บ้านร้าง ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) อยุธยา
สมัยรัชกาลที่ 5 ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช)เป็นนายแขวงเสนาใหญ่ คืออำเภอผักไห่ในปัจจุบัน (เคยเข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วย) ภรรยาคือนางจ่าง มิลินทวนิช ขุนพิทักษ์ฯเป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ (มีจำนวน 10 กว่าลำ) รับส่งผู้โดยสารระหว่างผักไห่-ท่าเตียน กรุงเทพฯ และผักไห่-ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้การค้าขายบริเวณนี้ เจริญรุ่งเรือง (เมื่อมีการทำประตูทดน้ำในแม่น้ำเรือจึงไม่สามารถแล่นได้ ประกอบกับถนนหนทางเจริญขึ้นกิจการเดินเรือจึงเลิกไป)
ตระกูลขุนพิทักษ์ฯเป็นตระกูลใหญ่ ขุนพิทักษ์ฯมีบุตรทั้งหมด 6 คน มีหลานอีกหลายคน บุตรคนโตคือนางทองคำ มิลินทวนิช (นางทองคำมีบุตร 3 คน คือคุณใหญ่ คุณกลางหรือยายอุดมวรรณ และคุณจิ๋วหรือยายสมพร) บุตรคนที่ 2 คือนางบุญมี คนที่ 3 คือนายโกย 4 คือหลวงมิลินทวนิช 5 นางวงศ์ ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงพร้อมธีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และคนที่ 6 นางยูร คุณยายสมพร มิลินทวนิช อายุ78 ปี และคุณยายอุดมวรรณ มิลินทวนิชอายุ 80 ปี สองพี่น้องซึ่งเป็นหลานสาว(หลานตา)ของขุนพิทักษ์ฯ แต่ใช้นามสกุลของตา (เป็นบุตรนายเติมกับนางทองคำโดยนางทองคำเป็นลูกสาวคนโตของขุนพิทักษ์) ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 563 ซอยลาดพร้าว 130 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ เล่าว่าขุนพิทักษ์ฯเกิดที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ส่วนภรรยา (นางจ่าง)เป็นคนอำเภอผักไห่ สมัยตนเป็นเด็กบ้านของตนเป็นแพอยู่ริมน้ำหน้าบ้านขุนพิทักษ์ฯ ตนผูกพันกับบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก วิ่งขึ้นลงคลุกคลีกับคนในบ้านมาตลอด หลังจากยกให้หลวงแล้วตนกลับมาดูบ้านหลังนี้ทุกปี เนื่องจากมีที่นาและญาติพี่น้องอยู่ที่อยุธยา แต่หลายปีหลังนี่ไม่ได้มา
บ้านของขุนพิทักษ์บริหารเป็นบ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 อายุเกินกว่า 100 ปี สถาปัตยกรรมเป็นบ้านไทยที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก ซึ่งน่าสนใจมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย (ด้านหลังติดกับถนนในหมู่บ้าน ) หมู่ที่ 2 ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เดินทางจากตัวอำเภอผักไห่ไปทางทิศเหนือตามถนนลาดยาง เพียง 3 กิโลเมตรเลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณวัดอมฤต แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านโรงสีเข้าไป)
บริเวณที่ตั้งมีเนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ 72 ตารางวา ด้านหลังบ้านที่ติดกับถนนปักป้ายประกาศว่าเป็นที่ดินราชพัสดุของ กรมธนารักษ์ ลักษณะบ้านเป็นบ้านทรงปั้นหยาสองชั้นยกพื้นสูง ปลูกสร้างด้วยไม้สัก (บางส่วนเป็นตึก) ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า"บ้านเขียว" (เพราะเดิมทาสีเขียว เนื่องจากขุนพิทักษ ์เกิดวันพุธ) หลังคามุงกระเบื้องสีน้ำตาลเข้ม สภาพภายในยังแข็งแรง แต่สภาพภายนอกทรุดโทรม ประตูหน้าต่างมีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตบรรจง พื้นเป็นกระดานไม้สักแผ่นใหญ่ ชั้นล่างมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง (มีตู้ไม้สัก 3 หลัง) ห้องเล็ก 2 ห้อง (ในห้องเล็กใกล้ระเบียงหลังบ้าน มีตู้เหล็กนิรภัย สูงถึง 1 เมตร ปิดล็อกไว้) และห้องใต้บันไดอีก 1 ห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องโถง 1 ห้อง ห้องเล็ก 3 ห้อง และห้องซอยด้านหลังอีก 1 ห้อง ในห้องเล็กที่ใกล้กับทางลงมีห้องแยกออกไปอีก เป็นห้องที่ใช้ประตูเดียวกับห้องแรก ภายในห้องแยกมีห่วงเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางเหล็ก 1 นิ้วตรึงอยู่กับพื้นมุมห้อง ใช้สำหรับล็อกโซ่ล่ามกำปั่นสมบัติ (ปัจจุบันยังสามารถหาดูห่วงเหล็กลักษณะนี้ได้ในเรือนเก่าหลังอื่น ๆเช่นเรือนหลังกลางของนายแป้น สุดสนอง เลขที่ 23 หมู่ที่ 5 ตำบลผักไห่ อำเภอผักไห่)
