การสังหารในวันที่ 6 ตุลาคม
ไทยรัฐ ลงข่าวการสังหารหมู่นองเลือด ซึ่ง ไทยรัฐ เป็นเพียงหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับที่ไม่โดนคำสั่งคณะปฏิวัติ ปิดเป็นเวลา 3 วัน หลังเหตุการณ์เวลาเช้ามืดราว 2.00 น. กลุ่มกระทิงแดงทุกจุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบ และมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิตนักศึกษา กลุ่มนวพลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิตนักศึกษา
เวลาราว 5.00 น. เริ่มมีการยิงจากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้ เวลา 7 นาฬิกา กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัยและใช้อาวุธหนักระดมยิง ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษและตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่างๆเข้าถึงที่เกิดเหตุ เวลา 8 นาฬิกา ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมยิงกระสุนเข้าใส่นักศึกษา
เวลา 8.30 น. - 10.00 น. นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งหนีวิถีกระสุนจากตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มผู้ก่อเหตุ นักศึกษาบางคนวิ่งหนีออกทางประตูหน้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาบางส่วนหนีอออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนถูกรุมตี รุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บถูกนำไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพ กลุ่มคนบางกลุ่มลากเอาศพนักศึกษามาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยใช้ยางรถยนต์ทับและราดด้วยน้ำมันเบนซิน บางส่วนใช้ของแข็งทำอนาจารศพนักศึกษาหญิง
เวลาราว 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ และให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มคนที่มุงดูใช้ก้อนหิน อิฐ ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ
เวลาราว 16.00 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นำโดย พล.ต.ท. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และกลุ่มแม่บ้าน นำโดย ทมยันตี ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยใช้รถบรรทุกที่ทำเป็นเวทีปราศรัยบุกพังประตูเข้าไป บางคนได้ถือเชือกเข้าไปโดยจะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาล ได้แก่ นายชวน หลีกภัย, นายดำรง ลัทธพิพัฒน์, นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เนื่องจากกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่าบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว มีผู้ตะโกนถามว่า ท่านจะจัดการอย่างไร ม.ร.ว. เสนีย์ตอบว่า ตนเองจะบอกให้รัฐมนตรีทั้ง 3 ลาออกเองเพื่อความสงบของบ้านเมือง มีผู้ถามต่อไปว่า ถ้าบุคคลทั้ง 3 ไม่ลาออกจะทำอย่างไร ม.ร.ว. เสนีย์ตอบว่า ตนเองจะลาออกเอง แต่ภายหลังข้อความนี้ได้ถูกวิทยุยานเกราะนำไปตัดต่อกลายเป็นข้อความว่า ท่านไม่เคยรู้มาก่อนว่าบุคคลทั้ง 3 นี้เป็นคอมมิวนิสต์ และจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[9]
ครั้นถึงเวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ มีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนจากประเทศต่างๆ จนเมื่อ 3 ปีผ่านไป ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด
[แก้] บุคคลที่เสียชีวิตหรือสูญหายในเหตุการณ์
ญาติของผู้เสียชีวิตร่ำไห้เมื่อมารับศพฝ่ายนักศึกษาและประชาชน เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย ในจำนวนนี้ เป็นศพถูกเผา ระบุรายละเอียดแยกชายหญิงไม่ได้ จำนวน 4 ราย (หนึ่งในนั้น คือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ กรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งเป็นระดับแกนนำผู้ชุมนุมเพียงคนเดียวที่เสียชีวิต ผู้เสียชีวิตที่เหลือเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น และแกนนำที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ถูกจับรวม 18 คน ประกอบไปด้วย นายสุธรรม แสงประทุม,นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , นายอภินันท์ บัวหภักดี, นายธงชัย วินิจจะกูล, นายประพนธ์ วังศิริพิทักษ์, นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม, นายประยูร อัครบวร, นายอรรถการ อุปถัมภากุล, นายสุรชาติ พัชรสรวุฒิ, นายอนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ, นายโอริสสา ไอยราวัณวัฒน์, นายเสรี ศิรินุพงศ์, นายอารมณ์ พงศ์พงัน, น.ส.เสงี่ยม แจ่มดวง, น.ส.สุชีลา ตันชัยนันท์, นายสุรชาติ บำรุงสุข, นายบุญชาติ เสถียรธรรม และถูกนำตัวขึ้นศาลทหารข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนอยู่ 3 ปี จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ส่วนแกนนำที่รอดจากการถูกจับกุมขึ้นศาลทหารได้ส่วนใหญ่ก็หลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท.[10])
รายชื่อผู้เสียชีวิตเป็นศพชายไทยไม่ทราบชื่อ จำนวน 6 ราย และเป็นศพที่ระบุชื่อได้ จำนวน 30 ราย[11] คือ
นายพงษ์พันธ์ เพรามธุรส : ถูกระเบิด
นายวิชิตชัย อมรกุล : ถูกของแข็งมีคมและถูกรัดคอ
นายอับดุลรอเฮง สาตา : ถูกกระสุนปืน
นายมนู วิทยาภรณ์ : ถูกกระสุนปืน
นายสุรสิทธิ์ สุภาภา : ถูกกระสุนปืน
นายสัมพันธ์ เจริญสุข : ถูกกระสุนปืน
นายสุวิทย์ ทองประหลาด : ถูกกระสุนปืน
นายบุนนาค สมัครสมาน : ถูกกระสุนปืน
นายอภิสิทธิ์ ไทยนิยม : ถูกกระสุนปืน
นายอนุวัตร อ่างแก้ว : ถูกระเบิด
นายวีระพล โอภาสพิไล : ถูกกระสุนปืน
นายสุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์ : ถูกกระสุนปืน
นางสาวภรณี จุลละครินทร์ : ถูกกระสุนปืน
นายยุทธนา บูรศิริรักษ์ : ถูกกระสุนปืน
นายภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย : ถูกกระสุนปืน
นางสาววัชรี เพชรสุ่น : ถูกกระสุนปืน
นายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง : ถูกกระสุนปืน
นายไพบูลย์ เลาหจีรพันธ์ : ถูกกระสุนปืน
นายชัยพร อมรโรจนาวงศ์ : ถูกกระสุนปืน
นายอัจฉริยะ ศรีสวาท : ถูกกระสุนปืน
นายสงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง : จมน้ำ
นางสาววิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ : ถูกกระสุนปืน
นายสมชาย ปิยะสกุลศักดิ์ : ถูกกระสุนปืน
นายวิสุทธิ์ พงษ์พานิช : ถูกกระสุนปืน
นายสุพล บุญทะพาน : ถูกกระสุนปืน
นายศิริพงษ์ มัณตะเสถียร : ถูกกระสุนปืน
นายวสันต์ บุญรักษ์ : ถูกกระสุนปืน
นายเนาวรัตน์ ศิริรังษี : ถูกกระสุนปืน
นายปรีชา แซ่เซีย : ถูกของแข็ง อาวุธหลายชนิด และถูกรัดคอ
นางสาวอรุณี ขำบุญเกิด : ถูกกระสุน