ได้เห็นกันแล้วว่าโควิดผ่านเข้ามาและยังคงอยู่กับเราอีกสักพัก ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดขององค์กร
ด้วยวิกฤติโควิด19 ที่ทำให้เรากลายเป็นคนเสพข่าวมากขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็จะเห็นธุรกิจน้อยใหญ่รีบปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตินี้ ผลกระทบครั้งนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่วงการดิวตี้ฟรี “คิงเพาเวอร” ก็ยังต้องประกาศปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจช่วงวิกฤติไวรัสเลย
ดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเพราะต้องปิดสนามบิน ปิดสาขา ไม่มีเที่ยวบิน ไม่มีใครอยากเดินทาง จะให้ไปซื้อของในดิวตี้ฟรีแล้วไปรับที่สนามบินก็คงไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นให้ลูกค้าสั่งของแบรนด์เนมจากเว็บไซต์ แล้วส่งถึงบ้าน ไม่มีขั้นต่ำและที่สำคัญราคาสินค้านั้น เป็นราคาดิวตี้ฟรี!! อย่างที่เราเคยรู้กันว่าสินค้าดิวตี้ฟรีที่เป็นแบรนด์เนมจะมีราคาที่ถูกกว่าช้อป หรือห้างในเมืองอยู่แล้ว จึงนับได้ว่าสินค้าแบรนด์เนมที่จำหน่ายใน www.KingPower.com เป็นของแท้ราคาดีนั่นเอง (ที่รู้เพราะมันขึ้นแอดโฆษณาในเฟสบุ๊ก เลยแว้บไปดูมาพบว่าสกินแคร์ถูกจริงๆ ด้วย)
โดยปกติแล้วคิงเพาเวอร์ก็มีการจำหน่ายของทางเว็บไซต์มาก่อนหน้านี้อยู่แล้วแหละ ความแปลกใหม่ของเขาก็อยู่ที่ว่าของที่จำหน่ายในเว็บจะมีความเป็นแบรนด์เนมเยอะมากขึ้น เครื่องสำอางค์ กระเป๋า ใครสายแบรนด์เนมเรียนเชิญ แต่ใครสายขนมก็ไปได้เช่นกันเพราะขนมที่เป็นทองม้วนนั่นก็อร่อย ตอนบินซื้อประจำ
ทั้งนี้ในการปรับตัวของคิงเพาเวอร์ได้ใช้กลยุทธ์ KING POWER TEAM POWER ในข่าวบอกไว้ว่า เขาจะเปลี่ยนให้พนักงานทุกส่วนเป็นนักขายสินค้าออนไลน์ ขยายเครือข่ายจากออนกราวน์สู่ออนไลน์ นึกภาพตามก็คงประมาณว่าให้พนักงานคิงเพาเวอร์โพสต์ขายของ ช่วยประชาสัมพันธ์การขายของรูปแบบใหม่ในช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็นับวิธีการนี้จะทำให้มีโอกาสขายได้มากขึ้น มีโอกาสการกระจายสินค้าออกไปได้มากขึ้น “โดยกลยุทธ์นี้ทางคิงเพาเวอร์บอกว่าเป็นการฉีกทุกกฎเกณฑ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะที่คิง เพาเวอร์พนักงานทุกคน คือ หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ ประกอบกับองค์กรมีความเชื่อในความเป็นไปได้, ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน และประสบการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนให้ทุกคนเป็นนักขายมืออาชีพ โดยเข้าคอร์สอินเทนซีฟฝึกอบรมด้านการขายสินค้าออนไลน์ครบวงจร โดยประสบการณ์ใหม่ในวิกฤตนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของพนักงานในการเรียนรู้ระบบการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะเป็นเป็นประโยชน์กับพนักงานในอนาคต”
เนื้อหาข่าว https://www.prachachat.net/tourism/news-448634
อ่านกลยุทธ์นี้แล้วก็ถือว่าเยี่ยมมาก เพราะพนักงานทุกคนจะมีความรู้เกี่ยวกับการขายออนไลน์ติดตัวไป คนที่ขายของเป็น มีทักษะในการขาย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็สามารถเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว
พี่ใหญ่อีกเจ้าหนึ่งที่มีการปรับตัวเช่นกันคือเซเว่นอีเลฟเว่น การปรับตัวอันนี้รับรู้ด้วยตัวเองเลย เพราะเวลาไปซื้อของจะเห็นป้ายและพนักงานเซเว่น บอกลูกค้าให้แอดไลน์ร้านแล้วใครอยากสั่งอะไรก็สั่งเลย แต่ให้สะดวกยิ่งขึ้นเซเว่นก็มีแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่โดยตรง เลือกได้ว่าจะให้มาส่งหรือไปรับที่ร้านเอง นอกจากเพิ่มความสะดวกลดการออกจากบ้านของผู้ใช้บริการแล้ว บริการจัดส่งครั้งนี้ทางเซเว่นก็ยังประกาศรับสมัครทีมงานส่งเดลิเวอรี่จำนวน 20,000 อัตราทั่วประเทศอีกด้วย เป็นการสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง
เนื้อหาข่าว https://www.bangko:)news.com/news/detail/872062
ไม่ใช่แค่พี่ใหญ่เพียงเท่านั้น ธุรกิจ SME ก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจโต๊ะจีน ที่จังหวัดอุดร ก็ปรับตัวช่วยเหลือลูกน้องไทย-ลาว เนื่องด้วยจากโต๊ะจีนต้องมีสต็อกของไว้เยอะๆ เต็มห้องแช่เย็น แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด อีเว้นท์ทุกอีเว้นท์ยกเลิกหมด แล้วคุณคิดดูสิ ธุรกิจโต๊ะจีน ต้องใช้ของใช้คนมากมายขนาดไหน ทุกอย่างหยุดชะงักคนเป็นเถ้าแก่ก็ต้องปรับตัวกัน โดยให้เอาของที่สต็อกไว้มาทำอาหารแล้วจัดส่งเดลิเวอรี่ ลูกน้องคนไหนมีรถมอเตอร์ไซค์ ก็เอามาส่งอาหารถึงบ้านให้กับลูกค้า ทางรายการก็ไปสัมภาษณ์ลูกน้องว่า เถ้าแก่ก็ขอลดเงินเดือน แต่ทางลูกน้องก็ดูจะโอเค เพราะเรื่องข้าวปลาก็กินฟรีอยู่ฟรีหมด
เนื้อหาข่าว https://www.youtube.com/watch?v=ZBYfVGr9TjY
อีกหนึ่งธุรกิจอาหารที่ต้องปรับตัวก็คือ ชาบูเพนกวิ้น ร้านนี้เป็น SME ที่มีหลายสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ จำไม่ผิดเป็นร้านแรกๆ เลยที่ต้องมีการรปรับตัว เคยนั่งดูสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจเขาบอกว่า ความต้องการกินชาบูยังคงมีอยู่ ลูกน้องก็ยังคงต้องดูแล ก็เลยต้องเลือกวิธีการปรับตัว เอาอาหารที่สต็อกไว้ นำออกมาจัดเป็นชุดชาบูขาย ลูกน้องคนไหนมีมอเตอร์ไซค์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นพนักงานจัดส่งอาหาร
แต่โดยไม่ว่าธุรกิจขนาดไหน ก็จะเห็นได้ว่ามีการปรับตัวในโมเดลที่คล้ายๆ กันหมด คือ “เดลิเวอรี่” “ส่งตรงถึงบ้าน” โดยมีเหตุผลหลักก็คือ “ลูกน้อง” หรือ “พนักงาน” ที่ตัวเองดูแลอยู่ ถึงแม้ว่ารายได้ที่เขามาอาจจะไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนแต่ก่อน แต่มันก็ทำให้ชีวิตของพนักงาน รวมไปถึงนายจ้าง และธุรกิจมันยังพอเดินหน้าต่อไปได้ แล้วความน่ารักคือ ลูกน้องก็เข้าใจในสถานการณ์ต่างคนต่างช่วยเหลือกันในยามวิกฤติแบบนี้ก็ต้องชื่นชมที่ไม่มีใครทิ้งกันในยามลำบาก
ในฝั่งของธุรกิจยักษ์ใหญ่นอกจากจะต้องปรับกลยุทธ์ให้องค์กรรอดแล้ว ก็ยับพบเห็นได้ยังได้มีการช่วยเหลือสังคมอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน อย่างคิงเพาเวอร์ก็ได้บริจาคเงิน 45 ล้านบาท ให้ 3 หน่วยงานบริการทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ การตรวจรักษา สร้างกำลังใจบุคลากรการแพทย์ และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีตามเจตนารมณ์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ที่ต้องการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขของประเทศ
เซเว่นฯ ก็ได้ทำโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” มอบของอุปโภค-บริโภค ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 เช่นกัน
วิกฤตินี้ทำให้เราเห็นได้ว่าไม่ว่าธุรกิจจะเป็นระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ต่างก็ปรับตัวเพื่อการเอาอยู่รอด ไม่ใช่แค่ธุรกิจของตัวเองอย่างเดียว มันส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ ในส่วนของภาคสังคมพี่ใหญ่ก็ยังไม่ลืมคนตัวเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด19
ต้องขอขอบคุณทุกคนทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
“ขอบคุณที่เข้มแข็ง”
“ขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายที่ช่วยกันให้ทุกอย่างผ่านพ้นไป”
“เราจะผ่านมันไปด้วยกัน”
อ้างอิงจาก :talk.mthai.com/inbox/501142