เราคือชมรมที่อยากรวบรวมละครทีวีของเมืองไทยที่เคยฉายไปแล้วทุกช่อง(แต่คงไม่ทุกเรื่อง อิอิ) เพื่อแบ่งปันและระลึกความหลังแห่งวัยเราเนื่องด้วยความแรงของเนตไม่ค่อยเป็นใจเท่าใดแต่ความตั้งใจมีมาก ดังนั้นผมจึงรวบรวมคลิปละครหลายๆ เรื่องที่มีผู้ใจบุญนำไปอัพไว้ไว้ตาม more...
ก่อตั้งโดย thenon
กระทู้: ที่มาที่ไปของ "กว่าจะเป็นละครทีวีไทย" คุณอยากรู้ไหมครับถ้าสนใจเข้ามาดูกระทู้นี้ครับ
โพสต์โดย
thenon

9 ต.ค. 51 เวลา 15:39 5,244 5
  • ความเห็นที่ 1
    เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณของครูอารีย์ นักดนตรี ผู้ให้กำเนิดละครไทย ยังมีผลงานของท่านหลังจากเลิกทำละครแล้ว คือ 1.ผลิตละครเพลงให้ช่อง 9 เนื่องในวันเกิดสถานี เรื่อง "ท้าวแสนปม" ให้ ยุรนันท์ ภมรมนตรี แสดงคู่กับ สกาวรัตน์ สยามวาลา ผู้อ่านข่าวแสดง โดยอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มาให้ รพีพร เรียบเรียงเป็นละครพันทาง ซึ่งครูอารีย์ได้เลือกเพลงประกอบ 12 เพลงไปให้รพีพรเรียงร้อยเข้าไปในบทพระราชนิพนธ์ ล้วนแล้วแต่ไพเราะทั้งสิ้น เป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ชมเหลือเกิน 2.เขียนบทละครโดยเลือกเพลงของสุนทราภรณ์มาร้อยเรียงเกี่ยวกันด้วยภาษาเพลง โดยมิได้ใช้คำพูดเลยแม้แต่คำเดียว ให้แสดงกันประมาณ 6 ชุด ใช้ทั้งบุคคลภายนอก นักร้องในวงสุนทราภรณ์ คนภายในก็มี ศรีอาภา เรือนนาค,ชัชวิน ภูมิดิษฐ์,สกาวรัตน์ สยามวาลา,จารุจิต นวพันธุ์,สมรรัตน์ ปาณะถึก เด็กปั้น คนดูชอบ รับได้ ยิ่งบางชุดเอาพระเอกจากกรมศิลปกรมาแสดงละก็ อัดเทปให้คนดูเอาไปเปิดซ้ำที่บ้านกันไม่หวาดไม่ไหว ย่างเท้าก้าวเข้าสู่โลกโทรทัศน์ตั้งแต่วันเปิดสถานี ก็คือร้องรำทำเพลง ฉะนั้นหนทางชีวิตของครูอารีย์จึงต้องมีงานแสดงเกี่ยวก้อยกันไปตลอดชีวิต
    โพสต์เมื่อ 9 ต.ค. 51 เวลา 15:44
    โดย

    thenon
  • ความเห็นที่ 2
    เรื่องเทปละคร ผมไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่ ทางสถานีเขาน่าจะมีเก็บเอาไว้ ดูอย่างช่อง 3 ยังมีละครเรื่อง"สี่แผ่นดิน"(2534)ฉบับ จินตหรา๒ฉัตรชัย นำกลับมาฉายให้เราได้ชมกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก่อนจะต่อ ผมขอแก้ไขข้อมูลนิดนึงครับ พิมพ์ผิดไป เช่น วันเปลี่ยนช่อง 4 บางขุนพรหม เป็น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. คือ วันที่ 9 เม.ย.2520(พิมพ์ผิดเป็น2519) ถือเป็นวันเกิดของ อ.ส.ม.ท. รู้สึกรถเมล์เอกชนไม่ว่าจะเป็น รถส้ม(บขส.)หรือรถเมล์ขาวนายเลิศ ฯลฯ ก็เปลี่ยนมาเป็น อ.ส.ม.ท.ในเดือน เม.ย.2520 เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นหลังวันที่ 9 เม.ย.นิดหน่อย และผู้สร้างหนังเรื่อง"สวรรค์เบี่ยง"(2513)ฉบับ มิตร-เพชรา ที่เป็นเพื่อนรักของมิตร ชื่อ วิเชียร สงวนไทยครับ(พิมพ์ผิดเป็น วิเชียร วีระโชติ ซึ่งเป็นตากล้องหนังเรื่อง"อินทรีทอง")และตำแหน่งของหัวหน้า จำนง รังสิกุล ที่แท้จริง ก็คือ หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม อาจารย์จำนง รังสิกุล ได้รับการยกย่องให้เป็น"บิดาแห่งโทรทัศน์ไทย" 2511 ดาวรุ่ง นอกจากพิศาล อัครเศรณีแล้ว ยังมี พระ-นางดาวรุ่งของคณะ 67 การละคร โดย สักกะ จารุจินดา คือ สายัณห์ จันทรวิบูลย์(ภายหลังไปเล่นหนังใหญ่เรื่อง"โทน"ของเปี๊ยก โปสเตอร์ เล่นเป็นพระรอง จึงได้เป็นพระรองยอดนิยม โดยเฉพาะบทตลก แทนที่ประจวบ,รุจน์,ชุมพร)และดวงดาว จารุจินดา ขอเพิ่มเติมส่วนตัวนิดนึงครับ สถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของไทย คือ ช่อง 5 ( 7 ขาวดำ) ก่อตั้งขึ้นหลังจากช่อง 4 บางขุนพรหมหลายปี ประมาณ 2501-2502 รายการที่ผมพอจะจำความได้ ยอดฮิตสุดๆคือ รายการ"บันไดดารา" "ป๊อบท๊อป"(20 คำถาม) ของอาจารย์ พันเอกการุณ เก่งระดมยิง ประมาณช่วง 2510 ผู้สร้าง ดำรง พุฒตาล,ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ ฯลฯให้แจ้งเกิดในวงการโทรทัศน์ไทย สถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 คือ ช่อง 7 สี(หมอชิต) และแห่งที่ 4 คือ ช่อง 3(หนองแขม) ส่วนแห่งที่ 5,6 คือ ช่อง 11 (ราวช่วง 2522) ช่อง ITV ช่วง 2539 ส่วนพวกเคเบิ้ลทีวี คงเริ่มกันมาตั้งแต่ช่วง 2526-27 ใครทราบประวัติที่มาของเคเบิ้ลทีวี มาบอกกันด้วยนะครับ แบ่งปันความรู้กันครับ ว่ากันต่อเรื่องละครชอง ช่อง 4 (ตอนนี้เป็นช่อง 9 อ.ส.ม.ท.แล้ว) เรื่องต่อไป คือ "ประทีปอธิษฐาน" ประมาณช่วง 2524 - ประทีปอธิษฐาน ขอต่อเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเรื่อง"อีสา"ครับ ฉากในคุกของลินดา หลังจากเล่นจบแล้ว เธอต้องไปรดน้ำมนต์กันอับโชคด้วย เรื่อง"อีสา"ประสบความสำเร็จมาก ครูอารีย์ มีกำลังใจ ทำเรื่องต่อไป คือ "ประทีบอธิษฐาน"ของศรีฟ้า ลดาวัลย์(อีกแล้ว) ครูอารีย์ พอจะเห็นแววของกาญจา จินดาวัฒน์ ว่าพอจะเป็นนางเอกเดี่ยวๆได้ หลังจากผ่านละคร 2 เรื่องไปได้ดีพอสมควรคือ สาวแก่,อีสา แต่..