วัดมรุกขนคร

 

ประวัติความเป็นมาเมืองมรุกขนคร




๑ .สมัยก่อนอยุธยา

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบัน เดิมคือ อาณาจักรสุวรรณภูมิ เป็นถิ่นเดิมของชาวลวะ หรือละว้า ยกเว้นดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเป็นอาณาเขตของชาติมอญ อาณาจักรสุวรรณภูมิ แบ่งแยกอำนาจการปกครองออกเป็น 3 อาณาเขต คือ
อาณาเขตทวาราวดี มีเนื้อที่อยู่ในเขตตอนกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเล ตะวันตกของอ่าว ไทยจนถึงชายทะเลตะวันออก มีเมืองนครปฐม เป็นราชธานี

อาณาเขตยาง หรือโยนก อยู่ตอนเหนือ ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง

อาณาเขตโคตรบูรณ์ ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

๒. สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองนครพนม ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะรวบรวมได้ความว่าเป็นเมืองสืบเนื่องมาจาก อาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเดิมอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และได้ย้ายมาตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในราวรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาณาจักรโคตรบูรณ์ เป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งในสมัยนั้นมีแคว้นต่าง ๆ ตั้งอยู่ลุ่มฝั่งแม่น้ำโขงหลายแคว้น เช่น แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นล้านช้าง แคว้นท่าเวียงจันทน์ แคว้นโคตรบูรณ์ แคว้นจำปาศักดิ์ เป็นต้น แต่ละแคว้นมีเจ้านคร เป็นผู้ปกครอง

ส่วนตำนานของเมืองโคตรบูรณ์นั้น จากหลักฐานในพงศาวดารเหนือคำให้การของชาวกรุงเก่า พงศาวดารและ เรื่องราวทางอีสาน เขียนเป็นข้อความพาดพิงคล้ายคลึงกับเป็นนิทานปรัมปราสรุปได้ความว่า พระยาโคตรบองมีฤทธิ์ใช้กระบองขว้างพระยาแกรก ผุ้มีบุญซึ่งขี่ม้าเหาะมา ขว้างไม่ถูกจึงหนีไปได้ธิดาพระเจ้าลานช้าง บางฉบับก็ว่าพระยาโคตรบองมาจากลพบุรีบ้าง มาจากเวียงจันทร์ มาจากเมืองระแทงบ้าง มาจากเมืองสวรรค์บุรีบ้าง แต่ในฉบับให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พระยาโคตรบองเป็น โอรสพระร่วง หนีมาจากกรุงสุโขทัย ได้มาครองเมืองลานช้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้กับธิดาพระเจ้าเวียงจันทน์ แล้วพระราชธิดา จึงให้มาครองเมืองโคตรบูรณ์ เป็นเมืองหลวงขึ้นแก่นครลานช้าง

แต่อีกฉบับเขียนไว้ทางภาคอีสานว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชประสงค์จะให้ราชบุตรองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าโคตะ (คงเป็นราชบุตรเขย) ครองเมือง จึงได้สร้างเมือง ๆ หนึ่งที่ปากน้ำหินบูน (ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทนในปัจจุบัน) ให้ชื่อเมืองศรีโคตรบูรณ์ เป็นเมืองเวียงจันทร์ ตั้งให้เจ้าโคตะเป็นพระยาศรีโคตรบูรณ์ สืบเป็นเจ้าครองนครมาได้หลายพระองค์ จนถึงพระองค์ที่มีฤทธิ์ด้วยกระบอง จึงได้พระนามว่าพระศรีโคตรบอง และได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าไม้รวก ห้วยศรีมังริมฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งซ้าย (คือเมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกในปัจจุบัน) เมื่อพระยาศรีโคตรบองถึงแก่กรรม เจ้าสุบินราชโอรสพระยาศรีโคตรบองครอบครองนคร สืบแทนว่าพระยาสุมิตรธรรมราช เมื่อถึงแก่อนิจกรรม เจ้าโพธิสารราชโอรสครองนครสืบแทน อำมาตย์ได้ ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเมือง

จนถึงปีพุทธศักราช 2286 เจ้าเมืองระแทงให้โอรส 2 พระองค์ เสี่ยงบั้งไฟองค์ละกระบอง ถ้าบั้งไฟของใครไปถูกที่ใด จะสร้างเมืองให้ครอง บั้งไฟโอรสองค์ใหญ่ไม่ติดจึงได้เมืองระแทงแทน บั้งไฟองค์เล็กถูกที่ห้วยขวาง (เวลานี้เรียกว่าเมือง เซบั้งไฟ) ใกล้เมืองสร้างก่อและคง เชียงซอนจึงดำรัสสร้างเมืองที่นั่น แต่อำมาตย์คัดค้านว่าทำเลไม่เหมาะสม ประจวบกับขณะนั้นผู้ครอง นครศรีโคตรบูรณ์ว่างอยู่ อำมาตย์จึงเชิญเจ้าองค์นี้ขึ้นครองนครโดยมีพระนามว่า พระยาขัตยวงษาราชบุตร มหาฤาไชยไตรทศฤาเดช เชษฐบุรี ศรีโคตรบูรณ์หลวง ได้ซ่อมแซมบ้าน เมือง วัด จนถึงพุทธศักราช 2297 จึงพิราลัย เจ้าเอวก่านขึ้นครองนครแทน มีพระนามว่า พระบรมราชา ทรงครองนครศรีโคตรบูรณ์ได้ 24 ปี จึงพิราลัย เมื่อพุทธศักราช 2321 ท้าวคำสิงห์ราชบุตรเขยพระบรมราชา ได้นำเครื่อง บรรณาการไปถวายพระเจ้าเวียงจันทน์ พระเจ้าเวียงจันทน์โปรดให้ ท้าวคำสิงห์ครองเมืองโคตรบูรณ์แทนพระบรมราชาและมีพระนามว่า พระนครานุรักษ์ ผู้ครองนครนี้เห็นเมืองศรีโคตรบูรณ์ มิได้ตั้งอยู่ที่ปากน้ำหินบูนอย่าท่าท่อน(คือขณะนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าใต้ เมือง ท่าแขกปัจจุบัน) จึงให้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียงใหม่ เรียกว่า มรุกขะนคร นามเมืองศรีโคตรบูรณ์จึงเลือนหายไปตั้งแต่นั้น

 












๓.สมัยกรุงธนบุรี

ในปีพุทธศักราช 2321 พระเจ้าศิริบุญสาร แห่งเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพไปตี พระตา พระวอที่บ้านกู่ บ้านแก แขวงจำปาศักดิ์ ฆ่าพระวอตาย พระตาเห็นเหลือกำลัง จึงขอกองทัพกรุงธนบุรีมาช่วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบได้เมืองเวียงจันทน์ เมืองหนองคาย เมืองมรุกขะนคร ส่วนพระเจ้าศิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์ และพระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขะนคร หนีไปอยู่เมืองคำเกิด
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเสร็จจากปราบปรามเมืองเหล่านี้ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง และได้นำบรรดาโอรสพระเจ้าศิริบุญสารลงไปกรุงธนบุรีด้วย

๔. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นพุทธศักราช 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชแล้ว ได้ทรงชุบ เลี้ยงโอรสของพระเจ้าศิริบุญสารอยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี พระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งอยู่ที่เมืองคำเกิด ได้ 5-6 ปีก็ทรงชราภาพ ทราบว่าโอรสอยู่ด้วยความผาสุกจึงเสด็จกลับเวียงจันทน์ หวังจะขอสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็พระพุทธยอดฟ้า(ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงนิพนธ ์โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เจ้าศิริบุญสาร กลับจากเมืองคำเกิดจับพระยาสุโภ ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้รักษาเมืองอยู่ฆ่าแล้วเข้าตั้งอยู่ในเมือง ท้าวเฟี้ย ขุนบางไม่ยินยอมด้วยจึงหนีลงมากรุงเทพฯ กราบทูลฯ ให้ทราบ แต่ไม่ทรงวางพระทัยจึงตั้งให้เจ้านันทเสน โอรสองค์ใหญ่ ของพระเจ้าศิริบุญสารที่อยู่กรุงเทพฯ ให้กลับไปครองเมืองเวียงจันทน์แทน)

