โรงงานผลิตน้ำส้มไบเล่. อากาศร้อนๆอย่างนี้เราหาเรื่องเย็นใจมาคุยกันดีกว่าครับ ถ้าพูดถึงของเย็นๆใกล้ตัวไว้ดับกระหายคลายร้อนก็คงต้องนึกถึงน้ำเย็นเป็นอันดับแรก ยิ่งถ้าได้น้ำผลไม้เย็นเจี๊ยบมาดื่มดับร้อนก็จะยิ่งชื่นใจกว่าน้ำเปล่าหลายเท่าตัว ทุกวันนี้เราดื่มน้ำผลไม้และเครื่องดื่มหลากรสกันได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีใส่ขวดวางขายอยู่ทุกหนทุกแห่ง เห็นแล้วก็ทำให้สงสัยใคร่รู้ถึงความเป็นมาของเครื่องดื่มบรรจุขวดเหล่านี้ว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นมีที่มาอย่างไร คิดได้ดังนั้นแล้วไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนก็รีบไปค้นข้อมูลมาให้แฟนานุแฟนได้อ่านคลายร้อนกันทันทีเลยครับ เครื่องดื่มประเภทที่ฝรั่งเรียกกันว่าซอฟท์ดริ๊งค์ (Soft Drink) หรือเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ของมึนเมานั้นมีการผลิตเพื่อจำหน่ายกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 โดยเครื่องดื่มที่มีขายเป็นชนิดแรกๆในยุโรปก็คือน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง มีหลักฐานบันทึกว่าในปี 1676 มีบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ผูกขาดการขายน้ำมะนาวในปารีส โดยพนักงานขายจะแบกถังน้ำมะนาวไว้บนหลังแล้วเดินเร่ขายให้แก่ผู้คน เครื่องดื่มอีกชนิดที่นิยมกันมากในยุคนั้นคือน้ำแร่ธรรมชาติซึ่งเชื่อกันว่าดีต่อสุขภาพ ต่อมามีการค้นพบว่าฟองและรสซาบซ่าของน้ำแร่นั้นเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้มีการผลิตน้ำคาร์บอเนต (Carbonated water) ขึ้นในห้องทดลอง และต่อมาก็ได้ผลิตออกจำหน่ายที่อังกฤษในชื่อของน้ำโซดา (Soda water)
ซึ่งต่อมาก็มีผู้ที่นำกรรมวิธีทำน้ำโซดาไปพัฒนาปรุงแต่งกลิ่นรสจนกลายเป็นเครื่องดื่มชนิดอื่นๆออกมาอีกมากมาย เช่น “โคคา-โคลา” หรือที่คุ้นปากคุ้นหูชาวไทยเราในชื่อ “โค้ก” ซึ่งมีกำเนิดในปี ค.ศ. 1886 โดย ดร.จอห์น เพมเบอร์ตัน (Dr.John Pemberton) เภสัชกรร้านขายยา เจคอบ ฟาร์มาซี ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์นได้คิดค้นเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยปรุงแต่งกลิ่นรสด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในภายหลัง สีน้ำตาลเข้มเกือบดำของเครื่องดื่มชนิดนี้มาจากสีของคาราเมลหรือน้ำตาลที่เคี่ยวจนเหนียวข้น สำหรับเครื่องดื่มสีเข้มอีกยี่ห้อที่เป็นคู่แข่งกันมายาวนานอย่าง “เป๊ปซี่” ก็มีกำเนิดคล้ายคลึงกัน คือคิดค้นโดยเภสัชกรร้านขายยา นามว่า คาเลบ ดี แบรดแฮม (Caleb D. Bradham) ในเมืองนิวเบิร์น รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ในปี 1898 โดยในยุคแรกนั้นมีสโลแกนว่า “สดชื่น มีชีวิตชีวา และช่วยย่อยอาหาร” กล่าวกันว่าชื่อเป๊ปซี่นั้นแผลงมาจาก เป๊ปซิน (Pepsin) ซึ่งก็คือชื่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของเรานั่นเอง เครื่องดื่มบรรจุขวดระดับตำนานอีกชนิดที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงจำได้ดีก็คือน้ำมะเน็ด (Lemonaed) น้ำอัดลมยุคแรกๆที่แม้จะมีชื่อเป็นน้ำมะนาวแต่ก็ไม่ใช่น้ำมะนาวคั้นมาแต่อย่างใด สันนิษฐานว่ามีเข้ามาขายในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 น่าเสียดายที่น้ำขวดชนิดนี้ไม่มีจำหน่ายให้คนรุ่นหลังได้ลิ้มรสกันแล้ว เครื่องดื่มบรรจุขวดที่มีความเป็นมาน่าสนใจอย่างยิ่งอีกยี่ห้อก็คือ “ไบเล่” ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะ แฟรงค์ ดับเบิ้ลยู ไบเล่ย์ (Frank W. Bireley) ผู้สร้างตำนานให้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นคนสู้ชีวิต มีหัวก้าวหน้าควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นหลัง ในปี ค.ศ.1923 แฟรงค์เด็กหนุ่มอเมริกันอายุ 17 ผู้ยากไร้ ต้องพบกับความผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิต เพราะถูกปฏิเสธการให้ทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย อนาคตเหมือนจะดับวูบ แต่แฟรงค์ไม่ยอมแพ้ เขาส่งใบสมัครเข้าเรียนต่อที่ ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย แล้วเดินทางออกจากบ้านด้วยความมุ่งหวังว่าจะหางานทำส่งตัวเองเรียนให้ได้ แต่โชคชะตาก็ไม่ปรานี ไม่ว่าจะไปสมัครหางานที่ไหนก็ไม่มีใครรับเข้าทำงานเลยสักแห่งเดียว แม้หนทางจะมืดมน แต่แฟรงค์ก็ไม่ย่อท้อ เมื่อไม่มีคนรับเข้าทำงานเขาก็ลงทุนเปิดกิจการเองซะเลย!