บทนางเอกในเรื่อง"ประทีปอธิษฐาน" นางเอกชื่อ ปานวาด ซึ่งเป็นคนสวยมากๆ ทั้งรูปร่างและหน้าตา อ้อย(กาญจนา)เป็นคนขึ้นกล้อง แต่มีมุมด้านข้างที่ไม่สวย ดังนั้น ครูอารีย์ จึงต้องเลือกเอา คุณพีรพนต์ แหลมหลวง ผู้มีฝีมือในการตัดภาพและวางตำแหน่งกล้อง ที่สามารถนำภาพออกสู่สายตาคนดูได้อย่างชะงัดนัก เมื่อใช้นางเอกใหม่แสดง ก็ต้องเอาประกบกับพระเอกหลักๆถึง 3 คน ที่จะมาแสดงในเรื่องนี้ โดยเลือก นิรุตติ์ ศิริจรรยา,นพพล โกมารชุน และพ่วงดิลก ทองวัฒนา เขาไปอีกคนหนึ่งดูจะสมบูรณ์ดี เมื่อบอกอ้อยว่าจะให้เล่นละครเรื่องนี้ เป็นนางเอกเดี่ยวประกบ 3 พระเอกยอดนิยม อ้อยถึงกับตกใจ พูดขึ้นว่า "น้าคิดว่าอ้อยจะเล่นได้หรือคะ" "ได้ซี่ น้าตัดสินใจแล้ว อยู่ที่อ้อยด้วยว่าจะมีความพยายามให้น้าเคี่ยวได้แค่ไหน" "แล้วแต่น้าจะกรุณา อ้อยเต็มที่อยู่แล้ว โอกาสมาถึงอ้อย อ้อยต้องพยายาม" ในที่สุดละครเรื่อง "ประทีปอธิษฐาน" ซึ่งมีพล็อตแปลก ส่งตัวคนเล่น ผู้ทำบทก็ใช้มือระดับครู คือ คุณสุภาว์ เทวกุลฯ 3 แรงแข็งขัน(ศรีฟ้า,สุภาว์,อารีย์) ละครย่อมไปได้สวย นวนิยายเรื่องนี้มีความเข้มข้นอยู่ในตัว เมื่อได้ตัวแสดงที่เหมาะกับบทแล้วก็ย่อมไม่มีพลาด คนดูพากันกรี๊ดกร๊าดว่านางเอกของอารีย์เขาเก่ง เล่นเรื่องเดียวดังเลย อนิจจา กว่าจะมาถึงวันนี้ เราร่วมหัวจมท้ายกันมาถึง 3 เรื่องแล้ว พอละครเรื่องนี้ออกอากาศ ก็ดังระเบิดเป็นประวัติการณ์เหมือนเช่นละครที่ผ่านมาทุกเรื่องของครูอารีย์ กาญจนา จินดาวัฒน์ แจ้งเกิดในวงการละครในฐานะนางเอกเจ้าบทบาทคนใหม่ ช่อง 3 เริ่มทำละครมากขึ้น ช่อง 7 ก็หันมาทำละครมากขึ้น จากเดิมจะเป็นหนังทีวีเสียมากกว่า ทุกช่องต่างก็ต้องการตัวกาญจา ทำให้กาญจนาขายดี คิวมาก ไม่แพ้นางเอกรุ่นพี่ รัชนู,เดือนเต็ม,ลินดา ต่างคนต่างก็กระจายไปเล่นละครให้ช่องอื่นไม่ว่าจะเป็น 3,5,7 ทำให้คิวหายากขึ้น ถึงแม้ว่าดาราเหล่านี้จะพยายามหาคิวมาให้เป็นพิเศษแล้วก็ตาม ท้องทุ่งพระราม 9 พ.ศ.2522-2526 มีอาคารใหญ่อยู่เพียง 2-3 ตึก คือ สำนักงานผังเมือง และห้องแถว 2 ฝั่งขนาบทางเข้า อ.ส.ม.ท.ของหมู่บ้าน"ทวีมิตร" มิได้มีอาคารธนาคารสงเคราะห์,ทิพยประกันภัย,ทางด่วน,ถนนกว้างหรือตลาด"ละลายทรัพย์ 2"ดังเช่นทุกวันนี้ พอถึงหน้าฝนน้ำจะเทมาตรงทางเข้า ท่วมจนรถธรรมดาไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องเอารถยีเอ็มซีของทหารมาขนคนจากปากทางเข้าไปใน อ.ส.ม.ท.และต้องจอดรถไว้ตรงปากทาง จึงทำให้ชาวบ้านแถวนั้นสมองใส หาเรื่อหางยาวท้องแบนๆมารับ-ส่งพวกทีมงานคนละ 10 บาทเข้าสถานี นิรุตติ์ ศิริจรรยา เป็นพระเอกที่ใช้บริการประจำเช่นเดียวกับ นวลปราง ตรีชิต ที่ถึงขนาดนุ่งกางเกงขาสั้นลุยน้ำเดินเลาะเกาะกลางถนนเข้ามา ผู้ช่วยต้องถือเสื้อใส่ไม่แขวนสูงๆกันน้ำกระเซ็นโดนเสื่อผ้า ส่วนนักแสดงอื่น เช่น พงษ์ลดา พิมลพรรณ นั้นถึงกับเช่ารถบรรทุกขนาดกลางมากับสามี 2 คน เพราะรู้อยู่ว่าละครอัดเสร็จ 4-5 ทุ่ม หารถออกไปนั้นยากมาก จึงว่าจ้างทั้งขาไปและขากลับ คุณพงษ์ลดาก็ได้เปลี่ยนชุดเฉิดฉายในละครเป็นกางเกงขาบานเหมือนขาก๊วยยักแย่ยักยันปีนขึ้นไปบนรถบรรทุก รถบรรทุกก็สตาร์ตเครื่องเสียงขรมปล่อยควันโขมงขับออกไปโดยมีสองสามีภรรยานั่งเป็นสง่าอยู่กลางรถใต้ประทุน บางทีฝนก็ตกลงมาด้วยและจะทุลักทุเล ครูอารีย์ เห็นความไม่ราบรื่นในการทำงานซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของงานละครรวมทั้งคิวดาราด้วย ได้คุยกับผู้ใหญ่ว่า ควรจะรับนักแสดงที่เอามาฝึกเข้าประจำสถานีเสีย(เหมือนสมัยแรกๆ)ก็จะหมดปัญหา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ คือนายยุคใหม่ไม่ได้ลงมาสัมผัสกับงานเช่นนายยุคบุกเบิก คอยฟังแต่เสียงติชมละคร ละครเรื่องไหนโฆษณาเข้าเยอะก็ดีอกดีใจ คอยแต่รับทรัพย์ลูกเดียว มองในแง่รายรับอย่างเดียว บอกว่าไม่จำเป็นต้องรับนักแสดงเข้าสังกัด จ้างเอาสะดวกกว่า ทำให้ครูอารีย์มองเห็นความล่มสลายอยู่ข้างหน้า เรื่องสุดท้ายที่ครูอารีย์ทำเพราะคิดว่าละครช่อง 9 คงจะไม่ยั่งยืนแน่ หากเราไม่สร้างคนและผลิตบุคลากรเป็นของเราโดยเฉพาะ แต่ก็กัดฟันสู้โดยนำดาราในสังกัดมาประชันกันอีกสักเรื่อง มองดูก็เห็นว่า เรื่องนี้แหละ เหมาะสมที่สุด นั่นก็คือเรื่อง..... **ขมิ้นกับปูน** - ละครเรื่องสุดท้ายของครูอารีย์ - บทเริ่มต้นแห่งความล่มสลายของละคร ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.(ช่อง 4 บางขุนพรหมเก่า ต้นกำเนิดละครแห่งแรกในประเทศไทย) เรื่อง"ขมิ้นกับปูน"นี่แหละ เป็นการประชันพระเอก-นางเอก 3 แบบ 3 อารมณ์ และมีสองตระกูลที่เป็นศัตรูกันอย่างถึงพริกถึงขิง ประชันบทเผ็ดๆมันๆ คงเป็นที่ถูกใจผู้บริหารช่อง 9 พิลึก นางเอกคือ ลินดา,เดือนเต็ม,กาญจนา ฝ่ายชายได้แก่ นิรุตติ์,วิวัฒน์ ประสมทรัพย์ และ ธงไชย แมคอินไตย์(ดาวรุ่งมาแรง) ซึ่งหัวหน้าของสองตระกูลที่ขัดแย้งกันคือ ส.อาสนจินดา และ สมควร กระจ่างศาสตร์ ตัวแสดงเด่นๆทุกคน เรื่องนี้ใช้ต้นทุนมาก ดารามาก หลากหลายบท มีทั้งบทในมหาวิทยาลัย เรื่องการเมือง เรื่องในบ้าน ในที่สุดงบบานปลาย แต่ละครก็ไปได้สวย โฆษณาเข้ามาเยอะ แต่ทางผู้อำนวยการในตอนนั้นสั่งสอบสวนครูอารีย์ โดยให้เช็กเทปแต่ละเทปว่าตัวแสดงจะตรงกับเงินที่เบิกไปหรือไม่ อนิจจา...เหนื่อยแทบตายกลับถูกสอบสวน นี่มันอะไรกัน หัวหน้าฝ่ายจัดรายการแทนที่จะบอกความจริงว่าอะไรเป็นอะไรก็ไม่พูด กลัวเขาจะปลดจากหัวหน้าฝ่ายผลิต วินิจ บุญวิวัฒน์ ผู้มีความสามารถทางการถ่ายข่าว ทำข่าว และเป็นคนเก่าแก่จากช่อง 4 ผู้ซึ่งถูกย้ายงานมาทำงานอยู่ฝ่ายตรวจสอบเดินมาบอกครูอารีย์ เรื่องจะโดนสอบด้วยสีหน้าวิตกว่า "พี่อารีย์ครับ ผมเป็นห่วงพี่เรื่องถูกสอบสวน" ครูอารีย์หัวร่อก่อนจะตอบว่า "สอบไปเถอะ ตัวแสดงบางตัวบทมาช้า ทางฝายบัญชีเขาไม่ยอมให้เบิก ส่งไปแล้วก็แล้วกัน ตัวงอกมาอีกเบิกเพิมไม่ได้ พี่ต้องควักเงินจ่ายตัวแสดงเอง เพราะขี้เกียจไปโต้เรื่องเงินกับฝ่ายบัญชี เอาหัวไปคิดไปลุยละครดีกว่า ถ้าเขายุติธรรมเขาต้องเอาเงินส่วนเกินมาคืนพี่ ไม่ต้องห่วงหรอก พี่มือสะอาด ใจสะอาด ทุ่มเทกับงานให้ อ.ส.ม.ท.