี่แหละที่น่าจะเอาความไปบอกสามีตนแน่ ประจวบกับวันนั้นกินเหล้า เข้าไปเมาจัดด้วย จึงเรียกนางทาสคนนี้เข้ามาถาม แต่อีเกลี้ยงไม่ยอมรับ นางอยู่จึงเอาไม้แสมตีอีเกลี้ยงเข้าไปหลายที ฐานสงสัยแล้วไม่ยอมรับ
คืนนั้น อีเกลี้ยงไม่รู้ว่าคิดอะไรเหมือนกัน แต่คงไม่พ้นเรื่องชู้รักดันมีรักซ้อนกับเมียนาย แอบเข้าไปที่ระเบียงครัวซึ่งอ้ายไฮ้โดนล่ามโซ่นอนหลับอยู่ จัดการบีบหมับเข้าที่กล่องดวงใจของอ้ายไฮ้อย่างแรงจนตื่น เช้าขึ้นอ้ายไฮ้ก็เลยสำออยไปฟ้องอำแดงอยู่ อำแดงอยู่จึงเรียกอีเกลี้ยงมาถามอีก ว่าทำไมไปบีบของสำคัญของอ้ายไฮ้ (และคงจะสำคัญสำหรับตัวเองด้วย) คราวนี้เจ้าตัวปฏิเสธเรื่องไปบีบของลับอ้ายไฮ้ แต่ดั๊น กลับเล่าเรื่องที่ตัวเองได้เสียกับอ้ายไฮ้แทน ดูเอา พิษรักแรงหึง พูดไปไม่คิด
เพราะเมื่อกิ๊กผู้เป็นนายได้ฟังเท่านั้นแหละ เรื่องสงสัยว่าอีอยู่ฟ้องผัวคุณพระ ยังไม่กระตุ้นต่อมโทสะ เท่ากับกิ๊กโดนนางทาสหารสอง อำแดงอยู่ เต้นผางสั่งตีตรวนอีเกลี้ยงทันที แล้วเอาไม้ไผ่ขนาดสามนิ้วยาวศอกเศษ ตีอีเกลี้ยงอีกราวสี่ห้าที ทำแบบนี้ตลอดมาหลายวัน จนวันหนึ่ง อำแดงอยู่ซึ่งล่อเหล้ามาตั้งแต่เช้าแล้ว ก็ใช้ไม้แสมตีอีเกลี้ยงอีก พอตกบ่ายก็แก้ตรวน แล้วสั่งให้ไปหุงข้าว ขณะที่อีเกลี้ยงกำลังนั่งยองๆหุงข้าวอยู่ อำแดงอยู่เข้ามาข้างหลัง ถีบอีเกลี้ยงล้มลงแล้วกระชากผ้าถุงของนางทาสออก เอาไม้แสมที่กำลังติดไฟแดงๆ ทิ่มอวัยวะเพศของนางทาส สองสามที ยังไม่สะใจแม่เจ้าประคุณรุนช่อง ตกบ่ายราวสี่โมงเศษ ก็เรียกทาสชายหญิงคนอื่นขึ้นมาจับอีเกลี้ยงขึงพรืด จุดไม้ขีดไฟเผาขนที่ลับของอีเกลี้ยงซ้ำอีก เฮ้อ เวรจริงๆ
ตอนเช้าของวันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ขณะที่อีเกลี้ยงนางทาสวัย ๕๗ เดินจะลงบันไดไปอาบน้ำ นางอยู่ก็เอาเท้าถีบเธอตกบันได แขนซ้ายหัก แล้วสั่งทาสให้ฉุดกระชากอีเกลี้ยงขึ้นไปบนชานเรือนอีก จนราวสามโมงเช้าเศษของวันนั้น อีเกลี้ยงซึ่งสุดจะทนกับความเจ็บปวดจากการทรมาน จึงขาดใจตาย
เรื่องนี้ พระบรรฦาฯ ทราบเพียงว่าอีเกลี้ยงตายเพราะเป็นไข้ประจุบันเท่านั้น จึงให้อำแดงอยู่บัญชาการทาสอื่นห่อศพให้เรียบร้อย แล้วหามไปให้สัปเหร่อฝัง ตอนแรกทาสที่นำศพมาก็ไม่ยอมแก้ผ้าห่อศพ สัปเหร่อเลยไม่ยอมฝัง ในที่สุดพวกทาสก็ต้องยอมให้สัปเหร่อ CSI และนิติเวชเบื้องต้น ดูศพก่อน แต่พอได้ดูศพแล้ว จรรยาบรรณสัปเหร่อบอกว่า ไม่ยอมให้ฝัง !
