พุทธประวัติ: พระอวโลติเกศวรมหาโพธิ์สัตว์(พระโพธิ์สัตว์กวนอิม)

 

มหาโพธิสัตว์กวนอิมคนไทยให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก พระโพธิสัตว์กวนอิมเกิดชาติสุดท้ายเป็นมนุษย์ แต่เดิมเป็นเทพธิดา ได้จุติลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อน พระโพธิสัตว์กวนอิม มีพระนามว่า “เมี่ยวซ่าน” เป็นราชธิดาของกษัตริย์เมี่ยวจวง แห่งอาณาจักรซิงหลิง อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศจีน พระธิดาเป็นผู้มีจิตใจดีงาม มีน้ำพระทัยเมตตา กรุณาต่อทุกสรรพสิ่ง

เมื่อเยาว์วัย ทรงลึกซึ้งถึงหลักธรรม ได้ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ ในการบำเพ็ญภาวนา เพื่อความหลุดพ้นทุกข์ จึงทรงออกบวช พระบิดา เมี่ยวจวงทรงไม่เห็นด้วย มีพระประสงค์ให้อภิเษกสมรส จึงได้บังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป แต่พระธิดาเมี่ยวซ่านไม่ยินยอม ถึงแม้จะถูกพระบิดาทรงต่อว่า พระธิดาเมี่ยวซ่าน ไม่เคยนึกโกรธแต่อย่างใดเลย

ถึงจะให้พระธิดาเมี่ยวซ่าน ไปทำงานหนักในสวนดอกไม้ บ้างหาบน้ำ เพื่อต้องการทรมานให้เปลี่ยนความตั้งใจให้หันมาอภิเษกสมรส เมื่อพระราชบิดา ทรงเห็นว่าไม่ได้ตามต้องการแล้ว จึงสั่งให้หัวหน้าแม่ชี นำพระธิดาเมี่ยวซ่านไปอยู่ที่วัดนกยูงขาว พร้อมให้งานของวัดมอบให้ พระธิดาทำคนเดียว พระธิดาได้ทำงานทั้งหมดอย่างไม่ย่อท้อ พระบิดาทรงเข้าพระทัยว่า เหล่าแม่ชีไม่ได้ทรงทำตามรับสั่งไว้ จึงเกิดความไม่พอพระทัย สั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาว สุดท้ายพระธิดาเมี่ยวซ่านทรงรอดชีวิตมาได้  พระราชบิดาทรงทราบเรื่อง จึงสั่งให้นำตัวพระธิดาไปประหารชีวิต แต่ด้วยพระราชธิดาทรงมี เหล่าองค์เทพคอยคุ้มครองรักษาอยู่ จึงรอด ปลอยภัยจากการประหารชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า

ในขณะนั้นได้ปรากฏ เสือเทวดาตัวหนึ่ง ได้พาพระธิดาเมี่ยวซ่าน หนีไปที่เขาเซียงซัน ขณะนั้นได้มีเทพแปลงร่างเป็นชายชรามาโปรด เพื่อแนะการบำเพ็ญเพียรและการดับทุกข์ ในที่สุดพระธิดาเมี่ยวซ่าน สามารถสำเร็จธรรมขั้นสูง บรรลุมรรคผล ในเวลานั้นพระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งถือได้เป็นเป็นชาวพุทธ แต่เมื่อมีเทพได้แปลงกายลงมาโปรดแนะการบำเพ็ญดับทุกข์ในภายหลัง ซึ่งเป็นเทพฝ่ายเต๋า จึงสำเร็จในธรรมขั้นสูง พระโพธิสัตว์กวนอิม จึงเป็นทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋า ในขณะเดียวกัน

พระนามกวงซีอิม

กวง แปลว่า มอง มองด้วยปัญญา มองด้วยการพิจารณา ซี แปลว่า โลก , สังคม อิม แปลว่า เสียง ,กระแสเสียง กวงซีอิม แปลว่า มองเสียงโลก