มา 10 ปีเต็ม เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสุดท้าย(2528-2529)ที่ทำละครให้สถานี เหนื่อยทั้งกายและใจ ยังจะโดนข้อหาอีกหรือ เงินที่ควักกระเป๋าจ่ายเติมให้สถานีก็ไม่ได้คืนอีกด้วย" ครูอารีย์ เมือตั้งใจเด็ดเดี่ยวแล้วว่าเลิก ก็คือเลิกจริงๆ หัวหน้าฝ่ายจัดรายการมายืนเกาะโต๊ะอ้อนวอนขอให้ส่งเรื่องย่อเพื่อทำละครอยู่หลายหน ก็มิได้ใจอ่อนหันกลับไปทำ สิ้นสุดกันที สนุกมานานนับ 18 ปี ในโลกของการจัดและการกำกับละคร มาตั้งแต่ช่อง 4 จนถึงช่อง 9 มีทั้งความสมใจ ที่ปั้นดินให้เป็นดาว ส่งคนเป็นพระเอก-นางเอก ให้มีอาชีพเลี้ยงตัวและได้ดีไปก็มากมาย ครูอารีย์พอใจแล้ว และตอนนั้นก็ยังมีงานอื่นในสถานีโทรทัศน์ให้ทำอีกมากมาย แม้ว่าจำใจตัดขาดจากงานละครที่รักดังดวงใจ แม้ครูอารีย์ จะเลิกทำละครแล้ว ก็ยังมีพนักงานคนอื่นๆทำต่อไป มีทั้ง สินีนาฏ โพธิเวส,อรวรรณ โปร่งมณี,สุรางค์ ดุริยพันธ์ และ บุปผา อุทธสิงห์ ทำๆกันไปสักระยะหนึ่งกํยังคงมีโฆษณาเจ้าน้อย ขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง จ้างคณะข้างนอกเข้ามาทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ ล่าสุดไนท์สปอรตก็มาเช่าเวลาทำละคร(เทวดาตกสวรรค์-ธเนศ-พงษ์พัฒน์ ฯลฯ)โดยให้ภัทราวดี มีชูธน ผลิต จะเป็นด้วยเหตุใดมิทราบได้ ทำอยู่ 2-3 เรื่องก็เลิกราไป ในที่สุดก็ถึงกาลอวสานของละครช่อง 9 ซึ่งเป็นจ้าวยุทธจักรทางด้านละครมาตั้งแต่กำเนิดละคร(2498)มาล่มสลายเอาช่วง 2530 กว่าๆ ปล่อยให้คู่แข่ง(ช่อง 3 กับ ช่อง 7) วิ่งฉิวปลิวลมมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ช่อง 9 กลับไปเน้น รายการข่าวโดยการว่าจ้างทีมงานแปซิฟิค ของ สมเกียรติ อ่อนวิมล เข้ามาผลิตข่าวและทำรายการจนดังแทนละคร) ส่วนครูอารีย์ ยังมีอายุราชการเหลืออยู่ 6 ปี ก็ได้หันกลับมาฟื้นฟูผู้ประกาศของช่อง 9 ขึ้นมาใหม่หลังจากที่ "นายใหญ่"ผู้ที่ลาออกไปบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีผู้ประกาศของสถานีแจ้งรายการ ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงรายการและข่าวสารต่างๆอันเป็นหัวใจและหน้าตาของสถานี ถ้าไม่มีจะเป็นสถานีโทรทัศน์ได้อย่างไร ครูอารีย์จึงจับเด็กที่หน้าตาดูดีมาฝึกเป็นผู้ประกาศ เช่น ภัทณกฤษณ์ วิเศษสมิต,ศรีอาภา เรือนนาค และเด็กคนหนึ่งที่ครูอารีย์และกรรมการคัดเลือกไว้จากผู้สมัครอ่านข่าว ชื่อ สำวรัตน์ สยามวาลา เอามาฝึกเป็นผู้ประกาศแจ้งรายการโดยมิได้มี่ค่าเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด ในขณะที่ทางสถานีได้ไปว่าจ้างบ.แปซิฟิค ของ สมเกี่ยรติ อ่อนวิมล ซึ่ง ส่ง หนุ่มหล่อ-สาวสวย วัยเอ๊าะลงแข่ง คือ อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง และ อนุชิต จุรีเกษ(บ่น) พอแปซิฟิคหมดวาระลงแบบไม่มีการบอกล่วงหน้า ด้วยนโยบายของผู้บริหารไม่มีการสำรองนักอ่านข่าวไว้ ครูอารีย์จึงต้องให้ สกาวรัตน์ แก้ขัดไปก่อน ก็พออยู่ได้เพราะได้ฝึกมาอย่างดี ครูอารีย์ต้องเอาคนที่ทำอยู่แล้วมาฝึกกันอย่างหนัก เช่น อวัสดา ปกมนตรี,สุนทรี อรรถสุข,สกาวรัตน์ สยามวาลา,สมรรัตน์ ปาณะถึก,ศรีอาภา เรือนนาค,สุวดี นิลพัทน์ ฯลฯ ก็เลยทำให้ข่าวของช่อง 9 กลับฟื้นคืนชีวิตมาในรูปแบบของความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ปัจจับันครูอารีย์ ได้เกษียณอายุราชการไปหลายปีแล้ว(เกิด 2475) ก่อนเกษียณ 2 ปี ท่านก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับทีวี,ผู้หญิง ให้กับนิตยสาร"กุลสตรี"อยู่พัก หลังเกษียณก็ทำละครแสดงที่เฉลิมกรุง ทำทั้งละครเพลงอมตะและเพลงทุกยุคทุกสมัยรวมทั้งฉายภาพยนตร์ด้วย และกลับมาเป็นนักเขียนอีกครั้ง เมื่อ 2 วันก่อนก็มาที่หอภาพยนตร์ ได้ข่าวมาจากคุณมนัส นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนังสือ"โลกมายาของอารีย์"เท่านั้นครับ ยังมีอีกมากเช่น ประวัตของท่าน,วิวัฒนาการ-เทคนิคของโทรทัศน์ในประเทศไทย ลองไปหาดูนะครับ ที่ร้านแพร่พิทยา เซ็นทรัลลาดพร้าว เล่มละ 290 จำนวน 526 หน้า คุ้มค่าครับ(เมื่อหลายเดือนก่อน ที่ B2S เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เหลืออยู่ 2 เล่ม ที่ B2S แฟชั่นไอซ์แลนด์ เหลืออยู่ 3 เล่ม น่าจะหมดไปแล้ว ที่ B2S เซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนนี้ก็ไม่มี) สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นสถานีแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีการทำงานของบุคลากรทางด้านโทรทัศน์รุ่นแรก ที่ต้องค้นคว้าและเสาะแสวงหาทั้งด้านเทคนิคและรายการ รวมทั้งวางรากฐานงานโทรทัศน์ให้มีมาตรฐานเทียมประเทศอื่นๆที่จะให้ความรู้ ความบันเทิง และสาระประโยชน์ทั่วไปแก่ประชาชนชาวไทยให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ได้กลับกลายเป็นตำนานโทรทัศน์ไทย โดยคุณ จำนง รังสิกุลและกลุ่มผู้บุกเบิกรุ่นแรก ได้เล่าขานและศึกษากันมิรู้จบ ถือเป็นต้นกำเนิดละครของเมืองไทย ดูลคร,ขำอกโอ้ ลครฉงน ใยแม่ เราก็เล่น,ลครคน คึกหล้า ตลกละ,พระนางกล ลครเล่น ลครพ่อ แปลกแต่ชุด,เร็วช้า เท่านั้นขวัญเอ๋ยฯ จาก"รุไบยาต" ของ "โอมาร์ คัยยาม" "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์" พระนิพนธ์แปล
    โพสต์เมื่อ 9 ต.ค. 51 เวลา 15:43
    โดย

    thenon
  • ความเห็นที่ 3
