เพิ่มโทษข่มขืน-พูด\"แทะโลม\"ติดคุก

พม.ดันแก้กฎหมายข่มขืนเสนอเพิ่มโทษอาชญากรทางเพศ ข่มขืนเด็ก คนแก่ผู้พิการ วิกลจริต หญิงท้อง ต้องได้รับโทษหนักขึ้นอีก 1 ใน 3 ของโทษ รวมทั้งพวกพูดจาลวนลาม แทะโลม หมาหยอกไก่ ก็โดนด้วย หากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อับอาย ถูกเหยียดหยาม มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น

ร่างนี้เป็น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา มาตรา 276-285 วรรค 2 เกี่ยวกับโทษข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร โดยเนื้อหาสาระนอกจากคุ้มครองเหยื่อผู้เสียหายที่มีโทษหนักแล้ว ยังเพิ่มฐานความผิดใหม่ คุ้มครองกรณีกระทำผิดทางเพศต่อกลุ่มบุคคลผู้อยู่ในสภาวะที่ด้อยโอกาส หรือไม่อาจป้องกันตัวเองได้ เช่น ข่มขืนคนพิการทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ วิกลจริต สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กๆ เป็นต้น ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษหนักกว่าที่กำหนดไว้ 1 ใน 3 ถือเป็นโทษฉกรรจ์ในมาตรา 285/1

การยกร่างยังเพิ่มเติมโทษคุกคามทางเพศ เช่น พูดจาลวนลาม แทะโลม หมาหยอกไก่ แสดงด้วยภาพ รูปภาพเอกสาร หรืออี-เมล์ ลักษณะลามกเกี่ยวกับเพศ เป็นต้น ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ อับอาย เหยียดหยาม เดิมไม่มีบทลงโทษ ก็เสนอให้กำหนดมีโทษอนาจาร จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท ในมาตรา 285/2 และหากเป็นการกระทำของผู้มีอำนาจเหนือกว่า โดยข่มขู่ เสนอประโยชน์ทางเพศ จะมีโทษหนักกว่าที่กำหนดอีก 1 ใน 3

ยังแยกการข่มขืน กับการอนาจารให้ชัดเจนขึ้น โดยกรณีการกระทำอนาจารที่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย เช่น ทางทวารหนักของผู้ชาย หรือกะเทยแปลงเพศ กรณีชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ได้กำหนดโทษเท่า กับกรณีชายข่มขืนหญิง เพื่อเยียวยาผู้เสียหาย แต่จะใช้คำว่าความผิดฐานกระทำการอนาจารเหตุฉกรรจ์ โทษเป็นตามลักษณะการกระทำในมาตรา 278 จำคุก 3-15 ปี ซึ่งเดิมยังไม่เคยมีการกำหนดไว้เลย

"อีกทั้งกำหนดให้การข่มขืนกระทำ ชำเรา อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาทิ โรคไวรัสตับอักเสบบี ไข้หวัด 2009 หรือโรคติดต่อร้ายแรง ที่ผู้กระทำรู้ว่าหากหายใจลด หรือติดต่อทางน้ำลาย หรือติดต่อจากการถูกกระทำทางเพศ ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามความผิดด้วย จากเดิมที่กำหนดเพียงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ส่วนโทษโดยรวมเดิมให้จำคุกแต่ไม่ระบุโทษขั้นต่ำ บางรายรับโทษแค่จำคุกไม่กี่เดือน จึงกำหนดโทษขั้นต่ำ คือ ให้จำคุกผู้กระทำผิด 4 ปี โดยการแก้กฎหมายได้เปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อให้ลงโทษผู้กระทำผิด ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทำงานง่าย ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครอง และจะเสนอครม. เห็นชอบต่อไป" นายสมชายกล่าว

อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ต้องโทษคดีทางเพศ ทั่วโลกถือเป็นอาชญากรทางเพศ ต้องขึ้นทะเบียนในเขตที่ตัวเองอยู่ว่าเคยทำผิดทางเพศ ให้สาธารณชนทราบ เพราะจากการวิจัยในต่างประเทศ พบว่าผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่ผิดปกติ เมื่อเคยทำผิดคดีทาง เพศแล้ว มักจะกระทำซ้ำอีก ดังนั้น ควรศึกษาอาชญากรรมทางเพศของไทยมีมากแค่ไหน เพื่อขึ้นบัญชีผู้ที่มีประวัติทำผิดข่มขืน ฆ่า ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ติดเป็นนิสัย

