5 อันดับเพชรฆาตใต้ทะเลลึก

        โลกใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่สวยงามนั้น มีการเป็นไปของการล่าและการตกเป็นผู้ถูกล่าตามวงจรของห่วงโซ่อาหารอยู่ทุกนาที และธรรมชาติก็ได้สร้างสัตว์ทะเลหลายชนิดให้มีอาวุธไว้ป้องกันตนเอง เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของมัน เช่น บางชนิดมีเขี้ยวหรือฟันอันแหลมคม บางชนิดก็มีเงี่ยงหรือเข็มพิษที่ร้ายแรงขนาดฆ่าศัตรูหรือผู้รุกรานได้ การลงไปเล่นน้ำหรือดำน้ำทะเลในบางครั้งก็อาจจะเสี่ยงอันตรายไม่น้อย เรามารู้จักสัตว์ทะเลที่เป็นสุดยอดเพชรฆาตใต้ท้องทะเลลึก 5 อันดับที่แสนจะอันตราย และก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตสูงที่สุด

        เมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตยุคแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นในอาณาจักรใต้น้ำ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวพัฒนาขึ้นจนใช้การสังเคราะห์แสงผลิตพลังงานได้เอง พวกมันคายออกซิเจนออกมาเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ อีกหลายร้อยล้านปีต่อมา ใต้ทะเลลึกกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นักล่าสุดอันตรายของโลก สัตว์นักล่าในทะเลนั้นเก่าแก่และยิ่งใหญ่เกินกว่าสัตว์นักล่าบนบก ถ้าลองดูสัตว์น่าทึ่งในปัจจุบัน สัตว์ทะเลกินขาดหมด มหาสมุทรนั้นเต็มไปด้วยสัตว์ที่สามารถฆ่าคนตายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เรามาดูกันว่าสัตว์ 5 ชนิดที่มนุษย์ไม่ควรคิดต่อกรด้วยนั้นมีอะไรบ้าง

อันดับที่ 5 วาฬเพชรฆาต (Killer Whale)

 

        หรืออีกชื่อหนึ่งว่าวาฬออก้า น้ำหนักโดยเฉลี่ย 12,000 ปอนด์ ยาว 30 ฟุต สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้คือสัตว์นักล่าที่ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ พวกมันอยู่ในอันดับย่อยของวาฬที่เรียกว่าวาฬมีฟัน นักล่าที่ดุร้ายนี้มีอาวุธเป็นขากรรไกรขนาดใหญ่และฟันที่โค้งเข้าด้านใน มันสามารถขย้ำเหยื่อทุกชนิดตั้งแต่ ปลา แมวน้ำ หรือวาฬสายพันธุ์อื่นที่ใหญ่กว่าตัวมันสองเท่า วาฬเพชรฆาตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่กระจายตัวเป็นวงกว้างที่สุดในโลก มันอยู่ได้ทุกที่ ที่อาร์คติกก็มี แอนตาร์คติกก็มี เขตร้อนก็มี มันอยู่ได้ทุกที่เลย วาฬเพชรฆาตมีโครงสร้างครอบครัวที่ซับซ้อน มันสื่อสารกันได้ในระหว่างที่ล่าเหยื่อหรือตอนดำลงไปในน้ำ

       ในบางครั้งวาฬเพชรฆาตก็อาศัยมันสมองและเทคนิคอันล้ำลึกจัดการกับมนุษย์ ที่เมืองริมทะเลของอังกฤษชื่อฟาลเม้าธ์ (Falmouth) ณ พิพิธภัณฑ์ทางทะเลท้องถิ่น สามพี่น้องได้มาดูเรือขนาดเล็กที่ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ มันคือเรื่องเตือนใจของการประจันหน้าแสนทารุณกับวาฬเพชรฆาตฝูงหนึ่ง ในปี 1968 พ่อของพวกเขาคือดูกัล โรเบิร์ตสัน อดีตนายทหารเรือและเป็นชาวไร่อยู่ในชนบทของอังกฤษ ดักลาส ลูกชายคนโตอายุ 14 ปี และน้องชายฝาแฝดคือแซนดี้และนีลอายุ 9 ขวบ พวกเขาเล่าว่า "เราไม่รู้หรอกครับว่าการแล่นเรือในทะเลมันเป็นยังไง พ่อก็พูดเหมือนกับมันเป็นเรื่องชิลๆ มาก จนวันหนึ่งนีลก็บอกว่าพ่อก็เป็นกะลาสีเรือ ทำไมเราไม่แล่นเรือรอบโลกกันล่ะ แล้วแม่ก็บอกว่าเป็นความคิดที่เริศเลย"

