คลีโอพัตราแห่งล้านนา "นางพญาอั้วเชียงแสน"

"นางอั้วเชียงแสน"

"นางอั้วเชียงแสน" ราชินีแห่งแคว้นพะเยา
คําว่า "อั้ว" นี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ แต่เป็นคำระบุให้เห็นปูมหลังเดิมว่าเป็นเจ้าหญิงจากแว่นแคว้นไหน
อันเป็นธรรมเนียมการเรียกชื่อสตรีล้านนาในเขตลุ่มน้ำโขง กก อิง ยม
ตั้งแต่เชียงราย-เชียงแสน-พะเยา ไปจนถึงสิบสองปันนา เช่น
"อั้วมิ่งจอมเมือง" เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง มีฐานะเป็นพระราชชนนีของพระญามังรายหรือ
"อั้วมิ่งเวียงไชย" เป็นพระมเหสีของพระญามังราย สืบเชื้อสายมาจากเวียงไชยปราการ
เช่นเดียวกับ "อั้วเชียงแสน" ราชธิดาของกษัตริย์เชียงแสน อันที่จริงพระนางมีนามว่า "สิม"
ตำนานบางเล่มจึงเรียกอีกชื่อว่า "นางอั้วสิม" ผู้เป็นพระมเหสีของพญางำเมือง
ส่วนพญางำเมืองเป็นกษัตริย์เมืองพะเยา หรือภูกามยาว (ผายาว)
มีศักดิ์เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพญามังราย กษัตริย์เชียงราย (หิรัญนครเงินยาง)
ทั้งคู่ประสูติปีเดียวกันประมาณ พ.ศ.1781-1782 จึงถือว่าเป็นสหชาติกัน
เหตุที่มีนามว่า "งำเมือง" นั้น เป็นเพราะมีอิทธิฤทธิ์ไม่ต่างจากพระร่วงเจ้า เสด็จไปทางไหน แดดก็ไม่ร้อน ฝนก็ไม่เปียก สามารถเสกท้องฟ้าให้ปกงำบดบังเมฆได้
เพราะร่ำเรียนวิชชาอาคมมาจากสำนักเขาสมอคอล
(บ้างเรียกดอยด้วน บ้างเรียกสำนักสุกกะทันตะฤษี) กรุงละโว้ 


โดยมีพระร่วงเป็นเพื่อนร่วมสำนัก แล้วเหตุไฉนเพื่อนเราจึงมาเผาเรือนชู้ทางใจ หรือชู้การเมือง?
น่าแปลกใจที่เรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างนางอั้วเชียงแสนกับพระร่วง
ถูกบันทึกไว้อย่างเปิดเผยในเอกสารโบราณหลายฉบับ ราวกับเป็นเรื่องปกติสามัญ
แสดงว่าคนในอดีตมองว่าเหตุการณ์ตอนนี้มีความสำคัญ
ปฐมเหตุเกิดจากการที่พระร่วงคิดถึงสหายเก่าร่วมสำนัก
จึงได้เดินทางไปรดน้ำดำหัวพระญางำเมืองที่พะเยาแถบลุ่มแม่น้ำโขงในวันสงกรานต์
แสดงว่าอาณาเขตของพะเยาครั้งนั้นกว้างใหญ่ไพศาลจนจรดแม่น้ำโขง
น่าจะสร้างความสะพรึงกลัวให้แก่พญามังรายที่มีเขตแดนชนกันไม่น้อย
สอดรับกับข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า
"น้ำในตระพังโพยสีใสรสกินดีเหมือนดั่งกูกินโขงเมื่อแล้ง"
ชัดเจนว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยมาดื่มชิมน้ำในแม่น้ำโขงคราวหน้าแล้ง
ซึ่งก็ตรงกับเดือนเมษายน ถึงได้สามารถพรรณนาเปรียบเทียบรสชาติน้ำ
จากแม่โขงกับที่สระตระพังโพยในกรุงสุโขทัยว่ามีรสชาติดีพอๆ กัน

ระหว่างนั้นพระร่วงได้พบกับนางอั้วเชียงแสนผู้มีรูปโฉมงามล้ำจึงเกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่
นางอั้วเชียงแสนได้ทำแกงถวาย พญางำเมืองไม่รู้ว่ากำลังหงุดหงิดอะไรอยู่หรือเปล่า
ชิมได้เพียงคำเดียวก็วางช้อนบ่นว่า "น้ำแกงมากไปหน่อย รสชาติจืดชืดไม่เข้มข้น"
ในขณะที่พระร่วงรีบเข้าไปปลอบประโลม พลางซดน้ำแกงนั้นหมดหม้อ
เรื่องเล็กๆ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ จากนั้นทุกราตรีก็ไม่ยอมให้พญางำเมืองไปมาหาสู่ด้วย
ตำนานฝ่ายสุโขทัยเขียนตรงไปตรงมาว่า "พระร่วงรู้ว่านางอั้วรักพระองค์จึงได้เสียกัน"
แต่ตำนานฝ่ายพะเยาเล่าว่า พญางำเมืองเดินทางไปเจรจาศึกเรื่องพรมแดนเมืองกับพญามังราย
พระร่วงจึงลอบปลอมแปลงพระองค์ให้คล้ายกับพญางำเมือง เข้าสู่ห้องบรรทมนางอั้วอยู่หลายคืน
เมื่อนางอั้วเชียงแสนรู้ว่ามิใช่พระสวามีก็มิรู้จะทำฉันใดได้