การบำเพ็ญเป็นพระโพธิสัตว์ ต้องบำเพ็ญจิตให้เข้มแข็งและกล้าแกร่ง ทุกขณะจิตย่อมให้เกิดประโยชน์ต่อสรรพสิ่งและสรรพชีวิต ไม่เห็นแก่ตัว , ไม่เห็นแก่ได้,ไม่เห็นแก่นอน , ไม่เห็นแก่กิน,ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ หากการบำเพ็ญยิ่งสูงขึ้น จนจิตไร้การยึดติด เกิดจิตที่เป็นอิสระ ยอมสละ แม้กระทั่งเลือดเนื้อ อวัยวะน้อยใหญ่ และยอมเสียแม้ชีวิตของตน เป็นต้น

คุณธรรมของพระโพธิสัตว์ คือ ต้องมีสัจจะ มีธรรม สำรวจตรวจจิตตนเอง ไม่อวดตน มีอุเบกขา อารมณ์สงบนิ่ง มีความอดทน อารมณ์ แห่งโพธิสัตว์ คือ เมตตาอภัยทาน ไม่ยึดติด ยอมรับกฎไตรลักษณ์ เข้าถึงสัจธรรมของความเป็นจริง เป็นต้น
คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ คือ เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสกิเลส มีจิตเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่งขยายน้ำใจออกไปอย่างไม่ มีขอบเขตที่สิ้นสุด มีอุบายวิธีการอันแยบคายในการสอนอย่างชาญฉลาด แนะนำสั่งสอนให้เห็นความจริงของโลกและเข้าถึงสัจธรรม องค์สมมติพระโพธิสัตว์กวนอิมในปางต่าง ๆ ได้แก่ ปางพันเนตรพันกร ปางเหยียบมังกร ปางเหยียบปลามังกร ปางประทานพร ปางอุ้มบาตร ฯลฯ

 

สิ่งของต่าง ๆ ในพระหัตถ์ปางพันเนตรพันกร

สุริยัน จันทรา หมายถึง ปัญญารู้เท่าทันในอารมณ์ต่างๆ ประนมกร หมายถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพในพุทธะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โอบอุ้มโลก หมายถึง ความเมตตากรุณา และการเป็นอภัยทาน ลูกประคำ,เชือก หมายถึง ความไม่ประมาท ยึดมั่นในศีล อบรมจิต ฝึกปฏิบัติอยู่เสมอ คันศร,ลูกศร หมายถึง ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีหลักการ หลุดพ้นวัฏสงสารการตายการเกิด คัมภีร์, สมุด หมายถึง ศึกษาทบทวนพระธรรมเสมอ ดอกบัว หมายถึง ความใสสะอาดบริสุทธิ์ คนโทน้ำทิพย์ หมายถึง น้ำทิพย์รักษาโรค เสริมสิริมงคลแก่สัตว์โลก ผู้ตั้งมั่นในธรรม พระแสงดาบ หมายถึง ปัญญาฆ่ากิเลส พระแสงขวาน หมายถึง ปราบมาร โลภ โกรธ หลง มิจฉาทิฐิ ธรรมจักร หมายถึง ทรงลื้อขนสัตว์โลก สืบทอดเผยแพร่พระศาสนา เชือกบ่วงบาศ หมายถึง เครื่องช่วยฉุดสัตว์โลกให้พ้นจากภัยอันตราย (ล้วนเป็นปริศนาธรรม)

เมื่อท่านเคารพต่อพระโพธิสัตว์แล้ว หรือถึงขั้นศรัทธาต้องการมุ่งสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ แม้กระทั่งเคยฝากตัวเป็นลูกศิษย์มา ด้วยการอธิษฐาน ทางจิต หรือเข้าสำนักธรรมเพื่อการปฏิบัติ ควรฝึกจิตให้นิ่งสงบเป็นอารมณ์อยู่ตัวเสมอจนเกิดความเป็นปกติของจิต ไม่ว่าคำด่า คำชม ก็ไม่ให้เป็นไปตาม กระแสของอารมณ์อื่น ให้เป็นเพียงจิตสงบ ไม่ยึดติดในคำนินทาว่าร้าย และคำสรรเสริญ เมื่อจิตสงบได้ ย่อมเกิดปัญญา ปัญญาที่ดีทำให้จิตแช่มชื่น เมื่อจิต แช่มชื่น ร่างกายย่อมผ่องใสไม่มีทุกข์ร้อน และการอธิษฐานบารมีส่งแผ่ให้โลกเกิดสงบสุข ให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน แผ่เมตตาให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย จิตแห่งการอธิษฐานจิตบารมีนี้เป็นจิตที่สูง ช่วยหนุนจิตท่านเป็นผู้ให้ที่ดี ไม่เป็นผู้ขอ เป็นจิตผู้เสียสละไม่โลภ ไม่หลงไปตามกระแส ไม่ยึดติด มีจิตเป็นอิสระ การปฏิบัติธรรมขั้นสูงของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ล้วนมีมหาอุปสรรค(เครื่องกีดขวางการเข้าถึงโพธิจิต) จึงจำเป็นต้องสร้างความอดทน เพียรพยายามภาย ในจิตใจเป็นอย่างสูง ให้ดวงจิตเกิดความเข้มแข็ง และการเสียสละอย่างแท้จริง เพื่อจะได้ไม่ท้อถอยไปเสียก่อน ในการเข้าถึงธรรมขั้นสูงต่อไป