        ทุกคนลงความเห็นสนับสนุนให้ออกเรือเที่ยวกัน จนปี 1970 ผู้เป็นพ่อขายไร่มาซื้อเรือใบทำด้วยไม้แล้วตั้งชื่อมันว่าลูเซ็ตต์ (Lucette) อีกปีครึ่งต่อมาพวกเขาก็วางแผนที่จะออกเรือไปในทะเล ครอบครัวโรเบิร์ตสันอยู่ห่างจากเกาะกัลลาปากอสไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 200 ไมล์ บริเวณเดียวกับที่เมื่อปี 1820 ได้เกิดเหตุการณ์วาฬหัวทุยสายพันธุ์ใกล้ชิดกับวาฬเพชรฆาตเล่นงานเรือล่าวาฬที่ชื่อว่าเอสเส็ก (Essex) ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามันเป็นการแก้แค้นมนุษย์ที่ทำร้ายวาฬก่อน เรือขนาด 238 ตัน หักเป็นสองท่อนและจมดิ่ง เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดวรรณกรรมอเมริกันชิ้นเอก โมบี้ดิ๊ก (Mobi Dick)

       หนึ่งศตวรรษต่อมาในน่านน้ำเดียวกันนั้นครอบครัวโรเบิร์ตสันเริ่มต้นเช้าวันใหม่บนเรือลูเซ็ตต์ แซนดี้อายุ 12 ปีทำหน้าที่เป็นเวรตรวจตรายามเช้า เขาเล่าว่า "ทางกราบขวาเรือระยะทางไกลเหมือนกัน เราเริ่มเห็นวาฬเพชรฆาตฝูงหนึ่ง เราไม่ได้ใส่ใจมันมากนัก เพราะว่าค่อนข้างชินกับมันแล้ว" พวกเขาเล่า แต่วาฬพวกนี้ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย "สัญญาณแรกที่เรารู้สึกก็คือ เรือโดนชนแรงมาก มันแรงถึงขนาดที่ว่าตัวเรือลอยขึ้นมาเลยครับ เรือลูเซ็ตต์ลอยจากน้ำเกือบฟุตเลย" วาฬเพชรฆาตหนักหมื่นสองพันปอนด์พุ่งมาด้วยความเร็ว 15 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งแรงกระแทกนี้เท่ากับลุกตุ้มยักษ์ "พอเราออกไปดูที่ข้างเรือก็พบวาฬเพชรฆาตตัวใหญ่มาก เรือแตกเป็นรูเลย น้ำท่วมถึงเข่าพ่อแล้ว พ่อก็บอกว่าสละเรือ แล้วเราก็ย้ายมาอยู่กันบนเรือเล็ก" ครอบครัวโรเบิร์ตสันได้แต่นั่งมองเรือใบจมลงกลางคลื่นลม รอการโจมตีจากวาฬอีกรอบ "จำได้เลยว่าพวกวาฬยังว่ายวนอยู่รอบๆ เรือเล็ก พวกเรากลัวแทบตายเลย" เป็นที่รู้กันว่าวาฬเพชรฆาตชอบว่ายวนรอบเหยื่อก่อนจะเผด็จศึก "เราคิดกันว่า เราต้องเสร็จมันแน่ๆ เลย" แต่ปรากฏว่าพอรุ่งสางฝูงวาฬหายไป คำถามก็คือทำไมฝูงวาฬจึงเลือกจู่โจมเรือลูเซ็ตต์ พวกมันระบายความเกรี้ยวกราดเหมือนวาฬหัวทุยที่โจมตีเรือเอสเส็กเช่นนั้นหรือ หรือมันเข้าใจผิดคิดว่าเรือเป็นเหยื่อ คำตอบอาจอยู่ที่พฤติกรรมการล่าเหยื่อของพวกมัน นักวิทยาศาสตร์ปีเตอร์ ไทแยค (Peter Tyack) สามารถบันทึกเสียงของพวกมันไว้ได้ "โซน่าร์ของวาฬชนิดมีฟันมีจุดโฟกัสที่เล็กมาก เหมือนกับลำแสงไฟจากไฟฉายที่กว้างแค่หกองศา มันจะค้นหาเหยื่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกวาดไปเจอเหยื่อสักตัว"

       วาฬเพชรฆาตมีประสาทการฟังชั้นยอดในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเพื่อปรับให้เข้ากับชีวิตในทะเลมันจึงพัฒนาเป็นระบบโซน่าร์ที่เรียกว่า เอ็คโค่โลเคชั่น (Echo Location) พวกมันจะประมวลผลเสียงสะท้อนนั้น และพวกมันก็บอกกันว่านั่นคือปลา นั่นคือแมวน้ำ แต่เมื่อมันจะล่าวาฬชนิดอื่นที่ได้ยินเสียงโซน่าร์เช่นกัน มันก็ต้องปรับให้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า สเตลธ์โซน่าร์ (Stealth Sonar) ที่ออกเสียงเบาลงและน้อยครั้งลง ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ได้ยินยากขึ้น ด้วยประสาทสัมผัสเช่นนี้ จึงยากขึ้นไปอีกที่วาฬเพชรฆาตจะเข้าใจผิดว่าเสียงสะท้อนรูปร่างของเรือเป็นเสียงและรูปร่างของวาฬพันธุ์อื่น

       แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าถึงแม้จะสัญญาณจะไม่สม่ำเสมอ แต่เรือนั้นมีลักษณะเป็นโพรงต่างจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งวาฬเพชรฆาตก็น่าจะแยกออกอยู่แล้ว เลยยังคงเป็นปริศนาว่าถ้ามันไม่ได้ต้องการล่าเหยื่อ แล้วมันจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวไปทำไม และคิดว่ามันไม่ได้ทำเพื่อเล่นสนุกๆ ด้วย ซึ่งตรงนี้ครอบครัวโรเบิร์ตสันก็เห็นด้วย เพราะตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้พวกเขาเห็นว่าหัวของมันแตกด้วยตอนที่ชนเรือและเลือดไหลเต็มไปหมด เหตุการณ์ยังเป็นปริศนาว่าเหตุใดมันจึงทำเช่นนั้น ครอบครัวโรเบิร์ตสันต้องลอยคว้างกลางทะเลเป็นเวลา 38 วัน ประทังชีวิตด้วยน้ำฝนและปลาที่จับได้เป็นครั้งคราว จนมีเรือประมงของญี่ปุ่นมาเจอและได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้และมีชีวิตรอดทุกคน ในรอบห้าปีที่ผ่านมามีคดีวาฬเพชรฆาตโจมตีมนุษย์ 5 คดี และเกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของวาฬเลี้ยงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และมีถึงขั้นเสียชีวิต 1 คดี

อันดับที่ 4 หมึกยักษ์ฮัมโบลต์

 

       มันมีความยาวหกฟุต หนักกว่าร้อยปอนด์ หมึกยักษ์ฮัมโบลต์นี้มีแหล่งหากินริมชายฝั่งชิลี เรื่อยไปจนถึงบาฮาแคลิฟอร์เนียร์ ชาวประมงเม็กซิกันเรียกมันว่า "diablos rojos" หรือปีศาจแดง สก็อตต์ เคสเซลล์ (Scott Cassell) นักสำรวจใต้ทะเล เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่บันทึกภาพนักล่าสายพันธุ์ประหลาดและเทคนิคการล่าเหยื่อของมันได้ เขาเล่าว่า "มันมีหัวใจสามดวงนะครับที่จะสูบฉีดเลือดสีน้ำเงินเลี้ยงร่างกาย และก็มีเหงือกขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหมึกทั้งหมด"

      นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าหัวใจทั้งสามดวงและเหงือกขนาดใหญ่นี่เองที่ช่วยให้หมึกฮัมโบลต์ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำได้ แปลว่ามันออกล่าเหยื่อได้ทั่วเขตน้ำลึกในที่ซึ่งนักล่าชนิดอื่นไปไม่ถึง "หมึกอาจโผล่มาจากน้ำลึก 1,000 ฟุต เจอแรงดันต่อตารางนิ้วที่ต่างกันเป็น 1,000 ปอนด์ เจออุณหภูมิที่เปลี่ยนไป 40 องศา โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อตัวมันเลย เมื่อมาถึงท้องน้ำที่มีเหยื่อมันก็สามารถกลืนกินเหยื่อได้แทบทุกชนิด มันกินทุกอย่างครับ ชั่วชีวิตของหมึกฮัมโบลด์ 1 ตัว มันกินปลาหนัก 20,000 ปอนด์" สก็อตต์เล่า

      สก็อตต์ค้นพบตั้งแต่แรกเริ่มทำงานวิจัยว่านอกจากจะกินเหยื่อไม่เลือกแล้ว พวกมันยังเข้าจู่โจมโดยไม่ต้องโดนก่อกวนก่อนด้วย ปี 1995 สก็อตต์ลงดำน้ำเพื่อทำงานวิจัยตามปกติ เขาลงดำน้ำและเจอกับหมึกฮัมโบลต์เข้า เขาดีใจมาก แวบแรกที่เห็นมันเขาอึ้งกับมันมาก มันมีตาที่มีพัฒนาการสูงมาก เมื่อมันจ้องมองเรานั่นหมายความว่ามันพิจารณาเราอยู่ สก็อตต์เริ่มสังเกตเห็นว่าหมึกแสดงแสงสีให้ชม มันเปลี่ยนสีจากแดงเป็นขาวอย่างรวดเร็ว หมึกฮัมโบลต์เปลี่ยนสีที่ผิวอย่างรวดเร็วด้วยเซลล์ชนิดพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการเปลี่ยนสีมีวัตถุประสงค์ร้าย มันคือการสื่อสารของพวกหมึก