หน้าต่างและประตูใช้กลอนไม้แบบโบราณ ด้านหน้ามีสะพานไม้เชื่อมไปที่ศาลาใหญ่ริมแม่น้ำ และเรือนพักคนรับใช้หลังเล็ก (นายฟื้น ผู้ดูแลบ้านคนสุดท้ายมีอาชีพทำขนมจีนขาย ได้เสียชีวิตที่เรือนหลังเล็กนี้ หลังจากนายฟื้นเสียชีวิต นางวาสน์ซึ่งเป็นภรรยานายฟื้นและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ได้ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา และไม่มีใครพบอีกเลย ส่วนเรือนหลังใหญ่ไม่ปรากฏว่า เคยมีผู้เสียชีวิตในเรือน แม้แต่ขุนพิทักษ์ฯเมื่อชราภาพใกล้สิ้นอายุขัย ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับบ้านทางเรือ และสิ้นชีวิตในเรือระหว่างเดินทาง)
หลังจากขุนพิทักษ์ฯสิ้นชีวิตแล้ว ลูกหลานย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แม่จ่าง ภรรยาท่านขุนจึงได้ยกบ้านให้หลวง เป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบเข็มชั้นเครื่องหมายทองประดับเพชรให้กับนางจ่างด้วย นายเม่งชง แซ่โต๋ว อายุ 82 ปี เจ้าของร้านชงโภชนา ตลาดผักไห่ เล่าว่า สมัยที่ตนอายุ 10 ขวบ เคยพายเรือผ่านไปขายของ บ้านหลังนี้มีบริวารอาศัยอยู่มาก ในงานวันเกิดของแม่จ่าง ภรรยาขุนพิทักษ์ จะมีภรรยาของท่านจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เดินทางมาร่วมงานทุกปี
ดร.ดนัย มิลินทวนิช ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของขุนพิทักษ์ เล่าว่ามีบันทึกในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จประพาสต้นลำน้ำคลองมะขามเฒ่า ได้กล่าวถึงช่วงหนึ่งว่าพระองค์ทรงเสด็จประพาสมาตามลำแม่น้ำน้อยนี้ และได้ทรงประทับที่บ้านของนางจ่าง มิลินทวนิช ซึ่งก็คือภรรยาของขุนพิทักษ์ฯ นายชัยกร นิยมไกร ชาวบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านขุนพิทักษ์ฯ กล่าวว่าบิดาของตนเคยเล่าให้ฟังว่าขุนพิทักษ์เป็นคนยิ่งใหญ่พอสมควร สมัยที่ขุนพิทักษ์ฯมีชีวิตอยู่ ได้จัดทอดกฐินและแข่งเรืออย่างใหญ่โตทุกปี ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 (วันงานไหว้วัดอมฤต)
ห่างจากบ้านขุนพิทักษ์ประมาณ 1 กิโลเมตร มี "บ้านตึก" ซึ่งเป็นบ้านโบราณอยู่ริมแม่น้ำน้อยเช่นกัน อีก 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านของขุนวารีโยธารักษ์ นายอำเภอคนแรกของอำเภอผักไห่ (สมัยนั้นเรียกว่าอำเภอเสนาใหญ่) สมัยรัชกาลที่ 5 เคยใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเสนาใหญ่ และออกว่าความตัดสินคดี มีการจองจำนักโทษที่เรือนด้านหลัง (รื้อถอนไปแล้ว) เรือนใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านตึกนี้ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ในเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา หลังคาทรงปั้นหยา มีลวดลายแกะสลักสวยงาม ชั้นล่างมีการก่ออิฐล้อมเป็นผนังแบ่งเป็นช่อง ๆ คล้ายกำแพง ปัจจุบันบ้านตึกอยู่ในที่ดินโฉนดของนางย้อย วิภาตะศิลปิน บุตรของขุนวารีโยธารักษ์
ปัจจุบันบ้านขุนพิทักษ์บริหาร เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป สื่อมวลชนหลายแขนงได้เผยแพร่ข่าว เช่นรายการที่นี่ประเทศไทย ทางโทรทัศน์ช่อง 5 แต่ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และรายการมิติลี้ลับทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ออกข่าวว่าบ้านหลังนี้มีวิญญาณ มีภูติผีปีศาจ นั้น ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญาติพี่น้องขุนพิทักษ์ฯไม่เชื่อว่าบ้านหลังนี้จะมีภูติผีปีศาจ เพราะไม่ปรากฏว่าเคยมีผู้เสียชีวิตในเรือนท่านขุน และท่านขุนเป็นคนใจดี ไม่มีศัตรู ทอดกฐินทุกปี ทำประโยชน์เอาไว้มาก
ที่มา แฟนเพจ คนรักประวัติศาสต์ไทย
https://m.facebook.com/welovethaihistory?refsrc=https%3A%2F%2Fth-th.facebook.com%2Fwelovethaihistory