“ขอน้อมสักการะ ด้วยความเคารพ ศรัทธาด้วยใจ พร้อมระลึกนึกถึงพระคุณ พระโพธิสัตว์กวนอิม พระองค์ทรงเจริญเมตตาในธรรม อย่างไม่มีขอบเขต ทรงช่วยเหลือมวลสรรพสิ่งให้พ้นทุกข์แห่งวัฏสงสาร”

 

พระอวโลกิเตศวร (เทวนาครี अवलोकितेश्वर , โรมัน Avalokiteśvara , จีน 觀世音) พระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน ที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด และเป็นเสมือนปุคคลาธิษฐานแห่งมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เรื่องราวของพระอวโลกิเตศวรปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์สันสกฤตของมหายาน อาทิ ปฺรชฺญาปารมิตาสูตฺร, สทฺธรฺมปุณฑรีกสูตฺร และการณฺฑวยูหสูตฺร

ความหมายของพระนาม

คำว่า อวโลกิเตศวร ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่าอวโลกิเตศวรมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือพระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง, ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์ นอกจากนี้นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ จึงถือได้ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตว์พระองค์อื่นหามีไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้
พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง

 

พระอวโลกิเตศวรในฐานะเป็นพระธยานิโพธิสัตว์

พุทธศาสนามหายานได้จำแนกพระโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ ประเภท อันได้แก่ พระมนุษิโพธิสัตว์ และ พระธยานิโพธิสัตว์

พระมนุษิโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ในสภาวะมนุษย์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำลังบำเพ็ญสั่งสมบารมีอันยิ่งใหญ่เพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐ ถ้าตามมติของฝ่ายเถรวาทก็คือผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญ ทศบารมี ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำมาในอดีต โดยที่ทรงเสวยพระชาติเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์จนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า การบำเพ็ญบารมีดังกล่าวนี้เป็นความยากลำบากแสนสาหัส สำเร็จได้ด้วยโพธิจิต อีกทั้งวิริยะและความกรุณาอันหาที่เปรียบมิได้ ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานนับด้วยกัปอสงไขย สิ้นภพสิ้นชาติสุดจะประมาณได้ พระธยานิโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มิใช่พระโพธิสัตว์ผู้กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อแสวงหาดวงปัญญาอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งเหมือนประเภทแรก แต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีบริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว และสำเร็จเป็นพระธยานิโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์ในสมาธิโดยยับยั้งไว้ยังไม่เสด็จเข้าสู่พุทธภูมิ เพื่อจะโปรดสรรพสัตว์ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด พระธยานิโพธิสัตว์นี้เป็นทิพยบุคคลที่มีลักษณะดังหนึ่งเทพยดา มีคุณชาติทางจิตเข้าสู่ภูมิธรรมขั้นสูงสุดและทรงไว้ซึ่งพระโพธิญาณอย่างมั่นคง จึงมีสภาวะที่สูงกว่าพระโพธิสัตว์ทั่วไป พระธยานิโพธิสัตว์มักจะมีภูมิหลังที่ยาวนาน เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าที่สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์มาเนิ่นนานนับแต่สมัยพระอดีตพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สุดจะคณานับเป็นกาลเวลาได้ พระธยานิโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานรู้จักดี อาทิ พระมัญชุศรี พระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปต์ พระสมันตภัทร พระกษิติครรภ์ เป็นต้น