      เมื่อเห็นการเปลี่ยนสีแบบนี้ก็ให้รู้ไว้ว่า มันกำลังล่อหลอกคุณอยู่ ในเวลานั้นสก็อตต์ไม่รู้เลยว่ารอบตัวเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาถูกพวกมันทั้งฝูงล้อมเอาไว้ แล้วเขาก็รู้สึกว่าเห็นอะไรแว้บๆ ที่หางตา และถูกจู่โจม เขาถูกกระแทกที่หน้าแรงมาก กล้องกระแทกเข้าที่หน้าจนจมูกหัก หมึกใช้หนวดพันรัดร่างของเขา กำลังของหนวดของมันนั้นน่าตกใจจริงๆ มันเหมือนกับโดนสายเคเบิลเหล็กรัด จนเขานึกไม่ถึงว่าหมึกตัวนิ่มๆ จะมีแรงรัดได้ขนาดนี้ มันรัดเขาและลากเขาลงไปกว่า 50 ฟุต จนแก้วหูข้างขวาของสก็อตต์ฉีก แต่จู่ๆ หมึกก็ปล่อยตัวเขา เหมือนที่จู่ๆ ก็เข้ามาเล่นงานเขา และสุดท้ายมันก็ว่ายหนีไป สก็อตต์ค่อยๆ ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ เขารอดตายจากการจู่โจมที่อาจถึงตายมาได้ประสบการณ์แบบที่สก็อตต์เจอไม่ได้พิเศษมากนัก ชาวประมงในท้องถิ่นล้วนแล้วแต่เคยเผชิญหน้ากับเจ้าหมึกฮัมโบลต์มาแล้วทั้งนั้น แม้จะมีรายงานผู้เสียชีวิตเพียงสองราย แต่เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่ามีอีกกี่รายที่ไม่ได้รายงาน

อันดับที่ 3 ฉลามขาวยักษ์ (Great White Shark)

 

      ปลานักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวอาจยาวกว่า 20 ฟุต และหนักมากถึง 5,000 ปอนด์ ฉลามขาวยักษ์พบอยู่ริมทะเลตามมหาสมุทรใหญ่ๆ ทั้งหมด มันรอดพ้นจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาได้ทุกครั้ง เมื่อ 65 ล้านปีก่อนตอนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแต่ฉลามก็ยังรอดมาได้ ในบรรดานักล่าที่ติดอันดับ มันคือสัตว์ที่คนกลัวที่สุด ปีเตอร์ เบนช์ลีย์เขียนเรื่องจอวส์ขึ้นมาจนทำให้มีคนกลัวฉลามกันทั่วโลก คนเรานึกทึ่งและกลัวฉลามกันมาตลอด เคยมีหลักฐานในยุคแรกๆ อย่างอริสโตเติลก็เอ่ยถึงฉลามว่าเป็นปีศาจจากทะเล ชื่อเสียงของฉลามขาวยักษ์คู่ควรกับมันจริงๆ

      มนุษย์นั้นไม่สามารถสู้รบปรบมือกับสัตว์ขนาด 17 ฟุต หนัก 4,000 ปอนด์ มีฟันคมเหมือนกับมีดแล่เนื้อและก็ว่ายน้ำได้เร็วถึง 35-40 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ ถ้าฉลามมันอยากกินคุณ มันจะได้กินแน่นอน คงไม่มีใครรู้เรื่องการโจมตีของฉลามได้เท่ากับ แจ๊ค โรเช็ตต์ (Jack Rochette) นักดำน้ำ ปี 1964 แจ๊คอายุ 21 ปี เขาเป็นคนที่หลงใหลการดำน้ำ วันที่ 13 มกราคม เขากับเพื่อนๆ ตัดสินใจเช่าเรือแล้วแล่นไปยังแหล่งแทงฉมวกปลาเลื่องชื่อ เขาเล่าว่า "ผมก็เฉียดฉิวกับฉลามขาวยักษ์มาบ้างเหมือนกัน เคยโดนเล่นงานมาสองสามครั้งก่อนหน้านี้ปีนึง ก็มีหนนึง มันคงเป็นเรื่องโง่มากที่จะกลับไปแถวนั้นแล้วอาจจะโดนฉลามเล่นงาน แล้วผมก็สัญญากับตัวเองแล้วว่าจะไม่กลับไปอีก"

      แต่แจ๊คก็ถูกเพื่อนๆ เกลี้ยกล่อมให้กลับไปอีกเป็นครั้งสุดท้าย "เราลงไปด้วยกัน 4 คนครับ เพื่อนผมอีกสามคนอากาศหมดก็เลยขึ้นไปก่อน เหลือผมอยู่ใต้น้ำคนเดียว จู่ๆ ก็เป็นเสียงตู้ม ฉลามมันพุ่งมากัดผมด้วยพลังที่รุนแรงมาก มันกระโจนขึ้นจากน้ำโดยคาบผมไว้ในปาก มันสะบัดยังกับผมเป็นตุ๊กตา มันงับขาผมรวบสองข้างเลย เลือดเงี้ยแดงเต็มไปหมด ผมเห็นแต่ฟันมัน" แจ๊คเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกฉลามโจมตีให้ฟัง

      ตลอดสิบปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์อย่างด็อกเตอร์นีล แฮมเมอร์ชลักพยายามศึกษาสัตว์นักล่าหาตัวยากนี้ แต่จากการศึกษาฉลามทุกสายพันธุ์ ฉลามขาวยักษ์น่าสนใจมากเป็นพิเศษ ฉลามมีประสาทรับกลิ่นที่เยี่ยมมาก อย่างฉลามขาวยักษ์นี่ 20% ของสมองของมันทำงานเกี่ยวกับการรับกลิ่นโดยเฉพาะ ฉลามในทะเลเปิดส่วนมากนั้นก็คล้ายกับสุนัขบลัดฮาวน์ ฉลามขาวยักษ์คือศัตรูที่น่าเกรงขาม เพราะไม่เพียงแต่มีประสาทรับกลิ่นที่ดีเท่านั้น มันยังมีสัมผัสพิเศษอื่นอีกด้วย มันมีประสาทสัมผัสที่พัฒนาไปไกลมากและพิเศษมาก

     มันจะมีประสาทสัมผัสสองสามอย่างที่มนุษย์ไม่มี เช่น จับการเคลื่อนไหวได้มันมีตัวรับแรงกดดัน โครงข่ายเส้นเลือดที่รับแรงสั่นสะเทือนในน้ำ และยังช่วยให้ฉลามรับรู้หย่อมความกดอากาศจนมันสามารถหลบเลี่ยงสภาพอากาศรุนแรงได้ สัมผัสอีกอย่างคือ สัมผัสทางกระแสไฟฟ้า ฉลามมีกลุ่มปลายประสาทสัมผัสกระจุกอยู่ที่หัว ซึ่งช่วยให้มันรับรู้กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากสิ่งมีชีวิตอื่นได้ ฉลามสามารถรับรู้กระแสไฟ เศษ 5 ส่วนพันล้านโวลต์ได้ ก็เหมือนเราปล่อยกระแสไฟจากถ่านไฟฉายแล้วก็รับรู้ไปได้ไกล 10,000 ไมล์ ฉลามมีประสาทสัมผัสที่รับรู้กระแสไฟฟ้าได้มากกว่าสัตว์ทุกชนิดบนโลกถึง 5 ล้านเท่าทีเดียว

     สัตว์โลกทุกชนิดปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา แม้แต่มนุษย์ของเรา เมื่อครั้งที่แจ๊คถูกโจมตี เขาดิ้นรนจนหมดแรง จู่ฉลามก็ปล่อยเขา เขาหลุดออกมาได้แล้วขึ้นมาที่ผิวน้ำ ในตอนนั้นยังมีฉลามว่ายวนอยู่รอบๆ ตัวผม จนเขาจะหมดแรงจริงๆ จู่ๆ ฉลามก็หายไปหมด เขาถึงรอดตายมาได้ ทำไมฉลามขาวยักษ์จึงว่ายจากไปโดยไม่ฆ่าเหยื่อ ผู้เชี่ยวชาญตั้งทฤษฎีเอาไว้ว่า ราว 96% ของทั้งหมด ฉลามจะกัดหนึ่งครั้งแล้วก็หายตัวไป ถ้ามันคิดว่าคุณคืออาหารมันจะกัดคุณแรงมาก เพื่อความสำเร็จในการล่าฉลามต้องกัดครั้งแรกให้ตาย และวิธีที่ฉลามกินแมวน้ำหรือปลานั้นไม่เหมือนวิธีที่มันกัดคน

     ฉลามขาวยักษ์กัดคนเพราะว่ามันกำลังหาอาหาร ฉะนั้นสิ่งที่มันต้องการเพื่อให้คุ้มกับการเสียพลังงานในการว่ายน้ำนำร่างหนัก 2,000 ปอนด์ฝ่าไป 40 ไมล์ต่อชั่วโมง มันก็ต้องการไขมันหนาๆ มันต้องการวาฬหรือแมวน้ำที่ตัวอ้วนๆ แต่เมื่อมันกัดคนแล้วให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน มันใช้ฟันในการตรวจสอบเหยื่อ ความที่เราเห็นฉลาม เราคิดเอาเองว่ามันก็เห็นเรา ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสมอไป อาจจะมีฉลามขาวยักษ์ที่ไม่เคยเห็นหรือรู้จักมนุษย์เลยก็ได้