    ชลาลัย เป็นละครภาคดึกหลังข่าวเรื่องแรกของช่อง 9 ยาว 1 ชั่วโมง ตอนนั้นละครของช่อง 3 และช่อง 5 เริ่มจะก้าวเตาะแตะมาเทียบรัศมีละครช่อง 9 แล้ว เรื่องนี้ มีตัวละครเด่นๆอยู่ 3 ตัว คือ จงกลณี,ชลาลัย และหยาดอรุณ จงกลณี ได้ ณัฐกานต์ เศรษฐบุตร ส่วนหยาดอรุณ สาวสวยไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ เหมาะแก่ กนกกาญจน์ เอกศศิธร ส่วนตัวชลาลัย เป็นสาวสวยซ่อนเล็บ น้ำนิ่งไหลลึก คิดไปคิดมาก็มาลงตัวเอาที่ลินดา ซึ่งลินดาก็ยอมเล่น ทั้งที่เป็นบทร้าย(นางเอก) แต่บทเด่น ครูอารีย์ก็บอกก่อนแล้วว่า ถ้าเล่นบทนี้แล้ว อาจจะกลับไปเล่นบทนางเอกดี เรียบร้อย ไม่ได้แล้วนะ คนดูอาจจะไม่ยอมรับแล้ว ลินดา ก็บอกว่า "ดาตัดสินใจแล้วว่า เล่นค่ะ เพราะบทดี" และเรื่องนีก็ประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่อง ลินดา สามารถคว้าเมขลานักแสดงนำดีเด่น จากเรื่องนี้ ในปี 2524 แต่หลังจากเรื่องนี้แล้ว ลินดาก็ไม่มีคนจ้างให้ไปเป็นนางเอกที่แสนดีอีกเลย มีแต่เป็นตัวผู้ร้ายอย่างเดียว สาวแก่ / อีสา ครูอารีย์ เริ่มงานชิ้นต่อไป คือ "อีสา" ให้ลินดา รับบท อีสา ปลอบใจ คราวนี้ได้เป็นนางเอกตั้งแต่เด็กจนแก่เลย ได้นักแสดงสาวหน้าใหม่ซึ่งเป็นแฟนของเพื่อนหลานชาย ที่พามาสมัครเล่นละคร ยังเรียนอยู่ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชื่อ กาญจนา จินดาวัฒน์ เป็นนางแบบแป้งพอนด์ คุณพ่อทำงานอยู่ศุลกากร ครอบครัวมีระเบียบ เป็นคนเรียบร้อย ครูอารีย์ เห็นว่ายังเรียนไม่จบ ไม่อยากนำมาแสดง เพระกลัวจะเรียนไม่จบ แต่หลานชายยืนยันคุณสมบัติข้างต้น และบอกว่าอ้อยเขาเรียนสบายๆอยู่แล้ว ปีหน้าแจ๊ค(แฟนกาญจนา)ก็จะจบแล้ว ครูอารีย์ เห็นตัวจริง รูปร่างอรชนอ้อนแอ้นสวยดี เพียงแต่เดินหลังค่อมไปนิด พูดช้าไปหน่อย ไม่เป็นไรฝึกกันได้ คุณสมบัตที่ดีคือไหว้สวย และเป็นเด็กเรียบร้อยใช้ได้ จึงรับเข้ามา โดยให้เริ่มฝึกเล่นเป็นพยาบาลในเรื่อง"สาวแก่" มีบทพูดนิดหน่อย พอเรื่องที่ 2 ก็ให้เล่นเป็นตัวบทหมอใจสว่างกับรุ่นพี่ มี นิรุตต์ ศิริจรรยา กับ อนุสรณ์ เดชะปัญญา เป็นพระเอก รัชนู เป็นนางเอก ก็ไปได้ดีพอสมควร จึงคิดว่าน่าจะเอามาแสดงบทที่ใช้อารมณ์มากขึ้นได้เพราะเป็นคนเอาใจใส่ดี มาซ้อมและบันทึกเทปตรงเวลา ต่อมาเรื่อง"อีสา" ก็กำหนดตัวให้กาญจนาเป็นตัวโสภิตพิไล ซึ่งเป็นลูกอีสา ซึ่งจะปล่อยตัวออกมาในครึ่งตอนหลังพร้อมๆกับเด็กใหม่ในคณะอีกคนคือ ดิลก ทองวัฒนา ที่ขอยืมตัวมาจากช่อง 3 ดิลก เพิ่งเป็นนักเรียนการแสดงของช่อง 3 รุ่นเดียวกับ ธงชัย ประสงค์สันติ และ คนที่เล่นบทสมทรง จากคำพิพากษาที่กษมาเล่นเป็นไอ้ฟัก และเพิ่งเล่นเป็นพระเอกได้เพียงเรื่องเดียวจากช่อง 3 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในทางลบทางการแสดง จนดิลก ท้อและหมดกำลังใจ แต่ก็มาแจ้งเกิดจากเรื่องนี้ โดยการเคี่ยวและให้กำลังใจจากครูอารีย์ จนทั้งกาญจนาและดิลก ประทับใจและซาบซึ้งต่อความเมตตาที่ครูอารีย์ มีต่อคนทั้ง 2 ถึงกับคนทั้ง 2 พูดตรงกันว่า เขาทั้ง 2 เป็นเด็กจากสำนักของครูอารีย์ ดังนั้นเมื่อเวลาไปแสดงละครด้วยกันที่ไหน เขาจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ตราบทุกวันนี้ ดิลกพูดกับครูอารีย์ว่า"หมูต้องขอบพระคุณน้ารีย์เป็นอย่างยิ่งที่กำกับเสียจนคนยอมรับหมู จากนั้นหมูก็มีงานเข้ามามากมายจนซื้อบ้าน ซื้อรถได้ด้วยตัวเอง บุญคุณของน้ารีย์ หมูไม่มีวันลืมได้" คนสมัยก่อนเขามีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอย่างนี้ล่ะครับ ครูอารีย์ เป็นผู้กำกับที่ไม่ดุ แต่จะเข้มงวด จะไม่พูดจาให้เด็กเสียกำลังใจและอับอาย เพราะรู้ๆอยู่แล้วว่าเด็กใหม่ย่อมจำต้องอ่อนหัด การให้กำลังใจเด็ก ประดุจน้ำอมฤตที่ดื่มกินได้ตลอดเวลา ด้วยความชื่นใจ เด็กจะเกิดได้ดีหรือไม่ก็อยู่ที่ฝีมือกำกับฯที่เกื้อกูลตัวละครนั่นเอง ละครอีสา ประสบความสำเร็จท่วมท้นอีกเช่นเคย ขอพักก่อนครับ ละครเรื่องต่อไปคือ "ประทีบอธิษฐาน" จะมาพูดในวันจันทร์ครับ ใกล้จบชีวิตนักจัดละครของครูอารีย์ นักดนตรี แล้วครับ ยังไงผมขออนุญาตินำเรื่องราวที่ท่านเขียนบางส่วนมาลงเป็นวิทยาทานด้วยนะครับ ครูอารีย์ นักดนตรี ผมก็เพิ่งรู้จักท่านจากหนังสือเล่มนี้ เคารพ,นับถือ,ศรัทธาท่านด้วยใจจริงครับ
    โพสต์เมื่อ 9 ต.ค. 51 เวลา 15:42
    โดย

    thenon
  • ความเห็นที่ 4
    ขอต่อเลยนะครับ ขอย้ำว่า เรื่องราวของช่อง 4 ผมสรุปมาจากหนังสือ"โลกของอารีย์" ต้องขออนุญาติอาจารย์อารีย์ นักดนตรีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด ผมคัดลอกมาเพื่อเป็นวิทยาทานบันเทิงให้กับผู้สนใจในเรื่องของละครไทยและดาราละครไทย เท่านั้น ก็จะพูดเฉพาะในเรื่องของดาราละครเท่านั้น เทคนิคหรือวิวัฒนาการด้านอื่น จะไม่นำมาพูด ส่วนช่องอื่นเป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง 2513 - เกิดสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกช่อง เป็นช่องที่ 3 ในประเทศไทย คือ ไทยทีวีสีช่อง 3 หนองแขม ได้คนจากช่อง 4 บางขุนพรหมมาหลายคน ส่วนกรรณิการ์ ธรรมเกษร ก็เป็นเด็กฝึกงานที่ช่อง 4 ตั้งแต่เด็กๆ ได้เล่นละครชิมลางไปแล้วด้วย ก็มาสมัคร ได้เป็นใหญ่ที่นี่ แล้วยังมี มานวิกา เปรมวิภาค(แม่ของปอรัชต์ ยอดเณร),สันติสิริ,มีศักดิ์ นาครัตน์ พร้อมทีมพากย์ แข็งปั๋ง คือ อุดม สุนทรจามร,อนุวัฒน์,กรรณิการ์,มาณวิกา ฯลฯ มีรายการถ่ายทอดสดยอดฮิตคือ คนดังพาเหรด โดย ยิ่งยง สะเด็ดยาด เชิญดาราดังๆมาออกรายการได้หมดทุกคน ต่อไป ผมจะพูดเฉพาะเรื่องราวของช่อง 4 เพราะในหนังสือนี้ ผู้เขียนคือ คุณอารีย์ นักดนตรี ท่านทำงานที่ช่อง 4 และพูดเฉพาะเรื่องราวของช่อง 4 ส่วนช่องอื่น ผมเติมเข้าไปเอง เพื่อให้กลมกลืนกันและเชื่อมโยงสมดุลกัน 2513 - ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ เข้ามาทำงานแต่ยังไม่ได้เล่นละคร พอ 2514 ก็เล่นละครเรื่อง"บันไดเมฆ" เป็นน้องนางเอก นางเอกคือ บุศรา นฤมิตร พระเอกคือ กำธร สุวรรณปิยะศิริ,สุรินทร์ แสงขำ ช่วงหลังจากนี้ ช่อง4 เริ่มอัตคัดพระเอก กำธร สุวรรณปิยะศิริ จากรูปร่างหน้าตาที่เคยหล่อเหลา ล่ำสำ ก็เริ่มโรยราไปตามกาลเวลา กลายเป็นดาราอาวุโสไป จึ ต้องหาเองจากคนข้างนอก ทั้งพระเอก,พระรอง ก็มี ชุมพร เทพพิทักษ์ และแมน ธีรพล ส่วน รุจน์ รณภพ ก็เป็นพระรอง เอามาจากหนังใหญ่ทั้งนั้น ส่วนดาราสาวๆก็ใช้คนในสถานีทั้งหมด มี อรวรรณ โปร่งมณี,เพลินพรรณ เกียรตินิยม,สุทธิจิต วีรเดชกำแหง,ศิริพร วงศ์สวัสดิ์,สมจินต์ ธรรมทัต,สินีนาฎ โพธิเวช,รอง เค้ามูลคดี,ประชา เทพาหุดี ฯลฯ มิ.