ก็ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อหนูไปแจ้งความ จึงเกิดการชันสูตรศพขึ้นก็พบว่า ” ศพอีเกลี้ยงนั้นกระหม่อมยุบกว้าง ๒ นิ้ว หน้าบวมช้ำดำเขียว หูข้างซ้ายช้ำบวมมีเลือดไหลออกมาจากหู ยังเป็นคราบติดอยู่ ต้นแขนริมศอกขวา บวมช้ำ และกระดูกหัก ต้นแขนซ้ายบวมช้ำกระดูกหัก อกบวมช้ำ โตกลมหนึ่งนิ้ว สะโพกข้างขวาบวมช้ำดำเขียวเต็มทั้งสะโพก นอกจากนั้นมีแผลที่เกิดจากการตีด้วยไม้รวมเก้าแผล ”
หลังการสอบสวน อำแดงอยู่โดนมาตรการยึดทรัพย์ทั้งหมด และมีพระบรมราชโองการให้ประหาร แต่ก่อนประหารต้องลงโทษเตือนวิญญาณให้จดจำไปถึงชาติหน้า ด้วยการเฆี่ยน ๙๐ทีเสีย ก่อน จึงจะประหาร คำตัดสินเกี่ยวกับคดีนางอยู่และผู้เกี่ยวข้องนี้ เมื่อนำทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นด้วยแต่ได้ทรงทักท้วงบ้างบางกรณี คือ ให้เฆี่ยนทาสที่เคยช่วยจับขึงพรืดอีเกลี้ยง ให้อีอยู่ ( เปลี่ยนคำนำหน้าจากอำแดงเพราะทำความผิด ) ทำทารุณ คนละ ๖๐ ที ส่วนทาสคนอื่นที่รู้เห็นเหตุการณ์แล้วไม่ยอมแจ้งทาง การให้เฆี่ยนคนละ ๓๐ ที เรื่องนี้ทรงพิจารณาว่า คนเป็นทาสก็ต้องฟังนาย และเรื่องก็เกิดในทันที จึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ เว้นคนที่เอาศพไปฝัง และพยายามปกปิดไม่ให้ตรวจศพ ให้ลงโทษตามที่ว่ามา
อ้ายไฮ้ โดนตัดสินให้เฆี่ยน ๕๐ ที แต่ทรงเห็นว่าความผิดของอ้ายไฮ้คือฐานชู้สาว และก็โดนนายเงินคือพระบรรฦาฯลงโทษไปแล้ว จึงโปรดให้ยกโทษเสีย
ส่วนพระบรรฦาปรับเป็นเงิน ๑๑ ตำลึง กึ่งสลึงเฟื้อง ๖๓๐ เบี้ยเป็นพิไนยหลวง แต่ในฐานที่รู้อยู่แต่ไม่สนใจ ปกปิดเรื่องศพ เรื่องความร้ายในแผ่นดิน
” แต่นายหนูผู้มีกตัญญูต่อแผ่นดินมาว่ากล่าวขึ้น จึงได้ทราบเรื่องกัน ” จึงทรงให้เพิ่มโทษปรับพระบรรฦาฯ แล้วนำมาให้เสียแก่นายหนู เป็นเงิน ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึงด้วย ( พระราช ดำรินี้ทรงรีชาสามารถมาก คือทรงเอาเงินจากคนที่เป็นต้นตอของเรื่อง ไม่ต้องควักกระเป๋าหลวงจ่ายซึ่งเป็นเงินส่วนรวม จึงไม่ควรจะต้องมาชดใช้แทนคนที่ทำให้เกิดเรื่อง น่าจะประยุกต์มาใช้ในปัจจุบันด้วย )
