บทความนี้แปลและเรียบเรียงโดย คุณดาวิษ ชาญชัยวานิช นักแปลเจ้าของผลงานจำนวนมาก เป็นวิทยากรในหัวข้อการแปล การเขียน การทำงานบรรณาธิการ การทำงานอิสระ และเป็นเจ้าของหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับการแปล
"เมื่อคุณลองขบคิดดูดีๆ ไม่มีอะไรในชีวิตจะสำคัญเท่ากับที่เรากำลังคิดถึงมันในตอนนั้น" จาก Daniel Kahneman ผู้เขียนหนังสือ Thinking, Fast and Slow
Andreas Weigend:
นี่คือสิ่งที่แดเนียล คาห์เนมาน บอกผมว่าเป็นประโยคที่เขาชอบที่สุดในหนังสือ "Thinking, Fast and Slow" ผมคืออังเดรอัส ไวเกนด์ ผมเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ที่บริษัท Amazon ผมอยากเชิญคุณมาฟังการสนทนา 40 นาทีกับแดเนียล คาห์เนมาน ในหัวข้อการตัดสินใจและข้อมูล เราจะมาถกกันเรื่องข้อดี-ข้อเสียที่ต้องแลกกันในกระบวนการตัดสินใจ อย่างเช่นในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องเลือกระหว่างชีวิตคนกับชีวิตความเป็นอยู่ เราจะคุยกันเรื่องความกลัวบางประการของผู้คน อย่างเช่นความกลัวว่าจะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ไม่ดี และจะช่วยกันเสนอไอเดียในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นระดับความแตกต่างของการรับรู้ความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้ แต่ก่อนอื่น ที่อยู่กับเราตรงนี้คืออดีตซีอีโอและประธานบริษัท NPR
พบกับ Dr.Andreas Weigend ได้ที่งาน Techsauce Virtual Summit 2020 วันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ 2020 เขาจะมาพูดในหัวข้อ "Our Data and Its Value on Transparency and Trust" ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับงาน Agenda และซื้อบัตรได้ที่ https://virtualsummit.techsauce.co
Vivian Schiller:
ดิฉัน วิเวียน ชิลเลอร์ เป็นผู้อำนวยการสูงสุดของบริษัท Aspen Digital ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน Aspen Institute และก็ดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้ ดิฉันตื่นเต้นมากที่จะได้ร่วมฟังการสนทนา ซึ่งหัวข้อก็ถือว่ามาในจังหวะดีทีเดียว ไม่ใช่แค่เพราะเรากำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แต่เป็นเพราะช่วงเวลาอันพิเศษเฉพาะอย่างหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ตอนนี้เราอยู่ในภาวะล็อกดาวน์กันมาแปดสัปดาห์แล้ว เป็นการล็อกดาวน์เป็นหย่อมๆ คือบางพื้นที่ในประเทศก็เริ่มเปิด ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ข้อมูลก็เป็นสิ่งที่เข้ามามีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงชนิดที่ไม่เคยมาก่อน นอกจากนั้นเรายังไม่เคยเผชิญความขัดแย้งของข้อมูลถึงเพียงนี้ ด้วยความที่เราต้องรับมือกับปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และการเมืองไปพร้อมๆกัน เหนืออื่นใด หลักเหตุผลและกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลซึ่งไม่เพอร์เฟกต์อยู่แล้วของมนุษย์ก็ไม่เคยมีบทบาทสำคัญถึงเพียงนี้ นี่คือที่มาของการพูดคุยกันในวันนี้ การเลือกทำพฤติกรรมบางอย่างของเราคือสิ่งที่กำหนดความเสี่ยงในชีวิต ทั้งชีวิตคุณและชีวิตคนรอบข้าง โชคดีที่เรามีผู้คนมาคอยช่วยแง้มดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูล และสัญชาตญาณแบบมนุษย์ของเราตอบสนองต่อข้อมูลนั้นอย่างไร ประวัติของผู้ร่วมรายการทั้งสองท่านนั้นยาวเหยียดจนดิฉันไม่สามารถถ่ายทอดด้วยคำพูดสั้นๆ ดังนั้นต้องขออภัยหากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไป และตอนนี้ขอแนะนำให้รู้จักผู้ร่วมรายการทั้งสองที่ทุกท่านกำลังจะได้รับชม
คนแรกคืออังเดรอัส ไวเกนด์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตของบิ๊กดาต้า เทคโนโลยีโซเชียลบนโทรศัพท์มือถือ และพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเบิร์กเลย์และที่ประเทศจีน ก่อนหน้านี้เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ที่บริษัท Amazon เขามีส่วนร่วมในการสร้างกลยุทธ์ทางข้อมูลของบริษัท นอกจากนั้นยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Data for the People: How to make our post privacy economy work for you” ผู้ร่วมรายการอีกท่านคือแดนนี หรือแดเนียล คาร์เนมาน ที่ว่ากันว่าเป็นนักจิตวิทยาผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาถือเป็นผู้ให้กำเนิดสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ว่าได้ แดเนียลเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและมีตำแหน่งอยู่ในมหาวิทยาลัยฮีบรู เขาเคยรับรางวัลมานับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นซึ่งไม่ค่อยมีใครทราบก็คือรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์เศรษฐศาสตร์กับเหรียญเชิดชูเสรีภาพจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม รวมถึง “Thinking, Fast and Slow” ซึ่งในการพูดคุยครั้งนี้ก็จะมีการกล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นอย่างแน่นอน อีกครั้งนะคะที่เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และตอนนี้ก็ขอส่งต่อให้อังเดรอัสที่จะมาพูดคุยกับแดนนีอย่างลึกซึ้ง ดิฉันจะกลับมาอีกครั้งหลังการสนทนาประมาณครึ่งชั่วโมง และจะกลับมาพร้อมคำถามของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะช่วยถามคำถามแทนผู้ชม สำหรับตอนนี้ก็ขอส่งต่อให้อังเดรอัส และเราจะนำภาพของทั้งคู่ขึ้นหน้าจอเลยนะคะ สวัสดีค่ะทั้งสองท่าน สวัสดี สำหรับตอนนี้ดิฉันจะขอตัวไปก่อน แล้วจะกลับมา สำหรับตอนนี้เชิญพูดคุยกันได้เลยค่ะ
Andreas Weigend:
ขอบคุณครับวิเวียน และก็สวัสดีแดนนี! ตอนที่คุณแนะนำตัวผมนะครับวิเวียน คุณบอกว่าผมเป็นหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ที่บริษัท Amazon ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงจะสงสัยว่าแล้วหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ที่ Amazon เขาทำอะไรกัน? และคำตอบก็คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำนั่นล่ะ การทดลอง ตอนผมอยู่กับที่นั่น เรามีตัวอย่างทดลองประมาณ 50-100 ล้านคน และมันก็น่าทึ่งมากกับการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ การออกแบบการทดลอง และการได้เห็น บางครั้งก็ภายในไม่กี่นาที ว่าผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่แน่นอนว่านั่นเทียบอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่เรามีในตอนนี้ ก็คือการทดลองที่เรียกว่าโควิดซึ่งเกี่ยวข้องกับคน 7 พันล้านคน ตอนผมมานั่งคิดว่าแล้วเราจะได้อินไซต์อะไรจากมันบ้าง ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรมของผมจะเปลี่ยนไปอย่างไร มันก็ทำให้ผมสงสัยว่าแล้วมันมีหลักการพื้นฐานอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้เพื่อนๆผมเริ่มฝึกทำอาหารกันหมดเลย แต่ก็นะ นี่ไม่ใช่รายการทำอาหาร ผมสงสัยว่าแล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากการทดลองนี้ได้บ้าง? อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงก็คือชื่อหนังสือของผมที่คุณเพิ่งพูดไป “เศรษฐกิจแห่งยุคหลังความเป็นส่วนตัว” ในระหว่างนี้ขอแนะนำเพื่อนผม Otter เว็บไซต์คือ otter.ai นี่คือแอปมหัศจรรย์ที่ช่วยบันทึกเสียงและถอดเทปได้แบบเรียลไทม์ ยกตัวอย่างเช่นถ้าตอนนี้คุณไปที่เว็บไซต์ weigend.com/kahneman คุณจะเห็นบันทึกการสนทนาแบบเรียลไทม์ ลองนึกดูสิว่าถ้าแอปนี้เริ่มทำงานตอนคุณตื่นนอนในตอนเช้า ตอนคุณเริ่มพูด(หรืออาจจะตอนคุณละเมอพูดตอนกลางคืน)แล้วปิดการทำงานในตอนเย็น อาจจะยกเว้นแค่บางช่วงเวลาที่คุณไม่อยากให้มันอัดเสียง แล้วมันจะเปลี่ยนวิธีในการทำสิ่งต่างๆของคุณไปแค่ไหนกัน? (“เมื่อทุกสิ่งล้วนถูกบันทึก” คือประโยคขึ้นต้นในหนังสือของผม)
ผมจำได้ว่าเคยเอาแอปนี้ให้แดนนีดูเมื่อปีที่แล้ว บริบทคือก่อนหน้านั้นสองสามปี ผมเคยเอาอีกแอปหนึ่งให้แดนนีดู Google Latitude ซึ่งจะบอกโลเคชั่นของผมเอาไว้บนเว็บไซต์ของผมแบบเรียลไทม์ ผมคิดว่ามันน่าอัศจรรย์มาก แต่แดนนีก็พูดแค่ว่า “ผมไม่แน่ใจว่าผมจะอยากให้คนทั้งโลกรู้โลเคชั่นของผมหรือเปล่า” ผมเลยคิดว่าหัวข้อหนึ่งในการพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลวันนี้ก็คือความเป็นปัจเจกบุคคล พฤติกรรมระหว่างผู้คน และแน่นอนที่สุด ภายใต้บริบทของโควิด การตามรอยและการติดตามตัว
ผมจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ตอนที่เพื่อนคนหนึ่งของผมกลับไปฮ่องกง เขาได้รับสายรัดข้อมือที่สนามบิน ตอนนั้นเขาเดินทางกับแม่ แม่เป็นคนโหลดแอป แล้วเขาก็แพร์สายรัดข้อมือเข้ากับแอปของแม่ แล้วคุณก็รู้ว่าพวกแม่ๆนั้นเป็นอย่างไร คือไม่ค่อยจะคิดเรื่องการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ และเพื่อนผมคนนี้ก็ไม่รู้ เที่ยงวันต่อมา...ก๊อกๆ...ตำรวจสองคนแวะไปตรวจอาการเขาที่บ้าน ผมว่ามันน่าสนใจมากที่ตอนนี้พวกเราอยู่ในยุคที่ในบางแง่มุม เราควรละทิ้งเสรีภาพบางอย่างไปบ้าง เช่นความเป็นส่วนตัว แต่ความกังวลของผมคือ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในระหว่างทาง หลังจากที่เราไม่มีปัญหาเรื่องโควิดแล้ว รัฐบาลจะยังคงจับตาดูเราต่อไปหรือเปล่า?
แต่อันนี้ผมก็คิดไกลเกินไป ผมตื่นเต้นมากที่ได้มาพูดคุยในวันนี้ ตอนนี้ผมอยากหันไปถามแดนนีเกี่ยวกับอะไรหลายอย่างที่ผมสงสัยมานานแล้ว แดนนี คำถามที่ดีคืออะไร?
สนับสนุนคุณภาพโดย Pussy888 | เว็บเกมส์อันดับต้นๆของเมืองไทย สนุกสุดมันส์ ให้ได้ไม่อั้น