โฆษณาเป๊ปซี่รุ่นดั้งเดิม. วัยรุ่นยากจนระหกระเหินจากบ้านไปอย่างนั้นจะทำอะไรได้? แต่แฟรงค์ทำได้ครับ ด้วยเงินติดตัวที่มีอยู่เพียงน้อยนิด เขาซื้อเครื่องคั้นน้ำส้มด้วยมือ แกลลอนบรรจุน้ำ และผลส้มสดใหม่หนึ่งลัง เขาตื่นตั้งแต่ตี 3 เดินทางไปเลือกซื้อส้มสดลูกโตน่ากินจากตลาด จากนั้นก็เดินไปมหาวิทยาลัย ไปนั่งรอลูกค้าอยู่ในโรงอาหาร ระหว่างรอก็นั่งอ่านตำราเรียนและทำการบ้านไปด้วยจนนักศึกษาเริ่มทยอยมามหาวิทยาลัย ทันทีที่มีคนเข้ามารับประทานอาหารเช้าแฟรงค์จะคั้นน้ำส้มทีละแก้วนำไปเสนอขายให้กับเพื่อนนักศึกษาในราคาไม่แพง ความขยันอดทนของแฟรงค์บวกกับมิตรภาพและความใส่ใจในการทำน้ำส้มที่อร่อย สดใหม่ ทำให้น้ำส้มของแฟรงค์ขายดิบขายดีขึ้นทุกวัน จนในที่สุดก็มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเทอมและเลี้ยงตัวเองได้ในระหว่างเรียน ถึงจะพอมีพอกินแล้วเขาก็ไม่งอมืองอเท้าหาเลี้ยงชีพไปวันๆอยู่แค่นั้น น้ำส้มยิ่งขายดีแฟรงค์ยิ่งใส่ใจพัฒนาคุณภาพของน้ำส้มให้ดีขึ้น เขาศึกษาเรื่องผลส้ม ฤดูกาลที่ผลผลิตส้มดีที่สุด การปลูกการดูแลต้นส้มให้เหมาะสม รวมไปถึงค้นหากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่จะรักษาคุณประโยชน์ของน้ำส้มให้ดีอยู่เสมอ การศึกษาค้นคว้าเหล่านี้ทำให้แฟรงค์แปลกใจว่าในแคลิฟอร์เนียซึ่งมีการคั้นน้ำส้มขายมากว่า 75 ปี ไม่เคยมีใครรู้ลึกรู้จริงถึงการดูแลรักษาน้ำส้มให้คงคุณภาพดีไว้ได้เลยสักคนเดียว และนั่นก็เป็นโอกาสของแฟรงค์ซึ่งมั่นใจว่าตัวเองรู้เรื่องน้ำส้มดีกว่าใครๆ ได้พัฒนาคุณภาพและความอร่อยให้ก้าวล้ำเหนือกว่าใครในยุคสมัยนั้น วันหนึ่งแฟรงค์ตัดสินใจเสนอขายน้ำส้มให้กับร้านอาหารชื่อดังในเมือง แม้เจ้าของร้านจะวุ่นวายกับการงานจนแทบไม่มีเวลามาสนใจกับเด็กหนุ่มพ่อค้าน้ำส้มรายนี้สักเท่าไร แต่เจ้าหนุ่มก็คะยั้นคะยอบอกให้เจ้าของร้านหาเวลาว่างลองชิมน้ำส้มของเขาสักหน่อย จากนั้นก็กลับมารอฟังผลด้วยใจตุ๊มต่อมๆว่าทางร้านอาหารชื่อดังจะว่าอย่างไร
ร้านขายยาในวอชิงตัน ปี 1920 มีถังบรรจุโซดาไว้จำหน่าย.
รถส่งน้ำส้มบรรจุขวด. ในที่สุดชัยชนะก็เป็นของคนมีฝัน เจ้าของร้านบอกว่าชอบน้ำส้มของพ่อหนุ่มไบเล่ย์คนนี้มากและตกลงสั่งน้ำส้มไว้ขายในร้าน ขอให้ส่งมาให้มากพอตามที่สั่งก็แล้วกัน ถึงตอนนี้งานของแฟรงค์ชักจะหนัก ไหนจะต้องเรียนหนังสือ ไหนจะต้องตื่นแต่มืดไปเลือกซื้อส้มคุณภาพดีมาคั้นน้ำ ออเดอร์แต่ละวันก็มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเรื่องความสดอร่อยของน้ำส้มแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับเครื่องคั้นน้ำส้ม เขาต้องการเครื่องที่ต้องไม่คั้นเอารสขมขื่นของเปลือกส้มปะปนเข้ามาในน้ำส้ม แล้วก็ต้องคั้นให้ได้พร้อมกันทีละหลายๆลูกด้วย แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่มีเครื่องแบบนี้ขายอยู่เลย ทำไงดีล่ะทีนี้ เอ้า...ไม่มีขายก็ทำเองซะเลยสิแฟรงค์ เขาใช้เวลาพักผ่อนที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด ไปขอฝึกงานในร้านผลิตเครื่องมือจนได้รู้จักกับนายช่างฝีมือเยี่ยม ซึ่งก็ช่วยคิดค้นประดิษฐ์เครื่องคั้นน้ำส้มแบบที่แฟรงค์ต้องการได้สำเร็จในที่สุด
อ่านต่อได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/499183