     แต่ไม่ว่าจะเป็นการกัดเพื่อตรวจสอบเหยื่อก่อนกินหรือกัดเพื่อทำร้าย บาดแผลของแจ๊คก็สาหัสมาก แจ๊คต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยยามฝั่งตรงไปยังโรงพยาบาลซานฟรานซิสโกเพื่อผ่าตัดด่วน เขาโชคดีมากที่รอดตายมาได้ แต่ทำไมฉลามจึงเลือกเล่นงานเขาก็คงไม่มีทางรู้ได้ ทำไมฉลามที่ว่ายน้ำร่วมกับคนแล้วไม่ทำร้ายใครเลย แต่พออีกวันฉลามตัวเดียวกันว่ายน้ำเจอคนอีกกลุ่มแล้วกัดคนเข้า เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ได้ แรงกัดอันมหาศาลและเหตุจูงใจที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้มันได้รับฉาลาเพชรฆาตแห่งท้องทะเลที่น่ากลัว แต่พอดูจากจำนวนผู้เสียชีวิต ฉลามขาวยักษ์เป็นต้นเหตุให้คนเสียชีวิตเพียง 3 รายในรอบห้าปี น้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์นักล่าในลำดับต่อไป

อันดับที่ 2 จระเข้น้ำเค็ม (Saltwater Crocodile)

 

      สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ลำตัวของมันอาจยาวกว่า 23 ฟุต หนักถึง 2 ตัน ถิ่นอาศัยของมันคือตั้งแต่อินเดียถึงออสเตรเลีย ที่ซึ่งมันได้ชื่อว่าเป็นสัตว์กินคนไร้ความปราณี จระเข้น้ำเค็มได้ชื่อว่าดุร้ายและอันตรายมากเป็นพิเศษ ถ้าเป็นแถวภาคเหนือของออสเตรเลีย คุณไม่มีทางเลยที่จะไปยืนอยู่ริมน้ำโดยไม่ระวังตัวเอง จระเข้น้ำเค็มมีหูและสายตาคมกริบ เช่นเดียวกับปลายประสาทตามผิวหนังที่สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนใต้น้ำแม้เพียงน้อยนิด เมื่อสัตว์ที่อาจเป็นเหยื่อลงมาในน้ำ ประสาทรับแรงกดดันของจระเข้จะรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนั้น เมื่อรับรู้ถึงสัตว์ที่อาจเป็นเหยื่อ จระเข้จะศึกษาวิเคราะห์เหยื่อรายนั้น

      จระเข้จะปรากฏตัวตามแต่กิจวัตรของเหยื่อ ตามพฤติกรรมเหยื่อรายวันหรือแม้แต่รายสัปดาห์ได้ เมื่อจระเข้มั่นใจในกิจวัตรของเหยื่อแล้ว มันก็พร้อมเข้าเล่นงาน มันแหวกน้ำเข้าไปหาเหยื่อโดยแทบไม่ทำให้เกิดคลื่นด้วยซ้ำ เหยื่อก็หมดโอกาสรอด หลังจากที่ตามเหยื่อมานาน พอเหยื่อลงมากินน้ำที่ริมน้ำ มันก็จะกระโจนเข้าหาเหยื่อโดยใช้หางเป็นแรงผลัก ถ้าลองดูที่หางของจระเข้ มันเป็นกล้ามเนื้อที่หนามาก ปล่อยแรงผลักได้เยอะมาก สามารถปล่อยกำลังได้มหาศาลดันตัวเองให้สู่ผิวน้ำได้เร็ว งับเหยื่อแล้วกระชากลงน้ำ จากนั้นมันจะม้วนตัวไปมา จับเหยื่อกดน้ำ ส่วนใหญ่เหยื่อจะจมน้ำตาย

      จระเข้น้ำเค็มขย้ำเหยื่อ บดกระดูกด้วยแรงกดที่ทรงพลังมากกว่าของสิงโตถึง 10 เท่า นักวิทยาศาสตร์เคยวัดแรงกัดได้ประมาณ 10,000 นิวตัน มันก็เหมือนกับหินก้อนใหญ่ขนาดหนึ่งตันหล่นทับคุณ คร็อกโคไดล์ ฮันเตอร์ของออสเตรเลีย สตีฟ เออร์วิน ที่เสียชีวิตไปแล้วใช้เวลาช่วง 2 ปีสุดท้ายทำงานกับเกร็ก แฟรงคลิน และทีมนักวิจัยจากสวนสัตว์ออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เพื่อติดตามจระเข้น้ำเค็ม ทีมวิจัยนั้นจับจระเข้ป่ามาเพื่อติดป้าย ติดตามพฤติกรรมการอพยพด้วยดาวเทียม ผลการศึกษาขั้นต้นน่าประทับใจมาก จระเข้น้ำเค็มเป็นนักว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรชั้นเยี่ยม ทีมวิจัยตรวจพบว่ามันว่ายไปไกลกว่า 900 กิโลเมตร