ครั้นพญางำเมืองกลับมาและทราบเหตุการณ์จึงจับตัวพระร่วงมัดไว้ในเล้าสุ่มไก่
สั่งยายแก่คนหนึ่งดูแลหาอาหารให้ แต่ละวันมีเพียงปลาปิ้งตัวเล็กๆ พอประทังกาย
เป็นการลงโทษให้พระร่วงอับอาย ว่ากำลังถูกสบประมาท
แต่ความโกรธของพญางำเมือง จะฆ่าทั้งเพื่อนทั้งเมียก็เกรงจักเป็นเวรเป็นกรรม
จึงเชิญให้พระญามังราย ผู้เป็นญาติมาช่วยตัดสินคดีความแทน
พญางำเมืองนี่เองที่ชักนำให้พระร่วง กับพญามังรายได้มารู้จักกัน
หากตัดสินลงโทษพระร่วงรุนแรงก็เกรงว่าต้องเปิดศึกใหญ่กับทางสุโขทัย
ได้ไม่คุ้มเสีย พญามังรายเห็นว่าทั้งพระร่วงและพญางำเมือง
ต่างก็มีความรู้ความสามารถ
พญามังรายจึงให้กษัตริย์ทั้งสองขอขมาอโหสิกรรมต่อกัน
แค่ให้พญางำเมืองเรียกปรับสินไหมค่าเสียหายจากพระร่วงตามแต่จะเห็นสมควร

เมื่อยอมความกันได้ สามสหายจึงกรีดเลือดดื่มน้ำสาบานว่า
ต่อจากนี้จักซื่อสัตย์เกื้อกูลไม่เบียดเบียนกันอีก
สถานที่ที่กระทำสัตย์ปฏิญาณภายหลังเรียกว่าแม่น้ำอิง
เหตุเพราะสามสหายได้นั่งอิงหลังกัน
ณ ฝั่งแม่น้ำ เดิมชื่อแม่น้ำขุนภู

 

 

โศกนาฏกรรมซ้ำซากของสาวงามอั้วเชียงแสน
อันที่จริงก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ ขอย้อนหลังกลับไปร่วม 20 ปี
พญางำเมืองเคยยกทัพไปตีเมืองปัว และมอบหมายให้นางอั้วเชียงแสนปกครองอยู่ระยะหนึ่ง
"พระญาผานอง" ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าเมืองปัวองค์ก่อน ได้รวบรวมกำลังมายึดเมืองปัวคืน
แถมยังจับตัวนางอั้วเชียงแสนเป็นชายาอีก ชื่อของนางอั้วสิมหรืออั้วเชียงแสน
ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองน่าน ภาคที่ 10 ว่าเคยเป็นชายาพญาผานองแห่งเมืองปัว
แต่เชื่อว่าครั้งนั้นพญางำเมืองคงทำใจได้ ด้วยเป็นเหตุสุดวิสัย
โศกนาฏกรรมฉากสุดท้ายของนางอั้วเชียงแสน เกิดขึ้นในช่วงที่พญางำเมืองไปช่วยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่

นานหลายเดือน พระญามังรายรู้สึกซาบซึ้งน้ำใจของญาติผู้นี้จึงได้พระราชทานเจ้าหญิงองค์หนึ่งให้เป็นชายา

ข่าวนี้รู้แพร่งพรายไปถึงหูของนางอั้วเชียงแสน ทรงโกรธกริ้วเสียพระทัยอย่างรุนแรง
ถึงกับสั่งให้เสนาอำมาตย์จัดขบวนม้าพระที่นั่งมุ่งหน้าไปยังเชียงใหม่
หมายจักสังหารชายาน้อยนั้นให้ได้ แต่แล้วในระหว่างทางนั้นทนแบกรับความทุกข์ระทมไม่ไหว เสด็จไม่ทันถึงไหนก็ตรอมใจตายเสียก่อน

เมื่อพญางำเมืองทราบจึงรีบเสด็จกลับและนำศพของนางอั้วเชียงแสนมาไว้ที่วัดพระธาตุจอมทองเมืองพะเยา

 

ขอบคุณที่มา ::::: FB สืบสานตำนานล้านนา

Credit: http://variety.teenee.com/foodforbrain/70798.html
#สืบสานตำนานล้านนา
THEPOco
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
20 ก.ค. 58 เวลา 04:17 2,596 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...