ในอดีต เมื่อครั้งที่โลกอายุยังน้อย ระบบสุริยะยังปั่นป่วนกว่าในยุคปัจจุบันมาก มีเศษสะเก็ดดาวปลิวว่อนไปทั่วระบบสุริยะ สะเก็ดดาวบางลูกอาจมีโอกาสชนโลก ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะทะลุชั้นบรรยากาศมาถึงพื้นกลายเป็นอุกกาบาต สร้างผลกระทบต่อโลกทั้งทางธรณีวิทยาและชีววิทยา จะมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่ขนาดและความเร็วที่พุ่งชน บางลูกใหญ่มาก ทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนโลกเป็นหลุมอุกกาบาต บางหลุมยังคงปรากฏให้เห็นได้แม้ทุกวันนี้
หลุมอุกกาบาตที่มีชื่อมากที่สุด มีชื่อว่าหลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ (Barringer)
อยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีปากหลุมกว้างถึง 1.2 กิโลเมตร และลึกถึง 180 เมตร เป็นหลุมแห่งแรกในโลกที่ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าเกิดจากการชนของอุกกาบาต
หลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ มีขนาดกว้าง 1.2 กิโลเมตร ลึก 180 เมตร อาจเกิดจากการชนของฝูงอุกกาบาต ไม่ใช่อุกกาบาตเดี่ยวอย่างที่เคยคิดกันไว้
นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าหลุมนี้เกิดขึ้นเมื่อราว 50,000 ปีก่อนเมื่ออุกกาบาตยักษ์แบบเหล็ก-นิกเกิลลูกหนึ่งพุ่งชนด้วยความเร็ว 15-20 กิโลเมตรต่อวินาที
ปกติ เมื่อมีการพุ่งชนจะเกิดการระเบิดรุนแรงและความร้อนมหาศาล ทำให้หินบริเวณที่ชนหลอมละลายไปบางส่วน และหินเหล่านั้นก็ยังคงปรากฏอยู่ทั่วไปบริเวณนั้นแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน ในกรณีของหลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์พบว่ามีหินแบบดังกล่าวอยู่ไม่มากนัก แต่กลับมีวัตถุประเภทอุกกาบาตที่ยังไม่ผ่านการหลอมละลายขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่ว
สำหรับสาเหตุที่พบหินหลอมละลายเป็นปริมาณน้อย นักธรณีวิทยาหลายคนได้พยายามเสนอทฤษฎีไปหลายทาง เช่น บางคนเชื่อว่ากระบวนการกัดกร่อนตามธรรมชาติในช่วงเวลา 50,000 ปีที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญ บ้างก็เชื่อว่าแรงระเบิดจากการพุ่งชนนั้นเองได้ทำลายหินเหล่านั้นไปส่วนหนึ่ง
แต่นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์สองคน คือ เจย์ เมลอช จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและกาเรท คอลลินส์ จากวิทยาลัยอิมพีเรียล ได้เสนอทฤษฎีใหม่ที่แหวกแนวออกไปอีก เขาเชื่อว่าหลุมอุกกาบาตนี้ไม่ได้เกิดจากวัตถุเดี่ยวพุ่งชนด้วยความเร็วสูง แต่เกิดจากการชนของฝูงของอุกกาบาตด้วยความเร็วต่ำ ความเร็วอาจอยู่ที่ประมาณ 12 กิโลเมตรต่อวินาที
จากการสร้างแบบจำลองการชนด้วยคอมพิวเตอร์ เมลอช และคอลลินส์พบว่า เมื่อวัตถุที่พุ่งชนซึ่งเดิมเป็นวัตถุเดี่ยวได้เข้าสู่บรรยากาศโลก คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นทำให้วัตถุนั้นเริ่มแตกออกเป็นชิ้นที่ระดับความสูง 14 กิโลเมตร และเมื่อพุ่งเข้ามาจนอยู่เหนือพื้นดินเพียง 5 กิโลเมตร ฝูงอุกกาบาตที่เกาะกลุ่มกันนั้นได้แผ่เป็นแผ่นกว้างถึง 200 เมตร และแม้จะมีชิ้นส่วนแตกออกเป็นหลายลูก แต่ยังคงเหลือลูกใหญ่อยู่หนึ่งลูกที่ยังมีมวลถึงครึ่งหนึ่งของลูกเดิม
ความเร็วการพุ่งชนที่ต่ำอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหินหลอมละลายไม่มากนักตามที่สำรวจพบก็ได้ นอกจากนี้ ทฤษฎีนี้ยังอธิบายได้ด้วยว่าเหตุใดจึงพบเศษอุกกาบาตขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณนั้น