ชีวิตฉันอยู่อย่างธรรมดามาก มีเวลาว่างฉันก็ช่วยการกุศล ช่วยด้วยแรงและอยากช่วยจริงๆ มีรายได้ก็จากบ้านเช่า และทรัพย์สินเก่า บำเหน็จบำนาญจากเสด็จพระองค์อาทิตย์ฯก็ไม่มี เพราะท่านสิ้นตั้งแต่ยังหนุ่ม ฉันต้องขายบ้านเก่าที่รักมาก แต่ฉันก็พอใจ คนเราจะดิ้นรนไปทำไมกันหนักหนา ความสุขตอนนี้ นอกจากได้ทำบุญทำกุศลแล้ว ฉันกำลังรวบรวมเรื่องเก่าๆมาเขียน อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ที่ฉันได้ผ่านมาถึง 5 รัชกาลแล้วนะ"
ถือเป็นการปิดฉาก ตำนานสุดท้ายของกุลสตรี 5 แผ่นดิน "หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา" นางพระกำนัล ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และชายาสุดรักของ พลเรือโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ที่แม้จะจากโลกนี้ไปลับอย่างไม่มีวันกลับ ขณะมีอายุย่าง 101 ปี เมื่อค่ำวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ชีวิตมากสีสันดุจเทพนิยายของ "หม่อมกอบแก้ว" ยังคงได้รับการเล่าขานไปอีกนานแสนนาน โดย เฉพาะบทบาทในฐานะ "สาวสองพันปี" แห่งแวดวงสังคมไทย ที่ยังสาวเสมอ และสวยปิ๊งเสมอ เหนือกาลเวลา
สำหรับประวัติของหม่อมกอบแก้ว ชื่อและนามสกุลเดิมคือ กอบแก้ว วิเศษกุล เกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2451 ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 19 พ.ค. 51 รวมสิริอายุได้ 101 ปี เป็นธิดาของพระยาสุรินทราชา สยามราชภักดี พิริยะพาหะ (นกยูง วิเศษกุล) และคุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา มีพี่น้อง 4 คน หม่อมกอบแก้ว เป็นคนสุดท้อง สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรระดับต้นและระดับสูงจากมหาวิทยาลัย เคมบริคจ์
ได้รับพระราชทานสมรสกับพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระโอรสพระองค์แรกในพระเจ้าบรมวงศ์ เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ประสูติแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อปี 2472 และเป็นม่าย เนื่องจากพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคมะเร็ง ปี 2489
หม่อมกอบแก้ว ในอดีตเคยเป็นนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นนายกสมาคมสตรีไทย เป็นประธานหารายได้ให้แก่สภากาชาดไทยอย่างต่อเนื่องมากกว่า 21 ปี ได้รับเชิญจากองค์การยูนิเซฟไปเป็นผู้บรรยายพิเศษ เรื่องยูนิเซฟในประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 9 รัฐ ร่วมประชุมในการประชุมสภากาชาดสากลในประเทศอิหร่าน ออสเตรีย ตุรกี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ปี 2499-2520 เป็นประธานมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2528-ปัจจุบัน
เป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานหาทุนมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-ปัจจุบัน
"หม่อมกอบ แก้ว" เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเกร็ดชีวิตส่วนตัว ถึงเคล็ดลับการดำเนินชีวิตอย่าง อมตะ ทำให้เป็น "สาวสองพันปี" มาได้จนถึงยุคปัจจุบันว่า เคล็ดลับสำคัญประการแรกคือ ต้องรู้กฎของธรรมชาติ โดย "หม่อมกอบแก้ว" อธิบายว่า ความแก่เป็นสัจธรรม เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีแก่, เจ็บไข้ได้ป่วย และในที่สุดก็ต้องตาย ไม่มีใครสามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ ท่านจึงมีความเชื่อว่า คนเรานี้จะต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาด้วยกฎของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็ให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์ ถ้าเราพยายามรักษาสุขภาพ รักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพที่คงทนอยู่ได้ ธรรมชาติก็ช่วยให้ร่างกายของเราเสื่อมโทรมช้าลง
ส่วนเคล็ดลับประการที่สองได้แก่ ต้องมีงานอดิเรกและเล่นกีฬาเป็นประจำ งานอดิเรกและกีฬาที่ "หม่อมกอบแก้ว" นิยมเล่นมีหลายประเภท อาทิ ขี่ม้า, เทนนิส, ว่ายน้ำ และกอล์ฟ..."งานอดิเรกและกีฬาขี่ม้า เริ่มมาจากการที่เสด็จองค์อาทิตย์ฯโปรดขี่ม้ามาก ในวังมีม้าเลี้ยงไว้ถึง 13 ตัว พอวันหยุดหรือวันอาทิตย์ก็ขี่ม้าออกเที่ยวไปกับพวกฝรั่ง ที่เป็นสมาชิกโปโลคลับและพวกทหารม้า โดยปกติจะขี่ม้าไปเมืองนนท์ ขากลับก็ลงเรือที่ส่งไปคอย ทหารม้าที่ไปด้วยก็เอาม้ากลับกรุงเทพฯ ฉันขี่ม้าได้อย่างชำนาญจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็นทหารม้ายศ พันโท ยังเคยคิดว่า ถ้าเมื่อใดมีการสวนสนามทหารม้า ตั้งใจว่าจะไปสวนสนามด้วยสักครั้ง ก็พอดีเสด็จองค์อาทิตย์ฯ ทรงลาออกจากราชการเสียก่อน"
