บอร์ด
กระทู้: รู้จักข้อเข่าเสื่อม โรคเรื้อรังที่มาพร้อมความเจ็บปวด

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ยินเสียงก๊อกแก๊กในเข่าทุกครั้งเวลาจะลุก นั่ง หรือเดิน หรือหากคุณเคยเห็นแม่ค้าขายข้าวเจ้าประจำแสนอร่อยมีหัวเข่าบวมมากกว่าปกติ แถมยังโก่งงอ ผิดรูป หรือเห็นคุณแม่ร้องโอดโอยทุกครั้งเวลาเดินขึ้นลงบันได และปฏิเสธการนั่งกับพื้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะนั่งคุกเข่าหรือนั่งพับเพียบ เพราะหัวเข่ายึดไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม ทั้งหมดเหล่านี้คืออาการของภาวะข้อเข่าเสื่อม

 

ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อที่เป็นเหมือนเบาะรับน้ำหนักในข้อเกิดความเสื่อม ยุบตัว และมีความยืดหยุ่นน้อยลง กระดูกข้อต่อจึงเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหว จนเกิดการสึกกร่อน ผิวข้อบางลง ไม่เรียบ และอาจมีเสียงดังในข้อ รวมถึงมีอาการเจ็บปวดเมื่อใช้งานข้อเข่า เช่น นั่งยอง ๆ หรือเมื่อเคลื่อนไหว


 

ลองมาดูว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ 

  • เพศ เพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดมากกว่าเพศชาย
  • อายุที่มากขึ้น ทำให้ผิวข้อกระดูกอ่อนเสื่อมลง และซ่อมแซมตัวเองได้น้อยลง จึงเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมและข้อเข่าอักเสบง่ายขึ้น
  • น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักมากเสี่ยงต่อการเกิดอาการมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งน้ำหนักตัวมากจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้น และยิ่งมีแรงกดที่ข้อเข่าสูงขึ้น โดยเฉพาะเวลานั่งงอเข่ามากกว่า 90 องศา 
  • พันธุกรรมหรือโรคประจำตัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม เช่น SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หรือลูปัส เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่างๆ ได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ หรือโรคเลือดบางชนิด
  • เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า หรือเคยได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด เป็นต้น
  • ใช้งานข้อเข่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น นั่งงอเข่านาน ๆ นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนาน ๆ จนทำให้เกิดแรงกดบริเวณข้อเข่า
  • ไม่ได้วอร์มอัพให้ดีก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ จนทำให้อวัยวะและโครงสร้างพยุงข้อเข่า เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เป็นต้น เสียสภาพไป 

สำหรับวิธีรักษา สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยแนวทางการรักษาแบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งงอเข่าที่มากกว่า 90 องศาเป็นเวลานาน รวมถึงใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเข่าร่วมกับการกายภาพบำบัด
  • ยา เช่น ยาลดปวด ทั้งในรูปแบบการรับประทานและฉีด
  • การฉีดสารน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความหนาของเบาะรองรับน้ำหนักในข้อ ลดการกระทบกระเทือนและเสียดสีกันของผิวข้อเข่า

 

  • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดปกติและการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA) การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ชนิดเคลื่อนไหวได้ และเก็บเอ็นไขว้หลังในข้อเข่า

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้เลยเถิดจนข้อเข่าผิดรูป เพราะบางความเจ็บปวดไม่สามารถหายได้เองด้วยความอดทน ยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไรยิ่งดีที่สุด แล้วคุณจะพบกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

10 พ.ค. 65 เวลา 16:49 411