ย.2513 สามารถส่งโทรทัศน์สีได้ จากการอนุมัติตั้งแต่ พ.ค.2508(ระบบ 625 เส้น) แต่ยังไม่ได้ใช้ เพราะติดการขนย้า จากสถานีจากบางขุนพรหมไปยังสถานีชั่วคราวที่บางลำพู 2513 นิรุตต์ ศิริจรรยา หนุ่มนักเรียนนอก หล่อ สมาร์ท ทำงานที่การบินไทย เริ่มเข้าสู่วงการละครก่อน โดยแมวมอง เทิ่ง สติเฟื่อง ชักนำเข้ามาเล่นเป็นพระรอง,พระเอก อยู่หลายเรื่อง ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร พอ 2515 เทิ่ง หันไปสร้างหนังใหญ่เรื่อง"ดาร์บี้"เอานิรุตต์ เป็นพระเอก พบนางเอกยอดนิยม อรัญญา นามวงศ์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ นิรุตต์ ต้องกลายเป็นพระรอง ตาม สมบัติ-กรุง-สรพงษ์ อยู่พักใหญ่ แล้วจึงหันกลับมาเล่นละครอีกครั้ง ในเรื่อง"ไฟพ่าย"ละครที่ดาราต้องท่องบทเอง ประกบ สมภพ-ภั่ทราวดี ประสบความสำเร็จพอประมาณ นิรุตต์ มาดังในบท จะเด็ด ละคร"ผู้ชนะสิบทิศ" ทางช่อง 9(ช่อง 4 เดิม)ช่วงปี 2520 และขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกละครยอดนิยมอันดับ 1 หลังจากเรื่อง"ผู้กองยอกรัก"(2522)"ทางช่อง 5 ดังระเบิด เกิดคู่พระนาง นิรุตต์-ดวงใจ ,นิรุตต์-รัชนู ขึ้นมาแทน พิศาล อัครเศรณี ซึ่งไปได้ดีจากหนังใหญ่ เรื่อง"รักเอย" ซึ่งพิศาล ก็เคยครองตำแหน่งพระเอกละครยอดนิยม ต่อจาก กำธร สุวรรณปิยะศิริ 2516 เดือนเต็ม สาลิตุลย์ เด็กนักเรียนสาว อายุ 16 โรงเรียนนาฎศิลป์ กรมศิลปากร ได้เข้ามาฝีกแสดงเป็นตัวประกอบ ละครเรื่อง "หลานสาวคุณหญิง" มีคู่พระ-นาง ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ - ชุมพร เทพพิทักษ์ มีพระรองดาวรุ่งกำลังมาแรง ภิญโญ ทองเจือ และเปียทิพย์ คุ้มวงศ์ สาวเซ็กซี่ ร่วมแสดงด้วย ดาราประจำในยุคนั้นที่ถูกอัธยาศัยเรียกมาเล่นกันบ่อยก็มี สุพรรณ บูรณะพิมพ์,พงษ์ลดา พิมลวรรณ,กิ่งดาว ดารณี,โฉมฉาย ฉัตรวิไล,อดุลย์ ดุลยรัตน์,ชุมพร เทพพิทักษ์,มาลี เวชประเสริฐ,มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ฯ 2517 ย้ายสถานีจากบางขุนพรหมไปยังบางลำพู มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้บังคับบัญชาเบื้องบนก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้บริหารคนใหม่ คือ คุณ สรรพสิริ วิรยศิริ แล้วก็ต้องออกจากตำแหน่งไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9 ตุลาคม 2519 ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ ลาออกไปพากย์หนังอยู่กับช่อง 3 รวมทั้งแบ่งเอาตัวละครจากช่อง 4 ไปแสดงที่นั่น ทั้ง กนกวรรณ ด่านอุดม,ฉันทนา ธาราจันทร์ และ เพลินพรรณ เกียรตินิยม 2517-2518 จตุพล ภูอภิรมย์ ก้าวเข้าสู่วงการละครก่อนหนัง เรื่องแรก คือ "อีสา" รับบท ม.ร.ว.รวี โชติช่วง เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ รับบท"อีสา" กรรณิกา ธรรมเกษร เป็นคุณหญิง เป็นละคร 6 ตอนจบ ได้รับความนิยมมาก - วุฒิ คงคาเขตร์ ข้าราชการการประปา ที่เป็นนักแสดงสมทบและหาเวลานอกราชการมาแสดงละคร ภาคดึก ได้ฝากฝังน้องชายคือ ศิริวัฒน์ คงคาเขตร์ ให้ร่วมแสดงด้วย ในละครของคณะอารีย์วัลย์(อารีย์ นักดนตรี) -ศิริวัฒน์ คงคาเขตร์ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเพื่อนฝูงอยู่ในทีมละครของมหาวิทยาลัยมาก จึงได้นำตัวแสดงจากภาพยนตร์พากย์เสียงของดาราฟิลม์(ช่อง 7)มาฝากฝังหลายคน เช่น อุทุมพร ศิลาพันธ์,รัชนู บุญชูดวง,รัชนีพร บิชอป,ชัชนี ดำรงชัย ฯลฯ รัชนู บุญชูดวง เป็นคนแรกที่ครูอารีย์ นักดนตรี นำมาฝึกเล่นละครก่อน(ต่อจากเดือนเต็ม ช่วงหลังต้องใช้ดาราจากภายนอก เนื่องจากนโยบายของผู้บริหารใหม่ นักแสดงหลักเดิมๆโดนปล่อยเกาะหมด ทั้ง กำธร,สมจินต์,นงลักษณ์ ฯลฯ) มีปัญหาเรื่องการพูด ต้องฝึกหนักหน่อย จึงปล่อยให้แสดงละครเรื่องแรกในชีวิตของรัชนู คือ "คุ้มผาดำ" รัชนู เป็นคนสวยคมแต่แข็ง เหมาะกับบท นางเอกที่แข็ง เช่น "ใครกำหนด" ส่วน สุริยา ชินพันธ์ เข้ามาร่วมกับพี่สัมพันธ์ เมื่อหัวหน้าจำนงพ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงเป็นดาราประจำสถานีอยู่ได้ไม่นาน ก่อนละคร"ใครกำหนด"จะส่งรัชนู ให้ดังระเบิดฟ้า ทางครูอารีย์ นักดนตรี ก็เตรียมงาน"เครื่องแบบสีขาว"ก่อน ได้พระเอก-นางเอกคู่ขวัญ ของคุณอารีย์ ในช่วงนั้น มาแสดง คือ นิรุตต์ ศิริจรรยา-ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ได้มีการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ เปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อ.ส.ม.ท.) มีผลบังคับเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2519 และถือเอาวันนี้เป็นวันเกิดของ อ.ส.ม.ท.