บรรยากาศประเทศหลังจากที่มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดในประเทศ เมื่อ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา สังเกตกันไหมว่าเหมือนบรรยากาศในประเทศเริ่มรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น คนกล้าออกไปใช้ชีวิตท่องเที่ยวกันมากขึ้น ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม ธุรกิจบริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็สามารถฟื้นตัวได้อีกเช่นกัน โดยเฉพาะภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นั่นก็เป็นผลมาจากการเปิดประเทศนั่นเอง
ภาพรวมทุกอย่างเหมือนจะไปได้ด้วยดีใช่ไหม.....แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ควรส่วนใหญ่อาจจะคาดไม่ถึงคือ “การช่วยเหลือของรัฐบาลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ยังมีความจำเป็นอยู่มาก”
ถึงแม้ว่าจะเปิดประเทศแล้ว ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สายการบิน ธุรกิจอาหาร โรงแรม จะเริ่มทำการค้าขายได้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถือว่ากลับมาได้อย่างปกติ การกลับมาของบางธุรกิจมันอาจจะเป็นการรวบรวมพละกำลังครั้งสุดท้ายของเขาเลยก็ว่าได้
บางธุรกิจก่อนหน้านี้ก็โดนโควิดเล่นงานจนอ่วมอรทัยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน บางรายโดนสั่งปิดตั้งแต่รอบแรก บางรายที่แข็งแรงหน่อยก็เลือกที่จะไม่ปลดพนักงาน บางรายก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด เช่นธุรกิจในสนามบิน และโรงแรมนี่เห็นได้ชัดเจนมากๆ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐจึงยังเป็นตัวสำคัญและจะช่วยต่อชีวิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นได้จริงอีกครั้ง
หลังจากเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 มีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทย ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ก็ประมาณ 4,000 คนต่อวัน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-25 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่กว่า 1 แสนคน มาเที่ยวแบบการยกเว้นการกักตัว (Test and Go) พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (Sandbox Program) และการกักตัว ณ สถานกักกัน (Alternative Quarantine)
ส่วนใหญ่มาจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส เท่าที่สืบทราบมาว่าการที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยนี้ก็ไม่ได้ง่าย เพราะตัวนักท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนเข้าระบบ Thailand Pass ถึงจะมาท่องเที่ยวได้ ถึงแม้ว่าจะได้ยินเสียงบ่นจากฝรั่งมาบ้างว่าแอบใช้งานยากอยู่ แต่ก็ต้องขอชื่นชมในความพยายามของนักท่องเที่ยว ทำให้ตอนนี้มีการลงทะเบียนมาแล้ว 3 แสนคน เพียงเปิดประเทศไม่ถึงเดือน ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
โดยรัฐบาลได้คาดการณ์เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50% ของปี 2562 และในปี 2566 เพิ่มเป็น 2.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 80% ของปี 2562 ส่วนปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้กลับไปเท่ากับรายได้ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท
เครดิตข้อมูล https://www.matichon.co.th/politics/news_3062096
จะเห็นได้ว่าการเม็ดเงินการเปิดประเทศนั้นมันคือทางออกของเศรษฐกิจไทยตอนนี้จริงๆ
อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดบนโลกใบนี้ก็ยังไม่ได้หมดไป มันกลับเกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” (Omicron) ที่พบในแอฟริกาใต้ จนตอนนี้ระบาดทั่วยุโรป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกครั้ง จนทุบตลาดน้ำมันร่วงมาแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมันก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนยังไม่สามารถวางใจได้ อิสราเอลกับญี่ปุ่นเป็น 2 ประเทศแรกที่กลับมาปิดพรมแดนห้ามต่างชาติเข้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกหลายประเทศก็เริ่มยกระดับมาตรการขึ้นไปเรื่อยๆ รวมทั้งไทยเองก็เพิ่งมีประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศงดรับต่างชาติที่มาจาก 8 ประเทศจากทวีปแอฟริกา ส่วนประเทศที่เหลือต้องเข้ามาตรการกักตัว AQ 14 วัน เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.matichon.co.th/foreign/news_3064465
ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่มีภาคส่วนไหนมั่นคงเท่ากับรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ถ้าหากว่ายังต้องการให้แผนการเปิดประเทศของเรายังคงดำเนินไปได้ตามเป้าหมาย
“การเยียวยาของรัฐบาล” จึงควรต้องมีแผนในระยะยาวที่จะยังคงมีอยู่ให้กับกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวต่อไป อย่าปล่อยให้เขาว่ายน้ำฝ่ามรสุมเพียงผู้เดียวอีกเลย ถ้าโควิดมาอีกรอบพวกเขาอาจจะไม่มีแรงสู้ต่อไปแล้วก็ได้ และนั่นมันก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายทางเศรษฐกิจไทยของจริงแท้แน่นอนก็เป็นได้
อย่าลืมธุรกิจท่องเที่ยวต้องมองที่ภาพรวมระดับชาติ ไม่ใช่แค่สั่งให้ขยายเวลาเปิดร้านอาหารอย่างเดียวแล้วการท่องเที่ยวจะดีขึ้น