มีข่าวมาว่าตอนนี้ไทยได้มีการทดลองรถไฟ หรือ รถจักร ที่ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ผลิตขึ้นโดยบริษัท EA บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการทดสอบเดินรถบนเส้นทางหลักครั้งแรก “วิหารแดง-คลองสิบเก้า-วิหารแดง” 105 กม. ลุยปรับปรุงก่อนเทสต์อีกรอบย่านสถานีกลางกรุงเทพฯ ม.ค. นี้ ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 40% ต้นแบบพัฒนารถจักร EV ในไทย
จากในข่าว รายงานข่าวจากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA แจ้งว่า บริษัทฯ ได้นำหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า หรือรถจักร EV ซึ่งบริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้จัดส่งมาให้ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ไปทดสอบเดินรถบนเส้นทางหลัก ช่วงวิหารแดง-ชุมทางคลองสิบเก้า-วิหารแดง ระยะทางไปกลับประมาณ 105 กิโลเมตร (กม.) เที่ยวละประมาณ 52.5 กม. หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการติดตั้งแบตเตอรี่ และทดสอบในพื้นที่ปิด เบื้องต้นผลการทดสอบเป็นไปด้วยความราบรื่น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะนำผลที่ได้จากการทดสอบในครั้งนี้ไปพัฒนา และปรับปรุง ก่อนที่จะมาทดสอบที่ย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเดือน ม.ค. 66 ก่อนที่จะพัฒนารถจักรแบตเตอรี่สำหรับลอตต่อไป
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับรถจักร EV ดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับมอบมาจำนวน 1 คัน โดยได้ร่วมมือกับบริษัท เอเซียเอนจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ AES ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงรถไฟ เพื่อประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่ โดยหัวรถจักร EV คันนี้เป็นรถจักรคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบแบตเตอรี่ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่
อย่างไรก็ตาม EA ได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากนโยบาย EV on Train และร่วมมือกับภาควิชาการ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มทร.อีสาน ในการเตรียมทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ภายในต้นปี 66 โดยหัวรถไฟ EV สามารถวิ่งได้ระยะ 150-200 กม. สามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถดีเซล
ถือเป็นก้าวแรกของ EA ในการจับมือกับพันธมิตรในจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถไฟ ขณะที่ EA มีความพร้อมในออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge สอดคล้องยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การขนส่งโลจิสติกส์ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม EA ได้ออกแบบพัฒนา นวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมงในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง สามารถขยายผลยกระดับการขนส่งโดยสารเมืองรอง สามารถรองรับการใช้งานทุกระดับ และนำไปพัฒนาระบบ Light Rail Transit (LRT) สำหรับขนส่งตัวเมือง
EA เล็งเห็นว่า Electritication ที่เป็นเทรนด์โลกในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เป็นของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด EA หวังว่า หัวรถจักร EV จะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรม และมูลค่าให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืน เพราะเป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิด PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint ที่เป็นพันธกิจของประเทศไทยในเวทีโลก COP26 นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจากเว็บไซต์ เดลินิวส์
https://www.dailynews.co.th/news/1818047/