พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย!

http://teen.mthai.com/education/102406.html

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย!

                

ช่วงนี้กำลังเป็นช่วงรับปริญญาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษากันมากมาย วันนี้ทีนเอ็มไทยก็เลยอยากนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ การรับปริญญา มาฝากให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันค่ะ เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย! เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และที่มหาวิทยาลัยไหน? ทีนเอ็มไทยจะพาไปหาคำตอบกันคะ เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะ ^^ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย!

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

– เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร แก่เวชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน) ซึ่งถือว่าเป็น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

– ในครั้งนั้น ทางมหาวิทยาลัยกราบทูลเชิญ พระบรมวงศานุวงศ์ เรียนเชิญเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนส่งหนังสือเชิญ ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 แห่ง อาทิ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สภากาชาดสยาม วชิรพยาบาล มหามงกุฎราชวิทยาลัย ราชบัณฑิตยสภา และโรงเรียนกฎหมาย เป็นต้น มาร่วมพิธีด้วย

– ในพิธีดังกล่าว มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานครุยกิตติมศักดิ์ บัณฑิตชั้นโท, บัณฑิตชั้นเอก รวมถึงแก่เวชบัณฑิตจำนวน 34 คน เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาท และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

บัณฑิตชั้นโท (หรือมหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น

บัณฑิตชั้นเอก (หรือดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.จี.เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในขณะนั้น

แล้วพระราชทานปริญญาบัตร แก่เวชบัณฑิตจำนวน 34 คน ในจำนวนนั้น 18 คนมาจากปีการศึกษา 2471 และ 16 คนจากปีการศึกษา 2472

– ต่อมา สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า “มหาวิทยาลัยขอพระบรมราชานุญาต สงวนธรรมเนียมนี้ไว้คือ ถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตร เป็นการหน้าพระที่นั่ง หากเสด็จไม่ได้ ก็จะเป็นการถวายปริญญา ต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และรับพระราชทานปริญญาบัตร จากผู้แทนพระองค์” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามนั้น ธรรมเนียมนี้จึงสืบต่อมาจนปัจจุบัน

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

– พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็น การพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ และเมื่อวันที่ 23 เมษายน เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

– พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มพระราชทานปริญญาบัตร แก่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

— หนังสือพิมพ์เคยคำนวณว่า หากเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับนั่งครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์ พระราชทานใบปริญญาบัตร 470,000 ครั้ง!

– ดังนั้นจึงมีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ให้ทรงลดการพระราชทานลง โดยเสนอให้พระราชทานปริญญาบัตร เฉพาะระดับมหาบัณฑิตขึ้นไปเท่านั้น แต่มีพระราชกระแสตอบว่า ทรง “เสียเวลายื่นปริญญาบัตร ให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ได้รับนั้น มีความสุขเป็นปี ๆ เปรียบกันไม่ได้เลย”

– นอกจากนี้ทรงเห็นว่า การพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต มีความสำคัญ เนื่องจากบางคนอาจไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ดังนั้นจึงมีรับสั่งว่า “จะพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตปริญญาตรีไป จนกว่าจะไม่มีแรง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยพระองค์เอง เป็นระยะเวลามากกว่า 50 ปี

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 จึงต้องยุติพระราชกิจในการนี้ลง ด้วยพระชนมายุมากขึ้น ประกอบกับทรงพระประชวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์เสด็จแทนพระองค์

ขอบคุณข้อมูล th.wikipedia.org

 

Credit: เอ็มไทยวาไรตี้
15 ต.ค. 58 เวลา 04:02 2,073
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...