ครั้นถึงพุทธศักราช 2338 เกิดศึกพม่า ทางเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยต้องไปปราบปราม เจ้านันทเสนกับ พระบรมราชาขออาสาไปในกองทัพ ยกกองทัพไปถึงเมืองเถิน พระบรมราชา (พรหมมา) ก็ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวสุดตาซึ่งเป็นโอรส พระบรมราชาจึงนำเครื่องราชบรรณาการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็น พระบรมราชาครองเมือง มรุกขะนคร และให้เปลี่ยนนามเมืองเสียใหม่ว่า "เมืองนครพนม" ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ การที่พระราชทานชื่อว่าเมืองนครพนมนั้น อาจเนื่องด้วยเมืองนี้เป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงให้ใช้คำว่า "นคร" ส่วนคำว่า "พนม" นี้นอาจจะเนื่องด้วยจังหวัดนี้มีพระธาตุพนมประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญอีกประการหนึ่ง อาจจะเนื่องด้วยจังหวัดเดิมมีอาณาเขตหินไปถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือบริเวณเขตเมืองท่าแขกแห่งประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนไปถึงแดนประเทศญวน จึงนำเอาคำว่า"พนม" มาใช้ เพราะแปลว่า ภูเขา ส่วนคำว่า "นคร"นั้นอาจรักษาชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขะนครนั่นเอง

ต่อมาปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนพระเจ้าศิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์ และพระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขะนคร หนีไปอยู่เมืองคำเกิด เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเสร็จจากปราบปรามเมืองเหล่านี้ โปรดให้พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพ ส่วนทางนครเวียงจันทน์ก็ให้พระยาสุโภ เป็นแม่ทัพยกกำลังมาสมทบกองทัพพระยามหาอำมาตย์ เพื่อโจมตีบ้านกวนกู่ กวนงัว ซึ่งเป็นกบฎและเมื่อได้ชัยชนะจึงกวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่เมืองนครพนม มาตั้งที่บ้านโพธิ์ค้ำ หรือโพธิ์คำ (เข้าใจกันว่าคงจะเป็นคุ้มบ้านใต้ เมืองนครพนมนี่เอง)


จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2426 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญมากเป็นพระพนมนครานุรักษ์ดำรงตำแหน่งเจ้า เมืองนครพนม อยู่ได้ 7 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ราชบุตรทองทิพย์บุตรพระพนมนครานุรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทน และในปีพุทธศักราช 2434 ได้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่ โดยเริ่มแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล มีมณฑลลาว (เขตอุบลราชธานีปัจจุบัน) มณฑลลาวเฉลียง (เขตเชียงใหม่) และมลฑลลาวพวน เป็นต้น เมืองนครพนมขึ้นอยู่ในเขตปกครอง มณฑลลาวพวน ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงต่างพระองค์เป็น ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน ประทับอยู่ ณ เมืองหนองคาย

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2442 ได้ปรับปรุงระเบียบการปกครอง ข้อบังคับการปกครองหัวเมืองโดยแต่งตั้ง ให้มีผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมือง คือแทนที่จะเรียกว่าอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ดังแต่ก่อน พร้อมได้แต่งตั้งตำแหน่ง กรมการในทำเนียบขึ้น เรียกว่าปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง ผู้ช่วยราชการพร้อมได้แต่งตั้งกรรมการในทำเนียบขึ้น เรียกว่า เมืองยกกระบัตรเมือง ผู้ช่วยราชการเมือง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาตโต๊ะเป็นพระพิทักษ์พนมนคร ดำรงตำแหน่งปลัดเมือง ส่วนข้าราชการประจำบริเวณซึ่งเป็นข้าราชการที่กระทรวงมหาดไทย ส่งมาประจำนั้น การทำหน้าที่เป็นข้าหลวงดูแลราชการเมือง ควบคุมและให้ข้อปรึกษา แนะนำผู้ว่าราชการเมือง กรมการเมือง ปรับปรุงการงานให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ที่จัดและเปลี่ยนแปลงใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2454 พระวิจิตรคุณสาร (อุ้ย นาครทรรพ) ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครพนม ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาพนมนครานุรักษ์ ต่อมาทางราชการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 จัดระเบียบบรหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ มีมณฑลจังหวัด อำเภอและมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชา ฉะนั้น พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) จึงนับว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก... 

