ออสเตรเลียจัดแข่งขันรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ ประจำปี 2558 วิ่งเป็นระยะทาง 3,000 กิโลเมตรข้ามประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 25 ตุลาคมนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลกรวม 42 ทีม รวมถึงทัพนักศึกษาไทย แห่งวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามก็เข้าร่วมศึกด้วย
วันที่ 17 ตุลาคม 2558 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า บริษัท เซาธ์ออสเตรเลียนมอเตอร์สปอร์ต จำกัด ได้จัดการแข่งขันรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ รายการ World Solar Challenge ประจำปี 2558 จุดประสงค์เพื่อเน้นพัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของนักเรียนและนักศึกษาทั่วโลก
ในปีนี้มีทีมจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมถึง 42 ทีม รวมถึงทัพนักศึกษาไทยจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามด้วย โดยการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 25 ตุลาคมนี้
การแข่งขัน World Solar Challenge จะให้ผู้เข้าแข่งขันออกตัวที่นครดาร์วิน ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 18 ตุลาคม มุ่งหน้าไปยังนครแอดิเลดทางตอนใต้ รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 3,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนท้องถนนในเมืองได้เช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไปแล้ว โดยมีทีมจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 42 ทีมจากทั่วทุกมุมโลก อาทิ ทีมจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงทีมแชมป์เก่าอย่าง Nuon Solar Team จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่พารถ Nuna7 เข้าเส้นชัยเป็นทีมแรกเมื่อปี 2556 และปีนี้พวกเขากลับมาพร้อมรถ Nuna8 ที่พัฒนามามากกว่าเดิม
ส่วนทีมจากประเทศไทยได้แก่ทีม Siam Tech 1 จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ส่งรถชื่อ STC-1 เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งถือเป็นทีมแรกของประเทศไทยที่ได้ร่วมแข่งรายการรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ระดับโลก
โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม รายงานว่า ทีม Siam Tech 1 ได้ปรับปรุงองค์ประกอบต่าง ๆ และตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียด จนมั่นใจว่า รถ STC-1 พร้อมแข่งขันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ สื่อมวลชนจากทีมประเทศอื่น ๆ ต่างเข้ามาสัมภาษณ์และให้ความสนอกสนใจกับทีมน้องใหม่จากประเทศไทยอย่างมาก
ขณะนี้ (19 ตุลาคม) การแข่งขันได้ดำเนินมาถึงวันที่ 2 แล้ว ทางเฟซบุ๊กของ World Solar Challenge รายงานว่า ทีมจ่าฝูงได้แก่ทีม Solar Team Twente และรถ Red One จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยวิ่งไปเป็นระยะทางราว 930 กิโลเมตรจากจุดออกตัว
อย่างไรก็ดี การแพ้ชนะอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เสมอไป เพราะจุดมุ่งหมายของผู้จัดคือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ ที่สะอาดและสามารถใช้ทดแทนพลังงานน้ำมันได้ รวมถึงเพื่อต่อยอดวงการวิศวกรรมยานยนต์สำหรับมนุษย์ต่อไปในอนาคต
ภาพจาก World Solar Challenge, เว็บบอร์ด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม