บอร์ด
กระทู้: ง่ายมักไม่ค่อยได้อะไร?

ทัศนคติแบบหนึ่ง ย่อมนำพาเราไปสู่สิ่งหนึ่ง.. ทำไมเราจึงอยากอ่านบทความดี ๆ เรื่องราว ดี ๆ ? ถ้าเดาไม่ผิด ก็คงเพราะอยากได้สาระ แง่คิด หรือบางสิ่งที่จะช่วยกระตุ้น ความคิด จิตใจ ไม่ว่าในด้านใดก็ด้านหนึ่ง ซึ่งถ้าเดาต่อไป อาจเพราะบางทีช่วงชีวิตตอนนี้กำลังมองหาอะไรบางอย่าง ที่ไม่มีใครตอบคำถามเราได้ในบางสิ่ง.. บ้างอาจแย้งว่า แค่กำลังฆ่าเวลาในรูปแบบสร้างสรรค์ หาสาระใส่ตัว หาแง่คิดที่มีประโยชน์ นั่นก็ไม่ผิดอะไร ทว่า บทความดี ๆ ต้องสั้น ๆ ด้วย หรือ?

เราชอบอะไรง่าย ๆ

 

มีคำถามหนึ่งซึ่งน่าจะตอบกันได้ ถ้าให้เปรียบเทียบสองสิ่งตรงนี้คุณชอบอะไร?

ระหว่าง..
รวดเร็ว กับชักช้า
ไม่นาน กับนาน
ทำเยอะ กับทำน้อย
พยายาม กับไม่ต้องพยายาม
ใช้เวลาน้อย ใช้เวลามาก

เชื่อว่า คำตอบล้วนเป็นไปในทาง ไม่ต้องใช้เวลา ไม่ต้องพยายามอะไรกับมันมาก เราล้วนชอบเรื่อง “ง่าย ๆ” ผมเคยถามอะไรเกี่ยวกับสิ่งง่าย ๆ นี้มาบ่อย ๆ เช่นว่า ระหว่างทำธุรกิจที่ทำง่าย กับทำยาก แบบไหนมีโอกาสเจ๊ง หรือสำเร็จมากกว่ากัน? คำตอบคิดไม่ยาก อะไรที่ทำง่ายเดี๋ยวก็โดนเลียนแบบ เดี๋ยวก็คู่แข่งมากมาย ลำบากแน่นอน หรือคำถามที่ว่า ถ้าคุณเป็นผู้จัดการ ลูกน้องคนที่ทำงานง่าย ๆ ทั่วไป กับคนหนึ่งที่ทำงานยากบ่อย ๆ อยากจะเลื่อนตำแหน่งใคร? หรือใครควรได้เงินเดือนมากกว่า? ผมว่าคุณมีคำตอบเรื่องคุณค่าของความ ง่าย กับ ยาก อยู่ในใจแล้ว..

ทำไมหนังสือรวมเรื่องสั้น ขายไม่ดีเท่าเรื่องยาว

 

บทความดี ๆ สั้น ๆ นั้นมีอยู่ไหม? ย่อมมี และเป็นที่นิยมโดยง่าย ซึ่งเราจะสามารถหาอ่านได้ทั่วไปตาม forward mail อีเมล์ที่ส่งต่อ ๆ กันมา ยุคต่อมาก็ส่งกันใน facebook, line social media ต่าง ๆ เชื่อหรือไม่ จะ 20 ปีแล้วผมยังเห็นเรื่องสั้น ๆ เหล่านั้นส่งต่อให้กันอยู่เลย ที่ร้ายกว่า มีการเอาไปดัดแปลง เสมือนว่าเป็นเรื่องของตัวเอง ซึ่งหลายเรื่องก็แปลมาจากเมืองนอกอยู่แล้ว..

ประเด็นหนึ่งคือ เหล่านี้มักไม่ใช่บทความ แต่เป็นความเรียง เรื่องสั้น หรือเรียงความ ที่ผมเขียนก็ไม่ค่อยจะใช่บทความ แต่เราเข้าใจกันเอาง่าย ๆ ซึ่งมันก็ทำให้สื่อสารง่ายกว่า สำหรับพวกบทความสั้น หรือเรื่องสั้น ๆ ที่เรารู้สึกว่าดี อาจมาจากการส่งต่อ เห็นคนส่งต่อกันมาเยอะ ๆ เราก็จะ.. เห้ยดี แน่เลย อ่านหน่อย ก็เป็นได้ ซึ่งใช่ว่าเพราะเป็นคนชอบอ่าน แต่ถ้ามีคนบอกว่า หนังสือเล่มนี้ดีมาก ก.ไก่ล้านตัว ก็ไม่แน่นักว่าจะยอมอ่าน ไม่เกี่ยวกับต้องซื้อ หรือเสียเงิน เพราะต่อให้หยิบยืมไปอ่านฟรีด้วย ก็ไม่แน่ใจนักว่าจะอ่านหรืออ่านจบ..

เรื่องนี้น่าสนใจ เราล้วนชอบอ่านอะไรสั้น ๆ เพราะมันง่าย แต่ทำไมหนังสือรวมเรื่องสั้น ขายไม่ดีเท่าเรื่องยาว และยังมีน้อยกว่าอีกด้วย หรือพวกไม่ชอบอ่านยาวไม่ค่อยมีเงินซื้อ.. ไม่น่าจะเกี่ยว

หนังสือที่นิยม และกำลังมีชื่อในปีนี้บ้านเราอย่าง “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ Sapiens” ก็หนาถึง 608 หน้า หรือ Principles : Life & Work ก็ 616 หน้า นี่คือฉบับแปลไทย และในวงการนิยายผมไม่รู้จริง ๆ แต่ส่วนใหญ่ ก็มี 2-3 ร้อยหน้า.. ไม่สั้น และอ่านไม่ง่ายเลย

ง่ายมักไม่ค่อยได้อะไร?

 

จากย่อหน้าแรก และในส่วนคำถามข้างต้นที่ให้เปรียบเทียบกันแล้วเลือกว่าชอบอะไร จนถึงความยาวของหนังสือที่นิยม ดูจะย้อนแย้ง ก็ในเมื่อคนส่วนใหญ่ชอบเรื่อง ง่าย ๆ แต่คนเราอยากได้สาระ ทำไมมันไม่ไปทางเดียวกัน?

คุณเคยได้ยินเรื่องกฎ 1% ไหม (ไม่เกี่ยวกับหนังสือคุณพอลเพราะไม่ได้อ่าน) แต่มันคือเรื่องจริงที่ผมเองก็เคยพูดมานาน เพราะเคยได้ยินสถิตินี้มาหลายปีแล้วว่า โลกเรามีคนที่ไม่ถึง 1 เปอเซนต์ด้วยซ้ำที่สำเร็จในระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเฉพาะตัวเงินที่ชี้วัด หากมองในทุกวงการ เช่น ศิลปิน นักร้อง ชาวสวน คนทำนากุ้ง คุณก็จะพบสถิติไม่ต่างกันระหว่างคนสำเร็จ กับไม่สำเร็จ

หนังสือขายดีในประเทศเรา ที่เรียกว่าขายดี ก็มีจำนวนขายไม่ถึง 1 % ของประชากรทั้งหมดในประเทศอยู่ดี ส่วนใหญ่จะพิมพ์เพียงครั้งละ 5,000 เล่ม มั่นใจหน่อยก็ 10,000 เล่ม พิมพ์ 7 ครั้ง(ถือว่าขายดีมากนะ) ก็ 7 หมื่นเล่ม เทียบกับประชากร 65 ล้านคน.. คิดดูสิ ไม่ถึงครึ่งของเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ น่าคิดไหม? และขายดีมาก ๆ เป็นแสนเล่ม อัตราส่วนก็ยังน้อยอยู่ดี..

ผมไม่ได้จะบอกว่าคนอ่านหนังสือคือคนเก่ง และไปอยู่ในกลุ่มคนที่สำเร็จ แต่ผมกล้าพูดว่ากลุ่มคนที่สำเร็จ อ่านหนังสือ ส่วนใหญ่อ่านเยอะด้วย ถ้าคุณเคยได้ยิน เขาจะมีการแนะนำหนังสือจากคนดังปีละ 5-10 เล่มด้วยซ้ำไป

เรื่องที่ผมเขียน บทความ ความเรียงต่าง ๆ ที่จริงแล้วไม่ยาวเลยหากเทียบกับขนาดหนังสือ บางครั้ง 1 – 2 หน้า A4 บางทีก็ไม่ถึงหน้าด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่ผมเขียน ในหลายแห่งของบทความ หลายเว็บไซต์ หลายเพจ มีเรื่องราวดี ๆ ที่ ไม่ยาว แต่สำหรับคนทั่วไปมันไม่สั้น ซึ่งเชื่อเหมือนกันว่า หลายคนก็อยากให้มันสั้น แต่รวม ๆ แล้ว ก็คล้ายกันคือ สั้นมันไม่พออธิบาย ไม่ได้ใจความ และง่ายมันจะได้อะไร?

ยาวก็ใช่ว่าจะได้อะไร

 

สิ่งหนึ่งอาจมีความคิดอยู่ว่า บางทีอ่านยาว ๆ ก็ไม่ได้อะไร ไม่เข้าใจ เข้าใจยากอีกต่างหาก ก็เป็นเรื่องจริง ผมเคยอ่านหนังสือ 2 ร้อยกว่าหน้าแล้วพบว่า มีสรุปเพียงนิดเดียว และดันเป็นประเด็นที่ผมชอบมาก ซึ่งหากเข้าใจจะพบว่า ในหนังสือนั้น มีความพยายามที่ยกตัวอย่าง ยกประเด็น และนำเสนองานวิจัยเพื่อเราเห็น และเชื่อได้อย่างมั่นใจว่า หลักการเพียงไม่กี่บรรทัดนั้น มันจริงอย่างไร..

ถ้าไม่เคยมีการอธิบายเหล่านั้นเลย หนังสือเล่มนั้นจะไม่น่าเชื่อถือในทันทีและคงไม่มีการแนะนำต่อกันไป แต่ถ้าเราเชื่อแล้วมันจึงอ่านไม่สนุก ก็อารมณ์ว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ไม่อยากอ่าน(ฟัง)แล้วนั่นเอง

ในอีกด้านบทความยาวแล้วดีหมดไหม คงต้องบอกได้เลยว่า ไม่ บางบทความยาวเราก็รู้สึกไม่ได้อะไรเช่นกัน แต่หากเทียบกันจริง ๆ แล้ว คำว่าได้ กับไม่ได้ บางครั้งมันเป็นเรื่องแค่ ตรงใจ หรือ โดนใจ หรือคล้ายกับที่เพิ่งยกตัวอย่างไป คือ เคยรู้แล้ว เลยรู้สึกไม่ได้อะไรเท่านั้น

และที่สำคัญ “บทความไหน ยาว สั้น” มันก็อาจเป็นเพียงความรู้สึกของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เพราะหากเทียบเรื่องที่กำลังอ่านอยู่นี้ หลายคนอาจว่ายาว แต่ถ้าเป็นหนังสือ 50-100 หน้าเราอาจว่าสั้น ทั้งที่เทียบกันเรื่องนี้สั้นกว่ามากนัก

แน่นอนว่า ที่จริงมันไม่สำคัญเลย บทความนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า อยากให้ลองคิดว่า บทความ หรือข้อเขียนใด ๆ ที่เราต้องอ่าน มันจะสั้น จะยาว มันยาก มันง่าย เรามีโอกาสได้อะไรจากสิ่งไหน และหรือ เราต้องการอะไรในการอ่าน ที่ทุกวันนี้ แต่ละวันเราอ่านมากเหลือเกิน (บางคนบอกว่าไม่ได้อ่านแล้วดูคลิปแทน ก็ไม่ต่างกัน) คือการให้เวลากับสิ่งใด ๆ เสมือนการลงมือทำสิ่งใด ๆ ยาก กับง่าย ย่อมให้ผลต่างกัน หากเรามีทัศนคติที่ปิดกับสิ่งยาก นั้นเท่ากับว่า เราปิดกั้นคุณค่าที่จะได้รับ

ทัศนคติแบบหนึ่ง ย่อมนำพาเราไปสู่สิ่งหนึ่ง เหมือนที่กล่าวข้างต้น

ในแง่การตลาดของหนังสือรวมเรื่องสั้น หากเทียบกับเรื่องยาวนั้น เหล่าเรื่องยาวไม่ว่าจะนิยาย หรือไม่ใช่นิยายย่อมขายดีกว่ามากนัก สำนักพิมพ์ก็จะไม่ขยันเอารวมเรื่องสั้นออกมาขายเท่าไหร่ ทำไมล่ะ? ในเมื่อคนเราชอบอ่านอะไรสั้น ๆ ง่ายๆ น่าจะโดนใจผู้บริโภค..

ก็เพราะหนังสือต่อให้ขายดีก็เป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไปไงล่ะ พวกที่ชอบอ่านอะไร ง่าย ๆ สั้น ๆ เขาก็ถือว่ามันไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ชอบ อ่านหนังสือจริง ๆ หรือ ไม่ได้เป็นกลุ่มลูกค้าของเขา

อีกทั้งบทความที่ไม่ย่อความ ไม่สรุปให้ (ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายเว็บพยายามสรุป) เพราะเขาก็คงคิดว่า นี่ไม่ใช่ที่ของคนที่ไม่อยากรู้ ไม่อยากพัฒนาในเรื่องนี้ หรือสนใจในเรื่องที่เขาเขียน เพราะไม่ว่าจะเรื่องไหน ดังตอนต้นได้ถามไว้ คุณว่า คุณค่ามาพร้อมคำว่า ง่าย ๆ ไหมละ อย่าลืมนะ ยิ่งเรื่องยาว คนที่ลำบากกว่า คือคนที่มันต้องเขียนมาให้คุณอ่าน..

 

 

สนับสนุนคุณภาพโดย Pussy888 | เว็บเกมส์อันดับต้นๆของเมืองไทย สนุกสุดมันส์ ให้ได้ไม่อั้น

8 มิ.ย. 63 เวลา 17:34 349