ที่มา....www.thatphanom.com






สายน้ำสองสีเหมือนหนึ่งความสัมพันธ์ของ ผู้คนสองฝั่ง



ความเงียบสงบริมฝั่งโขงคือเสน่ห์อันตรึง ใจเมื่อได้มาเยือนนครพนม



ฟ้าครึ้มฝน..ที่ริมฝั่งโขงนครพนม 
 


"แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์" ภาพหินแกะสลัก ที่วัดมรุกขนคร จ.นครพนม 



 


มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ พระมหาธาตุเจดีย์มรุกขนคร กว้าง ๒๐ เมตร สูง ๕๐.๕๙ เมตร ทั้งนี้พระราชธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร (ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร) มีนิมิตรจึงสร้างพระธาตุขึ้นตรงที่เป็นซากเมืองโบราณสมัยอาณาจักรศรีโคตร บูรณ์ นอกจากนี้แล้วท่านยังได้แกะสลักหินก้อนหนึ่งเป็นรูป"ในหลวงกำลัง น้อมรับดอกไม้จากหญิงชราท่านหนึ่ง"

 

วัดมรุกขนคร จ. นครพนม


พระราชธีราจารย์ บอกว่า ภาพหญิงชรานำดอกบัวขึ้นจบเหนือหัว เพื่อบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน ขณะที่พระองค์โน้มพระวรกาย ก้มพระเศียรเกือบติดศีรษะหญิงชรา รับดอกบัวจากหญิงชราครั้งที่พระองค์เสด็จไปทรงทักทาย หญิงชราที่ปรากฏในภาพ คือ "แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์" ชาวบ้านธาตุน้อย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

ภาพนี้ถ่ายโดยนายอาณัติ บุนนาค เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าช่างภาพส่วนพระองค์ ณ จุดรับเสด็จ ตอนเสด็จกลับจากการบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม เพื่อกลับไปประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในตอนบ่ายของวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ จุดรับเสด็จนี้คือบริเวณ สองฟากถนนตรงสามแยกชยางกูร-เรณูนคร การเสด็จของพระองค์ในครั้งนนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกของการเสด็จภาคอีสาน และจังหวัดนครพนมก็เป็นจังหวัดแรกที่ในหลวงเสด็จ

พระราชธีราจารย์ ยังบอกด้วยว่า จากหลักฐานข้อความบันทึกของพระพนมเจติยานุรักษ์ (แก้วอุทุมมาลา ป.ธ.๖ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ เป็นพระธรรมราชานุวัตร ซึ่งได้บันทึกไว้ท้ายหนังสือ "อุรังคนิทาน" (ตำนานพระธาตุพนม) หน้า ๑๘๗ (ฉบับทีนีลนาราการพิมพ์ กทม.พ.ศ.๒๕๓๗) มาอ้างไว้ดังความในบันทึกว่า ....

 


"วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาท และคณะได้เสด็จถึงวัด พระธาตุพนม เข้าประตูกลาง เสด็จขึ้นสู่พระวิหารหอแก้ว ทรงนมัสการรัตนตรัย ท่ามกลางพระสงฆ์สมณศักดิ์ ๑๐ รูป แล้วทรงประทับที่เบญจาตั้งอยู่ลานพระธาตุด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช องค์พระธาตะ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระองค์ทั้งสองได้เสด็จออกทางประตูอุรังครักษา เยี่ยมประชาชนทางด้านเหนือวนไป ด้านใต้ ด้านตะวันออก แล้วเสด็จไปพักผ่อน และทรงเสวยพระกระยาหาร ณ ที่ว่าการอำเภอธาตุพนมแล้วเสด็จกลับไปเมืองนครพนมในเย็นวันนั้น แม่เฒ่าตุ้มเฝ้ารับเสด็จในช่วงบ่ายมิใช่ช่วงเช้า " 
 