อย่างไรก็ดี สำหรับ "หม่อมกอบแก้ว" แล้ว กีฬาที่ชอบมากที่สุดในชีวิตคือกีฬาสมัยใหม่ เช่นกอล์ฟ ..."ฉันได้เป็นแชมเปียนสตรี และเป็นประธานสโมสรกอล์ฟด้วย แต่ก่อนจะเล่นกอล์ฟ หลังอาหารกลางวันทุกวัน ถ้าไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด ปกติจะเล่นกอล์ฟประจำที่สนามสปอร์ตคลับกับดุสิตคลับ ฉันตีได้ 200 สบายๆอย่างผู้ชาย แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว เพิ่งจะเลิกเล่นกอล์ฟเมื่อไม่นานนี้เอง เพราะตาต้องใส่เลนส์"
หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2551 เวลา 20.30 น.ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมอายุ 101 ปี ซึ่งในวันนี้ (วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2551) เมื่อเวลา 16.00 น.ได้มีพิธีประทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม
ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม
เนื่องจากหม่อมกอบแก้ว เป็นสตรีไทยที่รูปโฉมงดงาม และได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการ ปกครองปี 2475 อันเป็นสตรีที่มีความรู้และความทันสมัยในแบบของสาวตะวันตกที่แต่งตัวสวยเก๋ ออกงานสังคมเคียงบ่าเคียงไหล่พระสวามี แต่ก็เพียบพร้อมด้วยความเป็นกุลสตรีไทยที่งามสง่า จนกระทั่งได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้สวมมงกุฎและสายสะพายให้แก่นางสาวไทยทุกคน ในยุคก่อนๆ
นอกจากนี้ ท่านเป็นต้นแบบของสาวสังคมในยุคเมื่อ 60 ปีก่อน ที่ทำงานเพื่อสังคมโดยแท้ เพราะท่านมักจะออกงานสังคมสงเคราะห์หรืองานการกุศลต่างๆ เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นภาพคุ้นตาของคนทั่วไป
หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต หลังป่วยเป็นโรคปอดอักเสบนอนรักษาตัวที่ รพ. จุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ค. โดยเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ก็คือเป็นวันเดียวกับที่ครอบครัวของหม่อม กอบแก้วเสียชีวิตลงทั้ง 3 คน ตั้งแต่ พระยาสุรินทราชา สยามราชภักดี พิริยะพาหะ บิดาหม่อมกอบแก้ว พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สามีหม่อมกอบแก้ว พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บิดาของสามีหม่อมกอบแก้ว
(ประสูติ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 - สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเป็นพระโอรสพระองค์แรกใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ประสูติแต่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
เมื่อประสูติ ทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อพระมารดาทรงน้อยพระทัยพระบิดา และปลงชีพพระองค์เอง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระองค์ไปเลี้ยงดู ทรงเอ็นดูเป็นพิเศษและโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา โดยพระองค์อาทิตย์ฯ อภิเษกสมรสกับ หม่อมกอบแก้ว นางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2472
เดิมชื่อ นายนกยูง วิเศษกุล เป็นต้นสกุล วิเศษกุล เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาท่านได้เข้ารับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับตำแหน่งเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ เมื่อพ.ศ. 2441 ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียนมหาดเล็ก วิชา ภูมิศาสตร์สากล และสุขวิทยา และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีสอนวิชาภูมิศาสตร์ หลังจากนั้นได้เลื่อนยศเป็นพระวิสูตรเกษตรศิลป์ รับตำแหน่งเจ้ากรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ ในพ.ศ.2454 ซึ่งท่านได้ออกตรวจการทำไร่ยาสูบที่เกาะสุมาตรา และการทำสวนยาง สวนมะพร้าวและเหมืองแร่ ที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ เป็นระยะเวลา 2 ปี
ในปี พ.ศ.2547 ท่านได้รับตำแหน่งพระยาอจิรการประสิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากนั้นได้เลื่อนยศเป็นพระยาสุรินทราชา เมื่อ พ.ศ. 2463 ท่านทำหน้าที่สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ท่านได้พบหาดและตั้งชื่อว่า หาดสุรินทร์
ท่านมีผลงานสำคัญในขณะดำรงตำแหน่งพระยาสุรินทราชา คือ การแปลนวนิยายเป็นภาษาไทยเรื่องแรก โดยให้ชื่อว่า "ความพยาบาท" แปลจากเรื่อง Vendetta, or the Story of One Forgetten ของ มารี คอเรียลลิ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการเขียนรูปแบบใหม่คือนวนิยายขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุได้ 62 ปี