พนักงานเก่าที่ถูกจำหน่ายออกมี 50 คน รวมทั้ง นักแสดงประจำด้วย เช่น สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์,สมจินต์ ธรรมทัต,นฤพนธ์ ดุริยพันธ์,บุญถึง ฤทธิเกิด,สมพงศ์ สมใจเจริญ ฯลฯ แต่พวกเขาเหล่านี้ก็มีผู้อ้าแขนรับไปทำงานกันทุกคน ทำให้ละครเรื่อง"ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ที่วางตัวนฤพนธ์ ดุริยพันธ์ เป็นพระเอก เกิดอาการรวนเร เพราะเจ้าตัวไม่ยอมกลับมาเล่นให้เสียศักดิ์ศรี นายใหม่ให้ผู้จัดไปขอร้อง จนในที่สุดก็ต้องมาเล่น เพราะสงสารผู้จัด -สวรรค์เบี่ยง ปลายปี 2520 ครูอารีย์ นักดนตรี ได้เลือกเอาเรื่อง"สวรรค์เบี่ยง" ของ กฤษณา อโศกสิน มาทำเป็นละครสั้น ได้พระเอก อัศวิน รัตนประชา มาเล่น หลังจากเพิ่งชิมลางหนังสั้นไปเพียงหนึ่งเรื่องคือ"ผู้ชนะสิบทิศ"ของคณะกัญชลิกา ซึ่งเป็นของ กัณฑรีย์ นาคประภา แต่ไม่ประสบความสำเร็จและตัดสินใจเอา เดือนเต็ม สาลิตุลย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็หันไปเล่นหนังใหญ่อยู่หลายเรื่อง ไม่ประสบความสำเร็จ ก็กลับมาเล่นละคร สกาวเดือน คู่ ภิญโญ ทองเจือ ฮือฮาพอสมควร ละคร"สวรรค์เบี่ยง" ออกอากาศต้นปี 2521 กลายเป็น "สวรรค์ส่ง" ดังระเบิด ชาวบ้านติดกันงอมแงมตั้งแต่เริ่มตอนที่ 1 เลย(รวมทั้งผมด้วย ซึ่งยังเด็กอยู่ และเป็นละครเรื่องแรกที่ผมติดตามดูตั้งแต่ต้นจนจบ) เริ่ม 6 โมงเย็น ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคนหลังเลิกงานหรือเลิกเรียนต้องรีบกลับบ้าน รวมทั้งผมด้วยหลังเลิกเรียน ผมก็รีบกลับบ้าน บางคนกลับบ้านไม่ทัน ก็จะมานั่งหรือยืนออดูกันที่หน้าสถานีชั่วคราวบางลำพู ผู้อุปถัมภ์(โฆษณา)เต็มเหยียดจนล้น จนชาวบ้านโทรศัพท์เข้ามาต่อว่า ว่าทำไมโฆษณาเยอะจัง ละครเรื่องนี้เป็นสาเหตุให้คณะกรรมการการบริหารวิทยุและโทรทัศน์ถึงกับขีดเส้นตายให้โฆษณาได้ไม่เกินตามที่กำหนด คือละครครึ่งชั่วโมง มีโฆษณาได้ 5 นาที เรื่องนี้ตอนทำเป็นหนังเมื่อปี 2513 มิตร-เพชรา สร้างโดย วิเชียร วีระโชติ เพื่อนรักของมิตร โดยมี อดุลย์ ดุลยรัตน์ ซึ่งก็เป็นเพื่อนรักของมิตร กำกับ ก็โด่งดังทำเงินมากมาย หลังจากที่เพื่อนวิเชียร สร้างหนังเจ๊ง มาตลอด 3-4 เรื่อง -ใครกำหนด ละครเรื่องต่อมาของครูอารีย์ นักดนตรี คือ"ใครกำหนด" บทของ"คุณนิ่ม"ทาริกา สำหรับนางเอกสวย รวย เชิด หยิ่ง ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับเธออีกแล้ว....รัชนู บุญชูดวง พบ 3 พระเอก อัศวิน รัตนประชา(เจ้าเก่า),สุเชาว์ พงษ์ วิไล และพระเอกละครยอดนิยมในขณะนั้น นิรุตต์ ศิริจรรยา ละครออกอากาศ รัชนู แจ้งเกิด โด่งดังระเบิด มีละครตามมาอีกมากมายหลายเรื่อง ดังกว่าเล่นหนังทีวี ของดาราฟิล์ม ทางช่อง 7 ซะอีก ถึงขนาดรัชนู ซาบซึ้งไม่ลืมครูอารีย์เลย แม่ม่าย / หลานสาวคุณหญิง หลังจากละครเรือง"ใครกำหนด"ประสบความสำเร็จอย่างท้วมท้น ละครสั้นประจำวันเรื่องต่อไป คือ "แม่ม่าย" ดาราเด็กในอดีตของช่อง 9 อายุเริ่มมาก พอดีมีเด็กรุ่นใหม่รอคิวแสดงอยู่คือ อุทุมพร ศิลาพันธ์ และ มนฤดี ยมาภัย และฝ่ายชายคือ ร.ต.อ.อนุสรณ์ เดชะปัญญา นายร้อยหนุ่มหล่อจากกองทัพบก มาร้องเพลงในรายการวันกองทัพไทยทางทีวีช่อง 9 และได้พากเพียรฝากเนื่อฝากตัวกับครูอารีย์ จนครูอารีย์ต้องรับเข้าสังกัด ละครเรื่องนี้มีพระเอก-นางเอก ทั้งรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหลาน ตัวแสดงเยอะ พระเอกรุ่นพ่อคือ อดุลย์ ดุลยรัตน์ รุ่นลูกคือ อัศวัน รัตนประชา,อนุสรณ์ เดชะปัญญา รุ่นลูกสาวๆ ก็มี เดือนเต็ม สาลิตุลย์,อุทุมพร ศิลาพันธ์,มนฤดี ยมาภัย,วิไล เพชรเงาวิไล ซึ่งเพิ่งจะเริ่มฝึกการแสดง ทั้ง 4 คนเป็นน้องใหม่ในคณะของครูอารีย์ ก็ออกจะเหน็ดเหนื่อยพอควร แต่โชตดีที่ยุคนั้นละครยังมีน้อย ตัวละครมีคิวให้ซ้อมจนเป็นที่พอใจ งานจึงผ่านไปได้ด้วยดี ต่อจาก แม่ม่ายก็เป็นละคร"หลานสาวคุณหญิง"ของ ศรีฟ้า นางเอกเป็นน้องนางบ้านนาจากสุพรรณบุรี ที่คุณหญิงน้าสาวเอามาชุบเลี้ยงจนเป็นดาวสังคม และต้องเป็นนางแบบด้วย ตามฟอร์มของลูกหลานคุณหญิงคุณนายยุคนั้นจะต้องเป็นนางแบบเดินแฟชั่นการกุศล ใครจะเหมาะสมรับบทนี้ รัชนู รึ คงไม่ใช่แน่ ก็ให้เผอิญครูอารีย์ไปเตะตาเด็กฝึกเล่นละครของภัทราวดี ทางช่อง 3 ที่เล่นละครชุดสั้นๆ 2-3 ตอนอยู่ เป็นเด็กที่คุณจำลอง สามีคุณน้อย เชื้อวิวัฒน์ ส่งไปเรียนทำผมและเดินแบบจากอังกฤษ ชื่อ ลินดา ค้าธัญเจริญ หลังจากได้คุยกัน ลินดาก็ตกลงมาเล่นละคร เป็นนางเอกเรื่อง "หลานสาวคุณหญิง" พอละครออกอากาศไปวันแรก แฟนละครของคุณอารีย์ไม่พอใจ ทนดูไม่ได้ เพราะเคยเปิดละครมา มีแต่ฉากนางเอกสวยสดงดงามอลังการ พอมาเจอนางเอกนุ่งผ้าถุง มัดผมง่ายๆแบบคนชนบท ไม่มีการแต่งหน้าแต่งตา โดนแฟนหนังโทรมาต่อว่ามากมายตลอด 2 ตอนแรก ว่านางเอกหน้าตาไม่สวย ผอม ดำ บ้านนอก ไม่แต่งหน้า แต่พอถึงตอนที่ 3 นางเอกถูกคุณหญิงน้าพาไปแต่งหน้าทำผมงามเฉิดฉาย คนดูที่โทรมาต่อว่าเสียๆหายๆเงียบกริบ ไม่โทรมาอีกเลย ละครประสบความสำเร็จเกินคาด หลังจากนั้นลินดา ก็ดังติดลม หันไปเล่นหนังเรื่องแรก คือ "แก้ว" ของเปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นนางเอกพบพระเอกใหม่ ทูน หิรัญทรัพย์ ก็ประสบความสำเร็จ มีทั้งหนังเล่นมากมายแต่จะไปเป็นตัวรอง,ตัวร้ายเกือบหมด ขณะที่ในละครก็มีมาก เปลี่ยนจากนางเอกมาเป็นตัวรอง,ตัวร้าย ในที่สุด กุหลาบไร้หนาม / สามอนงค์ ลินดา ได้ฝากฝังเพื่อนสนิทคนหนึ่งให้มาแสดงละครด้วย ชื่อ นวลปรางค์ ตรีชิต ซึ่งเป็นนางแบบเหมือนกัน แต่เนื่องจากครูอารีย์ มีนางเอกประจำครบทุกบุคลิกแล้ว จึงเสนอบทตัวเด่นกว่านางเอกแต่ร้ายให้ นวลปรางค์ ก็จำยอมตอบตกลง เรื่องนั้นคือ "กุหลาบไร้หนาม" ในขณะที่บทนางเอก จะเรียบเรียบ มอบให้ ปนัดดา โกมารทัต นางเอกหนังจากเรื่อง"ผีเพื่อนรัก"และ"หยาดพิรุณ" แต่ไม่เคยเล่นละครมาก่อน ส่วนพระเอกมี 2 คน คือ อัศวิน รัตนประชา(เจ้าเก่าอีกแล้ว) กับ พระเอกดาวรุ่ง ฉายา"ไชยา 2 " ปรัชญา อัครพล ซึ่งได้รับการฝากฝังมาจากศิริวัฒน์ คงคาเขตร์ ก่อนหน้านี้ได้เล่นหนังใหญ่เป็นพระรองมาก่อนจากหนังเรื่อง"สลักจิต" ของ สมบัติ เมทะนี เรื่อง"กุหลาบไร้หนาม" ได้รับความสำเร็จ อีกตามเคย ทำให้ นวลปราง