ซ้าย - กรมพระราชวังบวรฯ ขวา- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ทูลกระหม่อมใหญ่)
หลังจากที่กรมพระราชวังบวรฯ ได้อ่านพระราชหัตถเลขาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ส่งมาแล้วนั้น พระองค์จึงมีพระราชสารเชิงเป็นข้อเรียกร้องส่งกลับไปยังวังหลวง โดยมีใจความสำคัญบางช่วงดังนี้
..อย่าต้องไล่บ่าวไพร่ข้าหลวงออกจากวังหน้าเลย ให้คงไว้ดังเดิมข้าพเจ้ามิประสงค์ที่จะเห็นบ่าวพลัดนาย แลขุนนางข้าราชการท่านใดเห็นว่ามีความผิดก็ขอให้ทางวังหลวงดำเนินโทษได้ตามหลักความยุติธรรม ภาษีอากรที่วังหน้าเคยเก็บได้มาแต่ต้นแลสิ่งของทรัพย์สินที่หามาได้นั้นขอให้คงไว้ดังเดิม อย่าริบรอน....เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยถึงพระราชสารฉบับนี้แล้ว ทรงโปรดให้ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา และคุณชายช่วง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) รวมถึงเสนาบดีทั้งหลายประชุมปรึกษาหารือเพื่อนำข้อเรียกร้องนี้มาพิจารณาว่าข้อความใดบ้างที่ควรจะยอมตามพระประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ หลังจากนั้นก็มีราชสารประนีประนอมกันอยู่หลายฉบับ จนกระทั่ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ในที่สุดฝ่ายวังหลวงจึงมีพระราชสารอัญเชิญให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับคืนเข้าประทับยังวังหน้าดังเดิม
ในการเสด็จกลับของกรมพระราชวังบวรฯ นั้นพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเกียรติยศเต็มที่ โปรดให้จัดขบวนไปรับเสด็จ และจัดเรือเก๋งส่วนพระองค์ไปรับกรมพระราชวังบวรฯถึงสถานทูตอังกฤษอย่างสมพระเกียรติ แลเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เข้ายังพระบรมหาราชวังโดยขบวนพระเกียรติยศแห่แหนเข้ายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับยังเบื้องหน้าองค์พระแก้ว แล้วให้กรมพระราชวังบวรฯเข้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามโบราณราชประเพณี ทั้งยังทรงโปรดให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่ นับเป็นการปิดฉากความบาดหมางระหว่างวังหลวง และวังหน้าลงโดยปราศจากความรุนแรง
หลังจากงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาผ่านไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพระราชอำนาจในการแต่งตั้งองค์รัชทายาทเพื่อเป็นการปูทางในอนาคต หากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ของพระองค์สืบราชสมบัติต่อไป โดยมิต้องไปเป็นวังหน้า
เพราะในประวัติศาสตร์ราชวงศ์นั้น วังหลวง และวังหน้ามักจะมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการซ่องสุมกำลังพล และความระแวงต่อกันในเรื่องการสืบราชบัลลังก์ เพราะแต่เดิมนั้นหากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลง พระราชวงศ์ที่มีอำนาจรองจากพระเจ้าอยู่หัว และมีกองกำลังอยู่ในมือก็จะขึ้นครองราชบัลลังก์ทันที ซึ่งพระราชวงศ์พระองค์นั้นก็คือ พระมหาอุปราชแห่งวังหน้านั่นเอง พระมหาอุปราช หรือวังหน้าคือใคร ส่วนใหญ่ก็คือพระราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดทางเครือญาติมากที่สุด มีความรู้ความสามารถมากที่สุด เช่น พระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัว (น้องชายกษัตริย์) หรือพระปิตุลาในพระเจ้าอยู่หัว (ลุง หรืออาของกษัตริย์) หรือพระภาดา (พี่ชาย หรือน้องชายในลักษณะลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์) ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใดๆเริ่มมีพระอาการประชวรมิสู้ดีนัก พระเจ้าอยู่หัวจะรับสั่งให้เหล่าทหารวังไปล้อมตำหนักที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายของพระองค์ไว้ เพื่อป้องกันการลอบปลงพระชนม์ แลแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่าง อากับหลาน ลุงกับหลาน พี่กับน้อง ขุนนางกับกษัตริย์ เป็นต้น
ไม่นานนัก ในปี พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จทิวงคตลงด้วยพระชนมายุเพียง 48 พรรษา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มิทรงสถาปนาพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นเป็นพระมหาอุปราชไปประทับยังวังหน้าอีกเลย และโปรดให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน (พระราชวงศ์ผู้หญิง)วังหน้าย้ายเข้ามาประทับยังวังหลวง จากนั้นจึงสถาปนาพระราชโอรส ซึ่งเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสี ขึ้นเป็นองค์รัชทายาทพร้อมกับสถาปนาพระราชอิสริยยศคือ "สยามมกุฎราชกุมาร" ดังมีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร" ชาววังออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมใหญ่ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมมายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ให้เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือวังหน้า
ทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป โปรดที่จะให้ประทับอยู่เคียงข้างพระวรกายเพื่อเรียนรู้งานราชการเสมอ โปรดให้ออกรับฎีกาด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในขณะเดียวกันนั้นพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวจะส่งไปเล่าเรียนยังต่างประเทศเพื่อที่จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลืองานพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ และเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจะสระราชสมบัติไปประทับยังวังสวนดุสิตคอยเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่
แต่เป็นที่น่าเสียดาย ทูลกระหม่อมใหญ่ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา 6 เดือน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์จักรี เพราะทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ทรงเป็นที่รักใคร่ของชาววัง พระองค์ทรงเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เล่ากันว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีผู้เป็นพระราชมารดาทรงเสียพระทัยมากถึงขนาดนำฉากไปกั้นเป็นที่ประทับ เพื่อบรรทมเฝ้าพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และการสวรรคตของทูลกระหม่อมใหญ่ในครั้งนี้ก็ส่งผลให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาสูญเสียตำแหน่งอัครมเหสีไปด้วย
ด้านหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช ที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วนั้น หลังจากที่ท่านหลบหนีไปยังเขมร ครั้งเวลาล่วงเลยไป ท่านจึงตัดสินพระทัยคืนสู่สยาม ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหม่อมเจ้าฉวีวาดได้มีบุตรชายกับชาวเขมร 1 คน ชื่อนุด และทรงบวชเป็นรูปชี ใช้พระชนม์ชีพอย่างสงบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 ปี