     จระเข้รู้วิธีโต้คลื่นไปพร้อมกับกระแสน้ำ เพื่อไปหากินตามชายฝั่งของออสเตรเลียเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย จระเข้น้ำเค็มทั้งเงียบ ฉลาดและมีความอดทน จึงจัดเป็นหนึ่งในนักฆ่าลึกลับที่ประสบความสำเร็จในการล่าของโลกใต้ทะเล เนื่องจากถิ่นอาศัยของมันนั้นอยู่ห่างไกลผู้คน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะมันอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้บันทึกไว้ เฉพาะตัวเลขที่ปรากฏมีการทำร้ายคนราว 150 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 50 รายในรอบห้าปีที่ผ่านมา

อันดับที่ 1 แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish)

 

     มันมีความยาวถึง 10 ฟุต แต่หนักแค่ 4 ปอนด์ ได้ชื่อเรียกมาจากหมวกที่รูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม แมงกะพรุนกล่องพันธุ์ใหญ่และอันตรายที่สุดพบอยู่ตามแนวชายฝั่งของออสเตรเลียและอินโดแปซิฟิก มันอาจดูไร้พิษสงดูบอบบาง แต่สิ่งที่ทดแทนพละกำลังของมันก็คือพิษที่ร้ายแรงที่สุดในโลก พิษของมันฆ่าผู้ใหญ่ได้ในเวลาไม่ถึง 3 นาที โลกนี้ไม่มีพิษใดทั้งงู แมงมุม แมงป่องที่สามารถฆ่าคนได้รวดเร็วเท่านี้ ความร้ายแรงของพิษวัดกันเป็นหน่วยที่เรียกว่า LD50 ตามหน่วยการวัดแบบนี้ พิษของแมงกะพรุนกล่องเลวร้ายกว่าพิษของแมงป่อง 8 เท่า รุนแรงกว่าพิษของงูหางกระดิ่ง 50 เท่า และรุนแรงกว่าผึ้งธรรมดา 150 เท่า

     ตามชายหาดของออสเตรเลียมีป้ายเตือนว่าผู้ลงเล่นน้ำต้องรับผิดชอบความเสี่ยงเอง แต่เจ้าแมงกะพรุนกล่องไม่ได้อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งเท่านั้น คนมักจะเข้าใจว่า แมงกะพรุนกล่องก็เหมือนแมงกะพรุนทั่วไปที่ลอยตัวไปตามน้ำอย่างไร้จุดหมายแล้วแต่กระแสน้ำจะพาไป แต่ว่าแมงกะพรุนกล่องต่างออกไปมาก มันว่ายน้ำเก่งมาก และมันยังมีตาที่มองเห็นภาพได้ ตาทั้ง 24 ดวงทำให้แมงกะพรุนกล่องมองเห็นเหยื่อได้ในแบบไม่ธรรมดา มันสามารถพาตัวไปตรงไหนก็ได้ แต่สำหรับสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะสำหรับคิดชั้นสูงเช่นสมอง เรื่องนี้มันก็น่าทึ่งมากๆ ว่ามันทำได้ยังไงกัน

     ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย แม่น้ำคาลิโอพี (Calliope River) อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ เจฟฟ์ ชาร์ดโลว์พนักงานโรงงานกับรูธผู้เป็นภรรยานั่งหลบร่มอยูคอยดูลูกๆ ของพวกเขา เรเชลอายุสิบขวบและแซมอายุ 10 ขวบ เล่นอยู่ริมน้ำ รูธเล่าว่า "เรเชลชอบกรี๊ดกร๊าดค่ะเวลาที่แกตื่นเต้น แกจะร้องกรี๊ดๆ เล่นสาดน้ำกันสนุกสนาน ฉันยังจำได้ว่าเจฟฟ์อยากให้เรเชลกรี๊ดให้น้อยๆ ลงหน่อย เพราะเราไม่รู้ว่าลูกกรี๊ดเพราะมีปัญหาหรือเพราะว่าแกกำลังสนุกสนาน"

     เสียงกรี๊ดกร๊าดสนุกสนานของเรเชลเปลี่ยนเป็นเสียงกรีดร้องเพราะความทรมาน มีอะไรบางอย่างรัดขาเธอไว้ มันพันรัดขาของเรเชลไว้แน่นไม่ยอมปล่อย การเปรียบเทียบความเจ็บปวดของคนที่เคยโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องคือเหมือนกับการเอามีดใหญ่ๆ ไปลนไฟจนเป็นสีแดงแล้วเอามีดนั้นมากรีดลงบนผิวหนังของเรา ความเจ็บนี้ต้องคูณไปอีกสิบเท่าค้างไว้อย่างนั้น มันไม่ใช่เจ็บแล้วก็หายแต่มันเจ็บอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา "แล้วฉันก็เห็นขาของลูกค่ะ ฉันไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อนเลยจริงๆ และก็ขอให้อย่าได้เห็นอีกเลย มันมีแต่หนวดพันรอบขาข้างหนึ่งของลูกเอาไว้น่ะค่ะ" แม่ของเรเชลเล่า

     การบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตเกิดจากหนวดยาว 9 ฟุต 1 เส้น แต่แมงกะพรุนกล่องมีหนวดถึง 60 เส้น แมงกะพรุนกล่องตัวใหญ่ๆ มีหนวดมากพอที่จะฆ่าผู้ใหญ่ได้ถึง 60 คนเลยทีเดียว "ฉันพยายามจับและกระชากหนวดแมงกะพรุนออก แต่มันไม่ขยับเลย กลับยิ่งรัดแน่นเข้าไปใหญ่" รูธเล่า

     แมงกะพรุนกล่องมีเซลล์เข็มจิ๋วๆ ที่เรียกว่านีมาโตซีสต์ (Nematocysts) ซึ่งมันอาจจะยาวแค่ 50 ไมครอนหรือแค่เสี้ยวมิลลิเมตร แต่มันอาจจะมีเป็นล้านๆ อันต่อตารางเซ็นติเมตร แรงกดของเข็มอยู่ราวๆ 20,000 Psi หรือปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใกล้เคียงกับแรงกดของลูกปืนขนาด .45 ที่ยิงออกมา เข็มของแมงกะพรุนอาจพุ่งออกมาได้ในเวลาแค่เศษหนึ่งส่วนสองหมื่นห้าพันวินาที เป็นหนึ่งของเซลล์สิ่งมีชีวิตที่ทำงานเร็วที่สุดบนโลก

     ขณะนั้นเองเสียงกรีดร้องและความวุ่นวายที่ริมน้ำดึงดูดความสนใจของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ตั้งแคมป์อยู่บริเวณนั้น พอรู้ว่ามีเด็กโดนแมงกะพรุน คนที่เป็นภรรยารีบวิ่งไปหยิบขวดน้ำส้มสายชูมาราดทั่วตัวเรเชล เหลือเชื่อมากว่าทันทีที่แมงกะพรุนถูกน้ำส้มสายชูมันก็ปล่อยหนวดของมันทันที น้ำส้มช่วยหยุดเข็มพิษไม่ให้ปล่อยพิษ แต่มันไม่ช่วยล้างพิษที่เข้าสู่ร่างกายเรเชลไปก่อนหน้านี้ ถึงเวลานี้ชีพจรของเรเชลอ่อนมาก พิษของแมงกะพรุนกล่องมีผลต่อหัวใจของสัตว์มีกระดูกสันหลัง มันหยุดกล้ามเนื้อหัวใจได้ ระหว่างทางไปโรงพยาบาลเรเชลได้รับยาต้านพิษจึงได้สติขึ้นมา ไม่กี่นาทีต่อมาเรเชลเจ็บปวดแสนสาหัสจนแพทย์เกรงว่าเธออาจจะหัวใจวาย

     ในตอนนั้นก็ต้องตัดสินใจกันว่าหมอจะทำให้เรเชลอยู่ในอาการโคม่าเพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง หยุดความเสียหายของสมอง เวลานี้ก็ได้แต่รอเท่านั้นว่ายาต้านพิษจะทำงานทันเวลาหรือไม่ สองวันต่อมาเรเชลพ้นจากอาการโคม่า เรเชลรอดชีวิตจากการถูกแมงกะพรุนกล่องทำร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มาได้ เธอรอดตายจากพิษที่มากกว่าทุกคนที่เคยมีบันทึกไว้ เธอยังมีชีวิตอยู่ทั้งที่แม้แต่ผู้ใหญ่ที่โดนแค่ครึ่งเดียวก็อาจจะตายได้ บาดแผลตามตัวเธอนั้นเริ่มจางลงแล้ว แต่บาดแผลในใจคงอยู่อีกนานกว่าจะหาย เมื่อถามเธอว่าจะลงเล่นน้ำอีกหรือไม่ เธอตอบว่า "ไม่ค่ะ ไม่เอาแล้ว ก็อาจจะเดินย่ำน้ำบ้าง แต่จะไม่เกินหัวเข่าค่ะ"

     เราไม่มีตัวเลขแน่ชัดถึงยอดผู้เสียชีวิต เนื่องจากหลายๆ กรณีเกิดในพื้นที่ห่างไกล แต่กระนั้นสถิติที่มีบันทึกไว้ว่ามีผู้ถูกทำร้ายโดยแมงกะพรุนกล่อง 200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 100 คน ทำให้แมงกะพรุนกล่องเป็นอันดับหนึ่งของสัตว์นักว่าใต้ทะเลที่อันตรายที่สุดต่อมนุษย์

ที่มา: http://www.anyapedia.com/2015/04/5.html

Credit: http://board.postjung.com/905513.html
18 ส.ค. 58 เวลา 13:11 1,660 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...