http://variety.teenee.com/world/72673.html
ตำหนักเย็น เหล้าพิษ แพรขาว กริช – ชีวิตนางในมีขึ้นก็มีลง
"หญิงแค้นมากล้น วังใน" (宫中多怨女:gong zhong duo yuan nu) เป็นคำกล่าวที่ลอยลมอยู่ในประวัติศาสตร์จีน ที่ใดหญิงอยู่รวมกันมากๆ ที่นั่นเป็นฉันใดนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนคงตอบได้ แล้วลองจินตนาการดูว่าจุดมุ่งหมายของทุกคน คือผู้ชายคนเดียวอีก การตบตีชิงดีชิงเด่นจึงดุเดือดไม่น้อย
ในสนามแห่งการประลอง บางคนชิงดีจนได้เด่น มีบารมีแผ่ปกไปทั้งวัง บังเกิดพระโอรส หรือพระธิดาส่งบุญส่งวาสนาให้ยาวไกล แล้วก็แก่ตายอย่างมีความสุข แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีจุดจบดีเช่นนี้ บางคนพลาดท่าระหว่างการต่อสู้ หรือไม่ก็ไม่ได้คิดจะสู้ สุดท้ายกลายเป็นคนไม่เด่นอยู่ในวัง เวลาผ่านไปถูกลืมสนิทเป็นคนแก่อีกคนในวัง กินดี อยู่ดี แต่ชีวิตไม่มีอะไรไปมากกว่ากินกับอยู่ เลยได้แต่กินกับอยู่รอความตายไปวันๆ ดูงิ้วดูละครเล่นไผ่ตองไปตามเรื่อง เลี้ยงนกเลี้ยงปลาเลี้ยงเต่าเลี้ยงสุนัข แมว จิ้งหรีด ฯลฯอะไรไปตามเรื่อง
อย่างไรก็ตามชีวิตที่ไม่เด่นนี้แม้ดูจะน่าเบื่อ แต่ก็มีความสุขดี ในวังไม่ได้น่าเบื่อเสียทีเดียว มีกิจกรรมเทศกาลให้ร่วมทุกวัน อาหารการกินก็บริบูรณ์ เปลี่ยนฤดูก็ไปพักที่พระราชวังตามแห่งต่างๆ เงินทองก็มีให้ตลอด ข้าหลวงขันทีก็เข้ามารับใช้ วันดีคืนดี ญาติจากนอกวังอาจจะได้รับอนุญาติให้เข้ามาเยี่ยมแก้เหงา คิดไปก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเท่าไรนัก หิวๆอยากกินอะไรแปลกๆ สั่งข้าหลวงออกไปซื้อให้กินก็ได้ พ่อแม่ป่วยออกไปหาไม่ได้แต่สามารถส่งข้าหลวงขันทีไปรับใช้ได้เต็มอัตรา
นับว่าพลาดท่าแล้วไม่เด่นก็เป็นสุขได้
แต่พลาดท่าแล้วดับนี้สิ - น่ากลัว
ภาพนางในชมสวนสมัยราชวงศ์ชิง
เรื่องดับในวังนี้มีสองอย่าง คือ ดับทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ กับดับโดยดับชีวิตไปสนิทแล้ว ดับโดยมีชีวิตอยู่คือถูกส่งเข้าไปสู่ "ตำหนักเย็น" ตำหนักเย็นนี้ภาษาจีนเรียกว่า "เหลิ่งกง" (冷宫:leng gong) คนไทยแปลว่า "ตำหนักเย็น" ตรงๆเลย แต่ถ้าให้ข้าพเจ้าแปลควรจะแปลว่า "ตำหนักหนาว" มากกว่า เพราะคำว่า "เหลิ่ง" (冷: leng) ในภาษาจีน แปลว่า หนาวเหน็บ ใช้ในความหมายทางลบ เป็นความหนาวที่ไม่สบายตัว แต่ถ้า "เย็น" จะนิยมใช้คำว่า "เหลียง" (凉:liang) สื่อว่าเย็นสบาย ใช้ในความหมายทางบวก ตำหนักเย็นนี้จะใช้เป็นที่คุมขังนางในที่ต้องโทษ รวมไปจนถึงพระโอรส ธิดาที่ทำผิด พูดง่ายๆคือคุกในวังนั้น
ภาพตำหนักเย็นในจินตนาการ จากเรื่องราวของบูเช็กเทียน ที่จับหวางฮองเฮา และพระสนมซูเฟย ไปขังไว้ในตำหนักเย็น
