บอร์ด
กระทู้: “EA” เปิดโรงงานผลิต “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

“EA” เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร “อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)” ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเป้าสร้าง New S-Curve ครั้งใหญ่

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ประกาศความสำเร็จระดับภูมิภาค ของ EA เปิดตัว อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัย และมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เต็มตัว เพื่อสร้าง New S-Curve

อมิตา เทคโนโลยี เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ ชั่วโมงต่อปี ตามแผนในอนาคต สนับสนุนประเทศไทย ขึ้นแท่นพร้อมเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

ซึ่งระยะแรกมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 4 กิกะวัตต์ ชั่วโมงต่อปี ในทันที มีพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบโดยการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง

ฐานการผลิตที่สำคัญนี้อยู่ในเขต EEC มีขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ พร้อมรองรับการขยายการลงทุนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานได้กว่า 10 เท่า สู่กำลังการผลิตสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนที่ 50 กิกะวัตต์ ชั่วโมงต่อปี ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างระบบนิเวศน์

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่า

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ โรงงานยังเน้นแนวคิดที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด

ทั้งนี้ EA ได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปีที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปร่วมทุน ถ่ายทอดประสบการณ์ และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานจนเป็นผลสำเร็จ ผ่านบริษัทย่อยชื่อ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่มากขึ้นในระดับ World Class

จุดเด่นของ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จาก “อมิตา เทคโนโลยี”

เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ชนิด Pouch Cell ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ แบตเตอรี่ของอมิตายังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุดด้วย

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนใช้อะไรได้บ้าง ?

“แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” สามารถใช้กับ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” “รถบรรทุกไฟฟ้า” “รถโดยสารไฟฟ้า” และ “เรือโดยสารไฟฟ้า” เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน

โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล

“นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้เองแล้ว EA ยังคิดไกลแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยาย Supply Chain ให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดขยะ และลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยมีการสร้างหอกลั่นสาร Solvent ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อทำให้บริสุทธิ์จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้มีของเสียน้อยลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ” นายสมโภชน์ กล่าว

 

ที่มา:https://www.bangko:)news.com/pr-news/tech/977428

20 ธ.ค. 64 เวลา 00:41 326