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันหัสต์พันเนตร

รูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรมีอยู่หลายปาง ทั้งภาคบุรุษ ภาคสตรี ไปจนถึงปางอันแสดงลักษณาการที่ดุร้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารคือสรรพกิเลส แต่ปางที่สำคัญปางหนึ่งคือปางที่ทรงสำแดงพระวรกายเป็นพันหัสถ์พันเนตร ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรสันสกฤตคือ สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตวไวปุลยสัมปุรณอกิญจนมหากรุณาจิตรธารณีสูตรมหากรุณามนตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มหากรุณาธารณีสูตร (大悲咒) นำเข้าไปแปลในจีนโดยพระภควธรรมชาวอินเดีย ในสมัยราชวงศ์ถัง ได้กล่าวถึงบทสวดธารณีแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ คือ “มหากรุณาหฤทัยธารณี” เนื้อหากล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โปตาลกะบรรพต ในกาลนั้นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ขอพุทธานุญาตแสดงธารณีมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้เพื่อเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ ซึ่งธารณีนี้ย้อนไปในครั้งกาลสมัยของพระพุทธเจ้านามว่าพระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคต พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสธารณีนี้แก่พระอวโลกิเตศวร และตรัสว่า

“สาธุ บุรุษ เมื่อเธอได้หฤทัยธารณีนี้ จงสร้างประโยชน์สุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายในกษายกัลป์แห่งอนาคตกาลโดยทั่วถึง”
ตามเนื้อความของพระสูตรได้กล่าวว่า ในขณะนั้น เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้สดับมนตร์นี้แล้ว ก็ได้บรรลุถึงภูมิที่ ๘ แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จึงได้ตั้งปณิธานว่า

“ในอนาคตกาล หากข้าพเจ้าสามารถยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้ ขอให้ข้าพเจ้ามีพันเนตรพันหัตถ์ในบัดดล”

เมื่อท่านตั้งปณิธานดังนี้แล้ว พลันก็บังเกิดมีพันหัสถ์พันเนตรขึ้นทันที และเพลานั้นพื้นมหาพสุธาดลทั่วทศทิศก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในทศทิศก็เปล่งแสงโอภาสเรืองรองมาต้องวรกายแห่งพระโพธิสัตว์ และฉายรัศมีไปยังโลกธาตุต่าง ๆ อย่างปราศจากขอบเขต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เนื่องจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หากเหล่ามนุษย์และทวยเทพ ตั้งจิตสวดมหากรุณาธารณี มนตร์นี้คืนละ ๗ จบ ก็จะดับมหันตโทษจำนวนร้อยพันหมื่นล้านกัลป์ได้ หากเหล่ามนุษย์ทวยเทพสวดคาถามหากรุณาธารณีนี้ เมื่อใกล้ชีวิตดับ พระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ทิศจะยื่นพระกรมารับให้ไปอุบัติในพุทธเกษตรทุกแห่ง

จากเรื่องราวในพระสูตรนี้ทำให้เกิดการสร้างรูปพระโพธิสัตว์พันหัสถ์พันเนตร อันแสดงถึงการทอดทัศนาเล็งเห็นทั่วโลกธาตุและพันหัสต์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ บทสวดในพระสูตรนี้เป็นภาษาสันสกฤตผสมภาษาท้องถิ่นโบราณในอินเดีย ที่หลงเหลือมาในปัจจุบันมีหลายฉบับที่ไม่ตรงกัน ทั้งในฉบับทิเบต ฉบับจีนซึ่งมีทั้งของพระภควธรรม พระอโมฆวัชระ ฯลฯ ต่อมาได้มีการค้นคว้าและปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดย Dr.Lokesh Chandra และตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ.1988 เป็นบทสวดสำคัญประจำองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานสวดกันอยู่โดยทั่วไป 

คาถาบูชาแบบย่อ นำมอกวนซีอิมผ่อสัก (สวดวันละ3จบ 7จบ 9จบ หรือ108จบ)

ที่มา: https://84awatarn.wordpress.com/about/

 

Credit: http://board.postjung.com/901853.html
#พุทธประวัติ
THEPOco
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
2 ส.ค. 58 เวลา 05:43 2,811
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...