พระราชวังพญาไท จากโรงนากลายมาเป็นโรงหมอ จนถึงที่ประทับองค์พระมหากษัตริย์

กรุงเทพมหานครเมืองหลวงที่มากมาย  ด้วยวัดวาอาราม และพระราชวังอันวิจิตรงามตา แต่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้มาสัมผัสสักครั้ง ดังเช่น พระราชวังพญาไท




   กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มากมายด้วยวัดวาอาราม และพระราชวังอันวิจิตรงามตา แต่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้มาสัมผัสสักครั้ง ดังเช่น พระราชวังพญาไท หรือ วังพญาไท...

   พระราชวังแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ริมคลองสามเสน ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานนามให้ว่า"พระตำหนักพญาไท หรือวังพญาไท" ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชวังพญาไท 

     ด้วยพระราชวังพญาไท ประกอบไปด้วยอาคารและพระที่นั่งมากมาย วันนี้เราจึงขอเริ่มกันที่ พระที่นั่งพิมานจักรี เป็น พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นอาคารอิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค..



  ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช เจ้าพนักงานจะอัญเชิญธงมหาราช (ธงครุฑ) สู่ยอดเสาขณะที่ประทับอยู่ ที่พระราชวัง มีจิตรกรรมสีปูนแห้ง (fresco secco) บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนังเขียนเป็นลายเชิงฝ้าเพดานรูปดอกไม้งดงาม 

     บานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทองลักษณะศิลปะวิคตอเรียน เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. 6 สำหรับห้องชั้นล่าง เช่น ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ฯลฯ มีจิตรกรรมสีปูนแห้งที่น่าชมเช่นกัน ส่วนที่ประทับอยู่บริเวณชั้นสอง ซึ่งมีห้องที่น่าสนใจดังนี้ 

     ท้องพระโรงกลาง เป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์ หรือเสวยแบบง่ายๆ ภายในตกแต่งแบบยุโรป มีเตาผิงซึ่งตอนบนประดิษฐาน พระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปรานของห้อง ในกรอบที่ประดับด้วยตราจักรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ภายในรูปวงรี และภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎล้อมรอบด้วยพระรัศมี 

     ห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมห้องสรง ภายในตกแต่งลายเพดานงดงามด้วยจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลาน และภาพพญามังกร หมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา และปีพระราชสมภพ 

     ห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ภายในมีจิตรกรรมสีปูนแห้งบนฝ้าเพดาน เป็นลายดอกไม้ ส่วนที่บัวฝ้าเพดานเป็นลายหางนกยูง เนื่องจากนกยูงเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี 

     ห้องทรงพระอักษร เป็นห้องใต้โดมบนชั้นสอง ยังปรากฏตู้หนังสือแบบติดผนัง เป็นตู้สีขาวลายทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. 6 อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้ อยู่ติดกับบันไดเวียน ซึ่งสามารถขึ้นไปยังห้องใต้หลังคาโดมที่ปัจจุบันใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

                       

โรงนา

ย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี  ถนนราชวิถีเป็นเพียงถนนสายสั้นๆ เริ่มต้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาสุดที่ด้านหลังพระราชวังสวนดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อถนนสายนี้ว่า  ถนนซางฮี้  (ปัจจุบันมักเรียกว่า ซังฮี้)  อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า  “ยินดีอย่างยิ่ง” 

ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า  ถนนราชวิถี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ปลายถนน ซางฮี้ ตอนตัดใหม่ๆ นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย  เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมาก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่ เศษ  จากชาวนาชาวสวนบริเวณนั้น เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบท  โรงเรือนหลังแรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ณ ที่นี้ คือ โรง และได้พระราชทานนามว่า  โรงนาหลวงคลองพญาไท  พร้อมกับโปรดเกล้าให้ย้ายพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) มาจัดที่ทุ่งพญาไท.

                             
พระตำหนัก

พระตำหนักพญาไทสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2452  เพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบทเวลาเสด็จพระราชดำเนินที่นาแห่งนี้หลังการก่อสร้างพระตำหนักเสร็จสมบูรณ์ และมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคฤหมงคล (ขึ้นเรือนใหม่) ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 แล้ว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับที่วังพญาไทบ่อยครั้งขึ้น  ครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสตรงกับวังที่ 16 ตุลาคม 2453 เพียงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนเสด็จสวรรคต

ความวิปโยคอันสุดแสน เนื่องจากการสูญเสียสมเด็จพระบรมราชสวามี เป็นเหตุให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวร พระอนามัยทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกห่วงใย ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้แปรพระราชฐาน จากในพระบรมมหาราชวังมาประทับที่วังพญาไทเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้ทรงพระสำราญและเพื่อความสะดวกสำหรับแพทย์ และพระประยุรญาติจะได้มีโอกาสเฝ้าเยี่ยม และถวายการรักษาโดยง่าย.

                               
                        สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงดำนา ณ. ทุ่งพญาไท

   สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระตำหนักพญาไท พร้อมด้วยพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดตลอดจนพระชนมายุ เป็นเวลาเกือบ 10 ปี  พระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง ณ วังพญาไท ในสมัยนั้นอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้คนทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน กล่าวกันว่ามีไม่น้อยกว่า 500 คน บรรดาผู้ที่สังกัดอยู่ใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระพันปีหลวงไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ข้าหลวง โขลนจำ ข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ทุกคนได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เงินเดือน เงินปี ที่อยู่ อย่างอุดมสมบูรณ์ ตามสมควรแก่ฐานะโดยทั่วถึง

ครั้นเมื่อ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2462 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกวังพญาไท ขึ้นเป็นพระราชวังพญาไท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี

                                  
                                       พระตำหนักเมขลารูจี
 

ที่ประทับองค์พระมหากษัตริย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับ ในชั้นต้นจึงโปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักที่ประทับของสมเด็พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน คงเหลือเพียงท้องพระโรงหน้า ซึ่งโปรดให้สร้างถวาย สมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อตอนต้นรัชกาลเพียงองค์เดียว และได้โปรดให้สร้างพระตำหนักอุดมวนาภรณ์หรือที่ได้พระราชทานนามให้ใหม่ในเวลาต่อมาว่า พระตำหนักว่า พระตำหนักเมขลารูจี ขึ้นเป็นองค์แรก พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นแทนที่พระตำหนักเดิม เป็นหมู่พระที่นั่ง 3 องค์ พร้อมด้วยพระราชอุทยานซึ่งจัดเป็นสวนรูปแบบเรขาคณิต ตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลี่ยนสมัย “เรอเนสซองต์” แต่เรียกกันว่า “สวนโรมัน”

รวมทั้งได้โปรดให้ย้าย “ดุสิตธานี” เมืองจำลอง ที่ทรงมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดสั่งสอนวิธีการปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาล ตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ณ พระราชวังดุสิตมายังพระราชวังพญาไทเป็นการถาวร

                             

     นอกจากนั้น  บทพระราชนิพนธ์ทางวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งเนื้อหาและวรรณศิลป์หลายเรื่องรวมทั้ง “มัทนะพาธา” ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ณ พระราชวังแห่งนี้และได้โปรดให้จัดแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ซึ่งสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ใช้ดอกกุหลาบ เป็นดอกไม้สำหรับคำสาบที่นางในเรื่องได้รับ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระราชวังพญาไทเกือบจะเป็นการถาวรตลอดระยะเวลา 6 ปีต่อมา จนกระทั่งต้นเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2468 ได้เสด็จแปรพระราชฐานชั่วคราวไปประทับในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีจองเปรียง สะเดาะพระเคราะห์ตามพิธีพราหมณ์ ประจวบกับใกล้จะถึงวันพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ใกล้จะครบถึงวันจะมีพระพระประสูติกาล จึงเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระมหามณเฑียรองค์สำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดพระอาการประชวรขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนถึงกับสวรรคตลง  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 เวลา 1.45 น.ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายหลังพระประสูติกาลของ พระราชธิดาเพียง 1 วัน


 

โฮเต็ลพญาไท    อนึ่ง  ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟฟ้าหลวงในเวลานั้นว่า พระราชวังพญาไทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่โตมีบริเวณกว้างขวางมากต้องสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์จำนวนมากในการบำรุงรักษา หากปรับปรุงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยี่ยนและติดต่อธุรกิจในประเทศสยามแล้ว ค่าบำรุงรักษาก็คงจะรวมอยู่ในงบของโรงแรมได้  แต่ยังมิทันได้ดำเนินการอย่างใดก็ประจวบกับทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงรับรัชทายาทเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนององค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟฟ้าหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อ  “Phya Thai Palace Hotel” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “โฮเต็ลพญาไท” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468


                              
                                  บรรยากาศบริเวณสวนโรมัน
 
  โฮเต็ลพญาไทจัดเป็นโรงแรมที่หรูหราและได้รับการยกย่องว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า 20 คน  ใช้นักดนตรีจากกองดุริยางค์ทหารบก บรรเลงให้เต้นรำในวันสุดสัปดาห์ สลับกับคณะโชว์นักร้อง นักแสดงจากยุโรป และเมื่อหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกากลับมา  ก็ได้นำวงดนตรีแจ็สมาบรรเลงที่โฮเต็ลแห่งนี้

                               
                                         แขกที่มาพักในโรงแรม

   โฮเต็ลพญาไทได้รับเกียรติ เป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารี่กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2473 และในปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก “สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท โดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัชตอบ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว      โดยถ่ายทอดจากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มาตามสายแล้วเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงสู่พสกนิกรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการถ่ายถอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย    

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 โฮเต็ลพญาไทประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมต้องการใช้สถานที่เป็น ที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีมติให้เลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท พร้อมกับให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งรวมกับสถานีเครื่องส่งโทรเลขที่ศาลาแดง



สู่ยุคโรงหมอ

กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไท เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 และต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ได้มีการ พัฒนากองเสนารักษ์มณฑลทหารบก ที่ 1 เป็นโรงพยาบาลทหารบกโดยใช้เขต พระราชฐานทั้งหมด    

เนื่องจากพระราชวังพญาไทเคยเป็น พระราชฐานที่ประทับใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน กองทัพบกจึงได้ขอพระราชทานนาม โรงพยาบาลทหารบกใหม่ว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งได้ประกอบพิธีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2495 อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต    

ใน พ.ศ. 2512 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ ณ อาคารหลังใหม่ ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังพญาไท และใช้พระราชวังเป็นที่ทำการของกรมแพทย์ทหารบกเป็นเวลา 20 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 กรมแพทย์ทหารบกได้ย้ายได้ย้ายไปยังอาคารที่ทำการใหม่ ณ บริเวณถนนพญาไท เขตราชเทวี โดยมีศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ย้ายที่ทำการมาอยู่แทนในพระราชวังเป็นการชั่วคราว โดยมีโครงการที่จะย้ายออกเมื่อสถานที่แห่งใหม่พร้อม เช่นกัน  ซึ่งหลังจากนั้นพระราชวังพญาไทจึงจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม    

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522  ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522




ขอบคุณข้อมูลจาก..
ข้อมูล Phyathaipalace  
ข้อมูลภาพ Flickr/plynoi 




Credit: http://www.phyathaipalace.org/main/index.php/2009-02-16-02-12-32?start=4
26 พ.ค. 53 เวลา 19:43 3,653 3 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...