"ตำหนักเย็น" คำๆนี้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยปรากฎในนวนิยายที่เขียนขึ้นช่วงปลายราชวงศ์ หมิง นิยายชื่อว่า "ตงโจวเลี่ยกั๋วจือ" (东周列国志:dong zhou lie guo zhi) เป็นนิยายใช้แสดงงิ้วบรรยายประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราชวงศ์โจวไปจนถึงเริ่มยุคราชวงศ์ฉิน เขียนโดยเฟิง เหมิ่ง หลง (冯梦龙:feng meng long)
ภาพเฟิง เหมิ่ง หลง
แม้จะมีการใช้คำเรียกที่คุมขังในวังว่า "ตำหนักเย็น" ก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์จีน ภายในวังหลวงไม่ได้มีการสร้างตำหนักเย็นเพื่อใช้เป็นสถานที่จำคุก ที่ไหนในวังก็สามารถใช้เป็นตำหนักเย็นได้ แล้วแต่ฮ่องเต้จะโปรด ตำหนักนางในที่นางในผู้นั้นอยู่ จากเรือนหลวงก็สามารถกลายสภาพเป็นคุกหลวงได้ทันทีหากมีพระบรมราชโองการ หรือโองการจากใครก็ตามที่มีอำนาจเป็นใหญ่ในวัง หรืออาจจะให้เรือนเก่าๆโทรมๆเล็กๆสักเรือนเลือกมาเรือนใดเรือนหนึ่งแล้วให้ไปอยู่ นั้นแหละ เป็นตำหนักเย็น
ในประวัติศาสตร์มีบันถึงการส่งนางในเข้าไปอยู่ยังตำหนักเย็นประปราย อาทิ ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง พระสนมเฉิงเฟย แห่งตระกูลลี้ (成妃李氏:cheng fei li shi) เกิดไปงัดข้อกับมหาขันทีผู้ทรงอำนาจเว่ยจงเสี่ยน (魏忠贤:wei zhong xian) เลยถูกส่งไปอยู่ตำหนักเย็น โดยตำหนักนั้นใช้หมู่เรือนหลวงในพระราชวังต้องห้ามที่ตอนแรกสร้างไว้ให้พระโอรสประทับ ท้าวนางชั้นสูงคุณพนักงานชั้นสูงอยู่ แต่ไม่มีใครอยู่เลยเปลี่ยนเป็นตำหนักเย็นไปพลางๆ ตำหนักนี้เรียกว่าหมู่ตำหนักตะวันตกห้าห้อง (亁西五所:gan xi wu suo) ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าสร้างเป็นเรือนแบบจีนที่เรียกกันว่า สี่เรือนล้อมลานสร้างติดกันทั้งหมดห้าหมู่ โดยมีทั้งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ตั้งอยู่ขนาบข้างพระที่นั่งเฉียนชิงกง (乾清宫:qian qing gong) พระสนมผู้นี้ถูกจำขังไว้แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา ๔ ปี ก่อนหน้านั้นก็ยังมีพระสนมตำแหน่งเฟยอีกหนึ่งองค์ และตำแหน่งผินอีกสององค์ถูกขังไปก่อน หมู่เรือนนี้ในสมัยพระเจ้าเฉียนหลงได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระธิดา และพระโอรส ปัจจุบันเรียกว่า "ชงหัวกง" (重华宫)
ภาพหมู่ตำหนักชงหัวกง ซึ่งในอดีตเคยเป็นตำหนักเย็นในสมัยราชวงศ์หมิง
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงตำหนักเย็นก็เปลี่ยนสถานที่ไป บ้างก็ว่าใช้พระตำหนักฉางชุนกง (长春宫:chang chun gong) เป็นหลัก บ้างก็ว่าแล้วแต่พระอารมณ์ ว่าจะส่งไปอยู่ที่ไหน ตอนปลายราชวงศ์ชิง เมื่อพระนางซูสีไทเฮาลงโทษพระสนมเจินเฟย (珍妃:zhen fei) พระสนมคนโปรดของพระเจ้ากวงสู (光绪皇帝:guang xu huang di) พระนางโปรดให้ขังในหมู่เรือนน้อยสามหลังข้างๆพระตำหนักจิงชี่เก๋อ (景棋阁:jing qi ge) เรือนน้อยนี้ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว มีบันทึกไว้โดยท่านหญิงเต๋อหลิง (德龄公主: de ling gong zhu) นางพระกำนัลคนโปรดของซูสีไทเฮาว่าเป็นเรือนเล็กๆโทรมๆสกปรก ไม่มีถ่านให้ใช้ ฝนตกหลังคาก็รั่ว แถมมีขันทีเข้าไปตบหน้าเตือนความจำว่าพระสนมต้องโทษนะพะยะค่ะ...พั๊วะ ตบแล้วไม่พอต้องคุกเข่าถวายพระพรที่พระราชทานคนตบประจำให้อีก