กฎหมายอาญาต่างประเทศ จะคุ้มครองพรหมจรรย์ผู้หญิง ไม่ให้ถูกประกอบกิจกรรมทางเพศที่ผิดวิสัย ขณะที่การกระทำผิดทางเพศสมัยใหม่ มีความรุนแรงทางเพศมาก และกระทำซ้ำมาก ที่เคยคิดว่าข่มขืนเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ฝ่ายหญิงมายั่วยวน ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว แต่คนทำผิดทางเพศเป็นคนผิดปกติ ดังนั้นหากให้มีการยอมความ ให้สมรสกันโดยผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเกิดปัญหาหย่าร้าง ทำให้ผู้เสียหายยิ่งแย่ ดังนั้นต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติเวช กล่าวว่า การพัฒนากฎหมายต้องพัฒนาให้ทันสังคม และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อดีตพ่อข่มขืนลูกไม่ค่อยมีข่าวให้เห็น วันนี้พ่อข่มขืนลูกเห็นทุกวัน การที่กฎหมายเปิดช่องให้ยอมความ แล้วจะให้ลูกยอมความพ่อไม่มีความผิด ไม่ได้ เพราะขณะนี้ปัญหาเลยเถิด พ่อข่มขืนลูกจนมีลูกออกมา เสื่อมเสียศีลธรรมสังคมมาก ต้องปรับแก้กฎ หมายให้ชัดเจนจริงจัง ในต่างประเทศคดีข่มขืนยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ใช่อาชญากรรมแค่คนใดคนหนึ่ง

ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประ เทศไทย อดีตมิสอัลคาซาร์ปีค.ศ.2005 กล่าวว่า หากมีผู้ชายใช้อวัยวะเพศล่วงเกินอวัยวะเพศของคนที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ได้รับโทษเพียงแค่อนาจารจะดูเบามาก ศักดิ์ศรีของคนแปลงเพศไม่ได้รับความเท่าเทียมเหมือนผู้หญิง กฎหมายกำลังสร้างบรรทัดฐานในสังคม ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนกับผู้หญิงทั่วไป เช่น หากตนเดินออกไปจากห้องเสวนา แล้วถูกผู้ชายข่มขืนสอดใส่อวัยวะเพศใหม่ที่แปลงเพศมา ก็แค่อนาจาร ทั้งที่เราเจ็บปวด แต่กลับใช้คำแค่อนาจาร

รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา หนึ่งในกรรมการยกร่างกฎหมายฯ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายอาญายังถือว่าผู้ชายแปลงเพศยังเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิงตามสถานะทางกฎหมาย โทษอนาจารในที่นี้ก็เป็นโทษอนาจารเหตุฉกรรจ์เท่ากับโทษข่มขืนผู้หญิง ไม่ว่าหญิงหรือชายเราพยายามให้กฎหมายคุ้มครองเท่ากัน เพียงแต่ใช้คำต่างกัน เราเห็นใจทุกคนทุกเพศ อยากให้ได้รับความคุ้มครอง แต่ก็ต้องทำไปตามสภาพเหตุผล ดังนั้น คณะยกร่างกฎหมายฯ จะรับไปพิจารณาให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ร่างกฎหมายโดยรวม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังมีปัญหาข่มขืนที่ซับซ้อนรุนแรงมากในปัจจุบัน ที่กฎหมายต้องครอบคลุมให้ถึงอย่างชัดเจน ว่าจะบังคับเอาผิดอย่างไร เช่น การบังคับถ่ายหนังเอ็กซ์ กรณีเด็กผู้ชายถูกตุ๋ย ผู้หญิงถูกล่ามโซ่ ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ แต่ใช้ปาก อุปกรณ์ วัตถุต่างๆ ที่น่าห่วง คือหากกฎหมายผ่านครม. แล้วไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา จะถูกปรับแก้จนไม่เหลือร่างเดิม

17 ส.ค. 52 เวลา 13:20 4,220 6 114
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...