ทางด้าน นายบรม จันทนิตย์ อายุ ๖๖ ปี หลานของแม่เฒ่าตุ้ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นามสกุลเดิมของท่านคือ จักกัติ ในปีที่ในหลวงเสด็จนั้นตนเองมีอายุ ๑๖ ปี ส่วนยายตุ้มนั้นอายุ ๑๐๒ ปี หลังจากนั้นอีก ๓ ปี ยายมก็เสียชีวิตด้วยโรคชรา หรือตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๑ นอกจากนี้แล้วลูกของยายตุ้มทั้ง ๖ คน ก็ตายหมดแล้วเช่นกัน ปัจจุบันนี้ลูกหลานจึงกันที่ดินส่วนหนึ่งไปเป็นที่บรรจจุอัฐิของยายตุ้ม

ในวันนั้นแม่เฒ่าตุ้มได้ แต่งกายแบบพื้นเมืองของหญิงวัยสูงอายุในแถบแม่น้ำโขง เป็นเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อดีอย่างหนาสีน้ำเงิน คอกลมแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นหมี่ฝ้ายลายหมักจับ (ลายกระจับ) ตีนซิ่นเป็นลายท้องเอี่ยน (ลายท้องปลาไหล) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองไทยอีสานแถบแม่น้ำโขง นิยมทำเป็นลายนาค กระจับ กุ้ง และปลา ส่วนตีนวิ่น นิยมเก็บหรือขิดเป็นลายท้องปลาไหล 

บ้านของแม่เฒ่าตุ้มอยู่ห่าง จากจุดรับเสด็จประมาณ ๗๐๐ เมตร ท่านเป็นชาวหมู่บ้านศรีบุญเรือง (เดิมชื่อหมู่บ้านธาตุน้อย) ลูกหลานได้ช่วยกันนำแม่เม่าไปรอเฝ้ารับเสด็จฯ ตั้งแต่เช้า นางหอมเป็นผู้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แก่แม่เฒ่า มิใช่ดอกบัวที่ใช้บูชาพระอย่างที่เข้าใจกัน ครั้นเวลาบ่ายดอกบัวจึงเหี่ยวหมด เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะเสด็จถึงจุดรับเสด็จ แม่เฒ่าตุ้มขอให้นางหอม นำออกไปรอเฝ้าแถวหน้าสุด เพื่อจะได้เฝ้ารับเสด็จฯ ใกล้ชิดพระยุคลบาท ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่เตรียมการรับเสด็จฯ เป็นอย่างดี

เมื่อรถยนต์พระที่นั่งมาถึง ตรงจุดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาทได้เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งทรงทักทายเหล่าพสกนิกรจนถึง แม่เฒ่าตุ้ม แม่เฒ่าได้นำดอกบัวทั้ง ๓ ดอกขึ้นจบบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในภาพทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพเฝ้ารับเสด็จขนาด ๒ นิ้ว พร้อมด้วยพระบรมรูป (หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมายังทางอำเภอธาตุพนม มาให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกด้วย

"วันที่ในหลวงเสด็จนั้น หมู่บ้านทุกแห่งในจังหวัดนครพนมเกือบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง เพราะทุกคนมุ่งไปรับเสด็จเพราะอยากเห็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเป็นบุญตา ในวันนั้นผมและเด็กๆ ต่างปีนต้นไม้เพื่อดูในหลวง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงจากต้นไม้เพราะชาวบ้านไม่ควรอยู่ในที่สูงกว่าในหลวง และผมก็ไม่รู้หรอกว่าในหลวงลงมารับดอกไม้จากยายของผม จนกระทั่งทางวังส่งรูปมาให้ ไม่น่าเชื่อว่ารูปยายตุ้มถวายดอกไม้ให้ในหลวงจะเป็นรูปที่ตราตรึงคนไทยทั้ง แผ่นดิน"นายบรมกล่าวอย่างตื่นตันใจ
Credit: http://www.trytodream.com/topic/11961
27 พ.ค. 53 เวลา 08:19 4,618 6 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...