ดังระเบิด ต่อจากนั้นก็เริ่มวางตัวละครเรื่อง"สามอนงค์"ของศรีฟ้าทันที โดยเอา ลินดา,รัชนูและนวลปรางค์ มาเป็นพี่น้อง 3 ใบเถา พระเอกมี 2 คน คนที่เป็นตัวดีให้อัศวินไป(อัศวินอีกแล้ว) ส่วนอนุสรณ์ เดชะปัญญา ให้เป็นพระเอกจอมเกเร หลานรักของคุณย่า อนุสรณ์ อยากเล่นเป็นตัวอัศวินมากกว่า ครูอารีย์ ก็ให้กำลังใจว่า " ตัวนี้สิใครเล่นแล้วจะดัง เอ๋น่ะต้องเล่นบทนี้แหละ เพราะหน้าตาหัวหูของเธอน่ะหล่อแบบเกเร เล่นแล้วมันดีนะ บทเรียบๆ จะดีอะไร ไม่ได้แสดงฝีมือเท่าไร" เมื่อเริ่มบันทึกเทปละครเรื่อง"สามอนงค์"ไปได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ทางทีมงานต้องขนข้าวของย้ายจากสถานีชั่วคราวบางลำพูไปยังทุ่งมหากาฬ พระราม 9 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นทุ่งนา พื้นต่ำ น้ำขัง ยิ่งหน้าฝน น้ำยิ่งท่วมสูงหนัก รถตายกันเป็นแถว ดาราและทีมงานลำบากกันถ้วนหน้า ละคร"สามอนงค์" เกิดดังระเบิด คนดูโทรมาให้กำลังใจ ทางทีมงานก็เลยหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง หลง ละครเรื่องต่อมา คือ เรื่อง"หลง"ของศรีฟ้า ลดาวัลย์(เจ้าประจำ) ทีแรกตั้งใจจะเอารัชนู แสดงเป็นนางสาววิรงรอง แต่เวลาแสดงไปชนกับละครของกนกวรรณ ด่านอุดม ที่รัชนู เป็นนางเอก ทางช่อง 5 พอดี จึงให้ลินดาแสดงแทน ทั้งๆที่รัชนูเหมาะสมกว่า ขออนุญาติส่งข้อความข้างบนไปก่อนนะครับ กลัวยาวไป เดี๋ยวพลาดที ยุ่งเลย เดี๋ยวมาต่อด้วยละครเรื่องต่อไป คือ "ชลาลัย"
    โพสต์เมื่อ 9 ต.ค. 51 เวลา 15:41
    โดย

    thenon
  • ความเห็นที่ 5
    มาของละครไทย เครดิตช้อมูลจาก http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=2527&page=5&keyword= ละครไทย เกิดขึ้นหลังจากการเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย ซึ่งออกอากาศอย่างเป็นทางการวันแรก คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2498 ใช้ชื่อว่า บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด(ท.ท.ท.)ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้งสถานีวิทยุ ท.ท.ท.ไว้ก่อนแล้ว เมื่อ 31 ม.ค.2497 โดยการดำริของพณฯท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังจากนั้นไม่นาน คุณ จำนง รังสิกุล หัวหน้าสถานีก็ดำริให้จัดละครขึ้นเป็นครั้งแรก(ก่อนหน้านี้จะมีแต่ละครรำ,ละครพันทาง) ละคร เรื่องแรกของไทยจึงเกิดขึ้นที่ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม(4แยกคอกวัว) คือ เรื่อง "สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน" จัดโดย พจนีย์ โปร่งมณี (ซึ่งอยู่ในทีมงานรุ่นแรกและเป็นดาราละครจากรั้วนาฎศิลป์ กรมศิลปากร) ผู้กำกับการแสดงยังไม่มี ทุกคนจะคอยช่วยกันติชม พระเอกละครคนแรกจากเรื่องนี้มีอยู่ 2 คน คือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ โชติ สโมสร(นายทหารผู้รักศิลปการแสดง) นางเอกละครคนแรกและคนเดียวคือ นวลละออ ทองเนื้อดี ละครเรื่องแรกออกอากาศไปได้อย่างน่าพอใจ ดาราละครที่เล่นให้ช่อง 4 ก็เอามาจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.อารีย์ นักดนตรี(นางเอกละครยอดนิยมอันดับ 1 คนแรกของเมืองไทย)เหมาหมดทั้งนางเอกละครรำ,ละครพันทาง,เจ้าหน้าที่ห้องส่ง,ผู้ประกาศ,โฆษก,พิธีกร,นักโฆษณาสินค้า,ร้องเพลง, นางเอกละคร เรียกว่าไม้จิ้มฟ้นยันเรือรบ เป็นเสาหลักตั้งแต่เริ่มจนเปลียนเป็นช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ท่านก็ยังเป็นผู้จัดละครอันดับ 1 สร้างดาราละครประดับวงการมากมายหลายสิบคน เช่น พิศาล-ภิญโญ ทองเจือ-นิรุตต์-อัศวิน-อนุสรณ์-ดิลก-กนกวรรณ-นันทวัน-ศิริพร-เดือนเต็ม-นวลปราง-ลินดา-กาญจนา-อุทุมพร ฯลฯ จนท่านขอเกษียณตัวเองในเวลาต่อมา ถือเป็นปูชนียบุคคลทางด้านละครจริงๆ ได้รับรางวัลระดับโลกคือรางวัลผู้ประกาศยอดเยี่ยมหญิง The Best Female Announcer ประจำปี 2504 จากสถาบันวิทยุและโทรทัศน์ของสถาบัน ONDAS แห่งประเทศสเปน 2.ชูชีพ ช่ำชองยุทธ(ท้วม ทรนง) คนนี้ รับเข้ามาทำงานเพราะกะว่าจะให้มาเป็นพระเอก เพราะเห็นแววเล่นหนังดีจากบทพระเอก"ไอ้ขวัญ"ในหนังใหญ่เรื่อง "แผลเก่า" เมื่อปี 2497 แต่เพราะรูปร่างเริ่มท้วม(อายุ 29) เลยถูกเปลี่ยนชื่อตามรูปร่าง แล้วตัวจริงแกมีมุขตลกเยอะ เลยให้เป็นตัวตลก ท่าจะรุ่งกว่า 3.สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ รับเข้ามาหลังจากสถานีเปิดได้ 6 เดือน(อายุ 23 หนุ่มฟ้อ หล่อเฟี้ยว สูงโปร่ง) ตั้งใจจะให้แสดงละครเป็นพระเอกโดยเฉพาะ เพราะตอนนั้นท่านเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น สาขาภาพยนตร์ รูปร่างสูงเพียว หน้าตาหล่อเหลาเอาการ เล่นเป็นพระเอกได้ไม่กี่เรื่อง ไม่ค่อยรุ่ง พอหันมาเล่นร้าย ได้รับการต้อนรับอย่างดี เลยกลายเป็นตัวร้าย ตีคู่มากับ สมจินต์ ธรรมทัต มีหน้าที่ประจำอยู่แล้วหลายอย่าง เช่น ผู้จัดรายการ,นักพากย์ประจำสถานีเหมือนสมจินต์(อายุเท่ากันด้วย) 4.ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ หัวหน้าจำนง รังสิกุล ได้ไปงานนักเรียนเก่าอังกฤษ ได้ชมการแสดงเสภาเรื่อง"ขุนช้างขุนแผน"ตอน"ฟันม่าน"หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 เกิดติดใจเสียงขับเสภาของท่าน จึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมงานในทีวีช่อง 4 เพราะเห็นแวว่า จะมาเป็นกำลังสำคัญของสถานีโทรทัศน์ได้ กอปกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และคุณหญิงอุดมลักษณ์ ซึ่งสนิทกันมาก ได้ออกปากชวนให้มาทำงงานที่ช่อง 4 ด้วยกัน คุณชายถนัดศรี เลยตอบตกลงทันทีหลังจากเปิดสถานีได้ไม่ถึงเดือน(อายุ 29) 5.