ภาพของเจินเฟย พระตำหนักจิงชี่เก๋อ และบ่อน้ำข้างพระตำหนัก ซึ่งบ่อน้ำที่พระสนมถูกจับยัดลงไปจนตาย และภาพฐานเรือนน้อยสามหลังที่พระสนมเคยถูกคุมขัง
ในสมัยพระเจ้าปูยี (溥仪皇帝:pu yi huang di) พระองค์ลงโทษฮองเฮาหว่านหลง (婉容皇后: wan rong huang hou) ที่บังอาจไปคบชู้ให้ถูกขังในตำหนักเย็น ตำหนักเย็นที่ว่าก็คือห้องชุดที่ประทับของพระองค์ในพระตำหนักจีซีโหลว่ (辑熙楼:ji xi lou) ซึ่งอยู่ภายในพระราชวังหลวงแห่งแมนจูกั๊ว ขณะที่ถูกจำขังพระนางประทับไปสูบฝิ่นไป สุดท้ายก็สิ้นลงในห้องชุดสุดหรู ซึ่งเป็นคุกไปในตัวนั้นเอง
ภาพพระเจ้าปูยี และพระนางหว่านหรง
พระตำหนักจีซีโหล่ว และห้องชุดของพระนางที่่ถูกเปลี่ยนให้เป็นตำหนักเย็น
จากรูปเป็นหุ่นขี้ผึ้งจำลองวันสุดท้ายของพระนาง
การขังในตำหนักเย็นว่าร้าย แต่ก็ยังไม่ตาย แต่ว่าถ้าร้ายขึ้นมาก็คือโทษตาย เป็นการดับเพราะดับชีวิตจริงๆ การตายนั้นมีตั้งตายแบบศพสวยกับศพไม่สวย ตายช้าๆแต่ทรมานหรือตายเร็วให้มันจบๆ ตายแบบช้าๆและทรมานมีหลายวิธี อาทิ สมัยราชวงศ์ฮั่น หลู่ไท่เฮา (吕太后:lu tai hou) ลงโทษศัตรูหัวใจของตน พระสนมฉีฟู่เหริน (戚夫人:qi fu ren) ตัดหู ตัดปาก ตัดมือ ตัดเท้า ทิ้งไว้ในกองอาจม เรียกโทษนี้ว่า "เหรินจื่อ" (人彘:ren zhi) แปลว่า "คนหมู" ถือว่าสยองที่สุดในประวัติศาสตร์
ภาพจำลองหลู่ไทเฮากำลังสั่งคนจับพระสนมฉีฟู่เหรินไปลงโทษ
ในกระบวนของสามอย่าง เหล้าพิษถือว่าดีสุด ส่วนกริชถือว่าแย่สุด ปรกติแล้วขุนนางมักได้รับเหล้าพิษ นางในมักได้รับแพรขาว ส่วนกริชโหดหน่อยมักประทานให้นักรบ ในประวัติศาสตร์จีนนางในหลายคนจบชีวิตด้วยแพรขาว ที่ดังที่สุดคงไม่พ้นพระสนม หยางกุ่ยเฟยผู้ผูกคอตาย ขอแจ้งเพิ่มเติม ปรกติคำว่า แพรขาวนี้จะมีคำเรียกติดปากว่า "แพรขาวสามฉื่อ" (白绫三尺:bai ling san chi) เป็นแพรขาวยาว ๓ ฉื่อ (หน่วยวัดของจีน มีขนาดประมาณ ๑ ใน ๓ เมตรปัจจุบัน) หรือจะยาวกว่านั้นก็ได้ ราชวงศ์ชิงก็รับกฎนี้มาใช้ และได้พระทานของเหล่านี้ให้กับผู้ทำผิดเรื่อยๆ รวมถึงนางในที่ต้องโทษ แต่จะจำนวนมากเท่าใดก็ไม่ทราบ เพราะประวัติศาสตร์บันทึกไว้ประปรายเช่นกัน แต่คงจะมีไม่น้อย
ไม่เช่นนั้นจะมีคำกล่าวว่า "หญิงแค้นมากล้น วังใน" ได้อย่างไรเล่า
จริงไหม
ภาพนางในได้รับพระราชทานสิ่งของสามอย่างให้เลือกว่าจะใช้สิ่งใดจบชีวิตตน จากละครชื่อดัง "เจินหวนจ้วน" (甄嬛传: zhen huan zhuan)
ที่มาจาก han_bing
เครดิต: เนื้อหาโดย : โพสโดย :JaAey..Ja (ทีมงาน TeeNee.Com) ข่าวดาราบน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!