วิธีการจับปลาแบบโบราณที่ชาวประมงของเมืองกิฟุใช้นกกาน้ำจับปลาอะยุให้นั้น เป็นวิธีการดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 1,300 ปี โดยผู้ที่ควบคุมนกกาน้ำให้ดำผุดดำว่ายไปจับปลามานั้นเรียกว่า “อุโช”
การ เป็นอุโชจะต้องได้รับการสืบทอดต่อมาจากพ่อแม่โดยตรง และผู้ที่จะสืบทอดได้ต้องเป็นบุตรชายคนโตเท่านั้น ในยุคสมัยเอโดะโดยเฉพาะช่วงการปกครองของโอโดะ โนะบุนะงะและโทะกุกะวะ อิเอะยะซึ อุโชได้รับการสนับสนุนอย่างดี ต่อมาในสมัยเมจิได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลืออุโชอยู่ในเมืองกิฟุเพียง 6 ท่าน พวกเขานับเป็นบุคคลสำคัญด้านมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
ในการจับปลานั้นจะใช้นกกาน้ำ 10-12 ตัว ก่อนเริ่มจับปลาอุโชแต่ละคนจะจับสลากกันว่าใครจะเป็นผู้ได้ออกเรือเป็นคนแรก จากนั้นจึงจุดดอกไม้ไฟเป็นสัญญาณว่าการจับปลาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
เรือ แต่ละลำจะทยอยออกตามลำดับและเริ่มจับปลา ช่วงสำคัญของการตั้งขบวนเรือลอยลำเรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเรียกว่า “โซะงะระมิ” เป็นเทคนิคในการจับปลาอย่างหนึ่ง ด้วยการไล่ให้ปลาอะยุไปรวมตัวกันในน้ำตื้น ซึ่งจะทำให้จับปลาได้ง่ายขึ้น
การจับ ปลาจะจัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม - 15 ตุลาคม ในช่วงนี้จะจับปลากันทุกคืนยกเว้นวันพระจันทร์เต็มดวงและวันที่แม่น้ำนะระงะ มีระดับสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
ส่วนบรรยากาศยามเย็นก่อนการแสดง จะเริ่มขึ้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีแสงสีจากดอกไม้ไฟและเสียงประทัด รวมทั้งมีการรับประทานอาหารกันบนเรือด้วย ซึ่งมีปลาอะยุย่างหอมๆ เป็นเมนูพิเศษ..
ปลาอะยุเป็นปลาน้ำจืดที่สำคัญของญี่ปุ่น มีขนาดลำตัวยาวไม่เกิน 20 ซม. สีเงินท้องขาว วางไข่ในแม่น้ำช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงแล้วจะว่ายกลับลงทะเล และจะว่ายทวนน้ำขึ้นมาอีกครั้งในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ
กินสัตว์เล็กๆ และพืชอย่างตะไคร่น้ำเป็นอาหาร ชอบอาศัยตามซอกหินใต้แม่น้ำ การตกปลาชนิดนี้จึงต้องใช้เหยื่อล่อให้ออกมาเท่านั้น เรียกว่า "โทโมสุริ"
แต่ สุดท้ายปลาอะยุก็ยังเป็นเหยื่อของนกกาน้ำอยู่ดี สมัยก่อนเชื่อกันว่าหากพบปลาอะยุที่ใดจะถือว่าโชคดี และปลาชนิดนี้ก็มีประโยชน์มากตลอดประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ปัจจุบัน ปลาอะยุตามแหล่งธรรมชาติลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากมลพิษทางน้ำ แต่ในหลายพื้นที่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน นับเป็นปลาที่นิยมตกกันมากในฐานะเกมกีฬา เมื่อตกได้แล้วก็มักนำมาย่าง ทอด หรือกินดิบๆ และจะอร่อยมากเป็นพิเศษในช่วงหน้าร้อน..