บรรยง เสนาลักษณ์(เทิ่ง สติเฟื่อง) เข้ามาทำงานรุ่นแรกๆไล่เลี่ยกับท้วม ทรนง แต่บรรยง อายุน้อยกว่าหลายปี (อายุ 23 ท้วม 29) หัวหน้าจำนงรับเข้ามาทำงานเพราะเขาเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ที่ขึ้นเวทีจนเจนแล้วและมีปฏิภานดี จึงรับเข้ามาในทันทีที่เขียนใบสมัครก่อนเปิดสถานีช่อง 4 ไม่ถึง 3 เดือน โดยเข้ามาหลังอารีย์ นักดนตรี เพียง 2 เดือนเท่านั้น พระเอกก็มีแล้ว คือ หม่อมถนัดศรี,สะอาด ยังขาดตัวตลก นายบรรยง ตัวจริง เป็นคนหัวไว ปากไว ปัญญาดี ขยัน ข้อสำคัญมีอารมณ์ขันอยู่เป็นนิจ มักจะมีคำพูดแปลกๆมาจี้เส้นในรายการบนเวทีที่ท่านอารีย์เป็นพิธีกร หัวหน้าจำนงจึงมอบหมายให้นายบรรยง เป็นตัวตลกคู่กับท้วม ทรนง โดยตั้งชื่อใหม่ให้ว่า เทิ่ง กระหม่อมทอง ชื่อ เทิ่ง มาจากกิริยาที่เดินเทิ่งๆของเขาเอง ส่วนนามสกุล หัวหน้าจำนงตั้งขึ้นเอง พอออกอากาศไปได้ครั้งเดียว ก็มีโทรศัพท์มาจาก ร.อ.ขุนแผน กระหม่อมทอง ท้วงว่าเป็นนามสกุลของเขา หัวหน้าจำนงบอกให้คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้งให้ใหม่ คุณอาจินต์ ก็ดูเอาจากสติปัญญา ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็คิดแต่เรื่องเฟื่องๆฟูๆผิดมนุษย์คนอื่น จะออกหัวคิดทำอะไรก็ถูกอกถูกใจคนดูไปหมด เลยตั้งนามสกุลให้ว่า "สติเฟื่อง" เจ้าของคำสุดฮิตในสมัยหนึ่ง เช่น "เลิศ สแมนแตน" ดาราละครนอกจากนี้ก็มี เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์,ประไพพัฒน์ นิรัติพันธ์(สวยมาก แต่เล่นละครได้ 2 เรื่อง ก็เลิกราไป),ดาเรส-ศุภมิตร ศาตะจันทร์,อังกูร บุรานนท์,ประกอบ ไชยพิพัฒน์,สินีนาถ โพธิเวส(ภรรยา มล.ขาบ กุญชร ณ. อยุธยา อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น),อาคม มกรานนท์,ชวลี ช่วงวิทย์,ไศล ศรีสาธร,ฉลอง สิมะเสถียร(พระเอกใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระเอกละครยอดนิยมอันดับ 1 ตลอดกาล),สุพรรณี ปิยะสิระนนท์ ปี 2500 มีการนำพระเอกจากหนังใหญ่ที่กำลังโด่งดังอย่างมากมาเล่นละคร ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พระเอกยอดฮิตผู้นั้นก็คือ อดุลย์ ดุลยรัตน์ เล่นละครเรื่องแรก คือ เรื่อง "นิจ" ของดอกไม้สด คู่กับอารีย์ นักดนตรี นางเอกละครยอดนิยม อันดับ 1 พร้อมทั้งไปเชิญครูมารุต(ทวี ณ บางช้าง) มากำกับฯให้ด้วย ปี 2502 ได้พระเอกใหม่แจ้งเกิดจากละครที่รับบทเป็นพระเอกเต็มตัวเรื่อง "ขุนศึก" คู่กับ นางเอกเจ้าเก่าประจำสถานี คือ อารีย์ นักดนตรี และเป็นพระเอกยอดนิยมอันดับ 1 ในเวลาต่อมา ต่อจาก ฉลอง สิมะเสถียน ซึ่งร่วงโรยตามกาลเวลา ปี 2508 หัวหน้าจำนง ได้เพาะนักแสดงรุ่นเด็กไว้มากมายกว่า 10 คน ได้แก่ นฤพล ดุริยพันธ์(อายุ 23),รอง เค้ามูลคดี(อายุ 18),วิเชียร พรหมจรรย์,ประกอบ ไชยพิพัฒน์,สุรินทร์ แสงขำ,ศิริพร วงษ์สวัสดิ์(20),สุพรรณี ปิยะสิรานนท์,กนกวรรณ ด่านอุดม(20),นันทวัน เมฆใหญ่(20),นงลักษณ์ โรจนพรรณ(19),อรวรรณ โปร่งมณี เด็กใหม่พวกนี้ เรื่องแรกจะให้เล่นเป็นตัวประกอบเพื่อฝึกหัดไปก่อน แล้วต้องเรียนรู้ฝีกหัดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การร้อง,การรำ,เพลงเรือ,เพลงฉ่อย,เพลงอีแซว หรือลำตัด เรียกว่าเคี่ยวอย่างสุดสุด ปี 2510 อารีย์ นักดนตรี เริ่มมองหาทายาทที่จะสืบต่อตำแหน่งนางเอกจากตน คือ นันทวัน เมฆใหญ่ ให้มาเป็นคู่พระนางประจำสถานีกับกำธร สุวรรณปิยะสิริ และก็ไม่ผิดหวัง ละคร"แผลเก่า" ที่ทั้งคู่เล่นด้วยกันใหบท ขวัญ กับ เรียม โด่งดังสะท้านเมือง ในขณะที่ดาวรุ่งอย่าง กนกวรรณ,ศิริพร ก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ แต่ศิริพร จะหลากหลายกว่า เพราะเล่นบทร้ายด้วย ปีนี้ได้เกิดสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกแห่ง คือ ช่อง 7(หมอชิต)เริ่มมีหนังทีวี จากดาราฟิล์ม ของ ไพรัช สังวริบุตร มือกล้องยอดเยี่ยมจากหนังใหญ่ ที่ดังสนั่นเมืองก็มี "ปลาบู่ทอง" นำโดย พัลลภ พรพิษณุ,เยาวเรศ นิสากร 2511 เกิดเลือดใหม่ขึ้นมากมาย เช่น พิศาล อัครเศรณี ช่อง 4 เริ่มขาดแคลนพระเอก เพราะวนเวียนอยู่ไม่กี่คน กลัวคนดูเบื่อ จึงต้องยอมไปว่าจ้างดาวร้ายยอดนิยมในหนังใหญ่อย่าง ชุมพร เทพพิทักษ์ ให้มาเล่นเป็นพระเอกละคร ท่ามกลางการท้วงติงของหลายคนว่า เอาผู้ร้ายจอใหญ่มาเป็นพระเอกจอเล็ก คนดูจะรับได้หรือ แต่ทางผู้จัดก็ให้ชุมพร เล่นแต่บทพระเอกร้ายหรือบู๊,ลูกทุ่ง ประเภทเจ้าชายนายหม่อมไม่มี ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ส่วน รุจน์ ได้เป็นพระรอง แล้วก็มี แมน ธีระพล ก็ก้าวเข้ามาในวงการละคร พวกดาราที่ตกหรือไม่ประสบความสำเร็จจากการเป็นพระเอก,นางเอก ในหนังใหญ่ ก็เข้ามาในวงการละครมากขึ้น เพราะช่วงนั้นละครได้รับความนิยมมาก ยังมีอีกยาวมาก มาจนถึงยุคสุดท้ายของครูอารีย์ นักดนตรี ประมาณ 2526-2527 เดี๋ยวจะมาเขียนต่อ เรื่องทั้งหมดนี้ผมสรุปจากหนังสือ "โลกมายาของอารีย์" ได้อ่านเพียงครั้งเดียว แล้ววางไม่ลง เลยอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ(แบบคร่าวๆ) 500 กว่าหน้า ในเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เห็นคุณค่าแล้วอยากจะมาแบ่งปันให้ทราบกัน หนังสือออกเมื่อปี 46 ตอนนี้ หายากมาก ผมตามหามาเกือบปี เพิ่งเจอเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ที่ร้าน แพร่พิทยา เซ็นทรัลพลาซ่า มีรูปประวัติศาสตร์ทรงคุณค่ามากมายครับ ถึงแม้จะเป็นวงการละคร แต่ก็เกี่ยวเนื่องกับหนังใหญ่ เพราะบุคคลส่วนใหญ๋ก็อยู่ทั้ง 2 วงการ
    โพสต์เมื่อ 9 ต.ค. 51 เวลา 15:40
    โดย

    thenon