มนุษย์เงินเดือนเตรียมลุ้น ! อาจจ่ายประกันสังคมเดือนละ 1,000

       กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกันตนอาจต้องจ่ายสมทบเพิ่มสูงสุดจากเดือนละ 750 เป็น 1,000 บาท

       วันที่ 14 ตุลาคม 2558 นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. เปิดเผยว่า จากกรณีที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นั้น จะทำให้สำนักงานประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4,500 ล้านบาท เนื่องจากมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลายกรณี

       ทั้งนี้ นายโกวิท ระบุว่า ได้มีการเตรียมแนวทางเพื่อเพิ่มเงินใส่กองทุน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกองทุนในระยะยาว คือ

       1. การขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ควรจะเพิ่มฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

       2. ปรับแนวทางการลงทุน โดยมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่เปิดช่องให้ทำได้ รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้การลงทุนต่างประเทศทำได้คล่องตัวมากขึ้น

       อย่างไรก็ดี นายโกวิท กล่าวว่า การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนนั้นมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 750 บาท ซึ่งหากมีการปรับฐานเงินเดือนไปอยู่ที่ 20,000 บาทนั้น ต้องจ่ายสมทบไม่เกิน 1,000 บาท

 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

       สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นในหลายกรณี ทั้งกรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และที่สำคัญคือ มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส และความมีมาตรฐานจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังเช่นรายละเอียดดังต่อไปนี้

       1. หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จะได้รับเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

       2. ผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซี่งปัจจุบันไม่ครอบคลุมในส่วนนี้

       3. ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตาย จะได้รับเพิ่มสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ

       4. ผู้ประกันตนที่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน จากเดิมไม่ได้รับสิทธิ

       5. ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายความคุ้มครองผู้ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือ กลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มได้รับตลอดชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่าเทียมกัน

       6. กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน

       7. กรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน ๆ ละ 400 บาทต่อคน

       8. กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม ต่างจากในปัจจุบันที่ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น

       9. สำหรับเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบมาอย่างน้อย 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือน ให้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 5 เดือน

       10. พ.ร.บ. ฉบับใหม่ กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนด และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ด้วย

       ทั้งนี้ประชาชนหรือผู้ประกันตนที่ต้องการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือเว็บไซต์ และสายด่วน 1506

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 

Credit: http://money.kapook.com/view131836.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...