วันที่ประหารอีอยู่คือ วันเสาร์ เดือน๑๑ แรม ๗ ค่ำ ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๒๔ เป็นเวลากว่าร้อยปีล่วงมาแล้ว ต้น เรื่องนั้นมาจากหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ ออกเมื่อกรุงเทพมหานครมีอายุครบ๑๐๐ปี และบันทึกของนาย Carl Bock นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ที่เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนไทยและได้ไปดูการประหารอีอยู่ด้วย แต่ไปอ่านเจอจากหนังสือ หญิงชาวสยาม โดย เอนก นาวิกมูล
เรื่องนี้มีความน่าสนใจหลายแง่มุม จากผลการพิจารณาคดีอะไรต่างๆจะเห็นว่า แม้อีเกลี้ยงจะเป็นทาส แต่ก็ไม่ได้หมายความอีอยู่จะทำทารุณกรรมตามใจชอบได้ (อันนี้เป็นสิทธิมนุษยชนตามระบบสังคมศักดินาเดิม ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) เสียดายที่ทาสอื่นไม่กล้าไปแจ้งความก่อนหน้านี้ ไม่งั้นอีเกลี้ยงคงไม่ต้องทนทรมานทรกรรมขนาดนี้
แต่ลักษณะของนายทาสอย่างนี้ หรือปัจจุบันกลายสภาพเป็นนายจ้าง บางคนก็ไม่ต่างจากอีอยู่ในเรื่องของความทารุณโหดร้าย ร้อยปีไม่มีอะไรเปลี่ยนสำหรับ dark side ของคน เฮ้อ เพียงแต่ยุคนี้ลูกจ้างจะมีโอกาส หรือมีงมากขึ้นที่จะขอรับความยุติธรรมจากกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่เท่านั้น
เมื่อดูพฤติการณ์ของเจ้าหล่อนจะเห็นว่ามโหดผิดมนุษย์มนา การกระทำก็ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่ววูบ เพราะมีการทำซ้ำและต่อเนื่องหลายวัน หลายครั้ง เรียกว่าหาเมตตาจิตไม่เจอ ในสังคมที่คดีไม่ค่อยชุกอย่างสมัยนั้น จึงเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ไม่น่าจะปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นายทาสอื่นๆด้วย อันนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ยุคที่ไม่มีทาส และยุคประชาธิปไตย แต่เปอร์เซ็นต์ทารุณกรรมทิ้งห่าง ขอบอก โดยส่วนตัวเห็นเพิ่มเติมอีกอย่างคือ แสดงว่าในสมัยนั้นชีวิตทาสก็มีความหมาย อันนี้เป็นรูปธรรมจากบทลงโทษและพระราชวินิจฉัยของพระเจ้าอยู่หัวในคดีนี้
สุดท้าย อุทาหรณ์อีกเรื่องคือ ไม่ว่าเมื่อไหร่เบาะแสจากประชาชนนี่สำคัญ ไม่มีนายหนู อีเกลี้ยงก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่มีใครไปแจ้งบ้านเมือง และก็ต้องขอบคุณสัปเหร่อที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่บกพร่อง นี่ถ้าเป็นสมัยนี้ยัดเงินสักหน่อย ไม่แน่ศพอีเกลี้ยงคงลงดินไปตั้งแต่หนแรกแล้วมั้ง ตรงนี้เห็นชัดอีกเช่นกันว่า หน้าที่พลเมือง นั้นมีความสำคัญขนาดไหน
ขอบคุณที่มา :: moomkafae