บอร์ด
กระทู้: ระหว่างอารมณ์กับเหตุผล ที่หลายคนไม่เข้าใจ

ผมอยากเขียนเรื่อง “อารมณ์กับเหตุผล” นี้นานแล้ว (และเขียนไว้นานแล้วแต่ไม่จบเหมือนอีกหลายเรื่อง โควิททำให้มีเวลาเขียนมากขึ้น แฮ่) ด้วยเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้บรรยายในการอบรมพนักงาน หลักสูตรการทำงานเป็นทีม ของผมเอง และคิดว่าน่าจะเขียนเป็น บทความดี ๆ ที่ช่วยปรับทัศนคติ การคิด การพัฒนาตนเอง ให้คนทั่วไปได้แง่คิด ไม่ใช่แค่คนที่เป็นพนักงานและผ่านการอบรมกับผมเท่านั้น แม้จะเป็นเพียงส่วนเดียวที่ไม่มาก แต่หวังว่าจะได้ประโยชน์บางอย่างเกี่ยวกับสองสิ่งนี้ ที่มักถูกใช้ในต่างเวลาและโอกาส ซึ่งก็คือ อารมณ์ กับ เหตุผล นั่นเอง

ถ้าถามกันห้วน ๆ แบบไม่มีที่มาที่ไปว่า การทำงาน หรือดำเนินชีวิต ควรใช้อะไร ระหว่าง อารมณ์ กับ เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ, การให้ความเห็น, การเลือก, อะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน เราก็มักจะบอกว่า ควรใช้ เหตุผล

แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ ให้มีที่มาที่ไปเสียหน่อย หรือเป็นเรื่องที่ชัดเจนขึ้น เช่น ทำไมถึงหยิบเสื้อตัวนี้มาใส่ในวันว่าง (ที่ไม่มีวาระใดเกี่ยวข้อง) ก็มักจะเป็นเรื่องของ อารมณ์ ความรู้สึก ความพึงพอใจ เข้ามาเป็นตัวตัดสินแทน คำถามแบบ สีไหน, กลิ่นไหน, รสชาติ, อะไรทำนองนี้น้อยครั้งที่จะมีเหตุผลประกอบ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากมีเหตุผลเกี่ยวข้อง มันจะต้องมีเหตุผลที่ดี ซึ่งถ้ามันดีคนส่วนใหญ่ก็ต้องเห็นเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน เลือกอะไรเหมือนกันไปหมด แต่มันก็ไม่ใช่ แต่ละวันอาจมีคนใส่เสื้อซ้ำกันบ้าง ซึ่งมันมักเป็นแค่เรื่องบังเอิญ เราจึงเห็นคนเสื้อหลากสีตามท้องถนน เรารู้สึกแย่ด้วยซ้ำไปหากเจอใครใส่เสื้อซ้ำกับตน แทนที่จะสบายใจว่า เราเลือกดีจึงมีคนเลือกเหมือนเรา…

คนเราทะเลาะกัน ก็เพราะมันต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง

คำว่าอารมณ์ ในบทความนี้ ผมไม่ได้หมายถึง การใช้อารมณ์ร้าย แต่เป็นการรวมกันของ “อารมณ์ ความรู้สึก ความพึงพอใจ” คล้ายที่ยกตัวอย่างการเลือกเสื้อผ้า ตอนที่บรรยาย ผมจะมีคำถามถามผู้เข้าอบรมประมาณว่า ในการทำงานเราควรใช้สิ่งใด ระหว่าง 2 สิ่งนี้ ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ตอบ “เหตุผล” ผมจึงถามต่อว่า ถ้านาย A มีเหตุผลอย่างหนึ่ง คุยกับนาย B ที่มีเหตุผลอย่างหนึ่ง ทะเลาะกันได้ไหม?

 

ส่วนใหญ่ก็ตอบว่า ทะเลาะกัน ไม่ก็พยักหน้าตาม ก็ในเมื่อตอนนี้ต่างฝ่ายต่างเชื่ออีกอย่าง จนกว่าจะมีอีกฝ่ายยอมรับในเหตุผลของอีกคน คุณลองทบทวนดูสิ ถ้าต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล น้อยครั้งมากที่อีกฝ่ายจะยอมโดยดี ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายหนึ่งเสนอ พูด หรือแสดงอะไรออกมา แล้วอีกฝ่ายไม่ได้มีเหตุผล ความเชื่อ ความคิดอะไรในเรื่องนั้น ๆ ก็อาจจะยอมรับ ลองทำตาม หรือแค่ฟัง ตามน้ำไปเฉย ๆ เช่นนี้ก็ยากจะทะเลาะกัน นี่จึงเป็นเหตุที่ผมบอกว่า “เหตุผลคือต้นเหตุให้เราทะเลาะกัน” พูดถึงตอนนี้ ผู้เข้าอบรมหลายคนก็จะพยักหน้า

อาจยังฟังแปลก ๆ นะครับ แต่มาดูกันต่อ สำหรับคนกันเอง คนใกล้ตัว คนในครอบครัวแล้ว เราก็มักใช้อารมณ์ ความรู้สึกบางอย่างมาก่อน เช่น ห่วงมาก จึงต่อว่าไปรุนแรง, เพราะความกันเองจะพูดอย่างไรก็ได้ หรือคิดเอาแค่ว่าคนใกล้ตัวของเรา ต้องเข้าใจกัน(หรือตามใจกัน?) กระทั่งให้เขาเหล่านั้นรองรับอารมณ์เราได้ แบบไม่รู้ตัว นี่คือภาวะการใช้อารมณ์อย่างแท้จริง ที่โดยทั่วไปเราบอกว่ามีเหตุผล แต่มันคืออารมณ์ ความรู้สึก จะด้านดีก็ตามที เช่น “ห่วง”ผมไม่ได้บอกว่า ห่วงไม่มีเหตุผลนะครับ แต่ส่วนใหญ่การแสดงออกมักเกินเหตุผลไปไกล..

เราพูดีกับคนที่ไม่รู้จัก

แปลกดีที่เราใช้อารมณ์ความรู้สึกทำร้ายคนใกล้ตัว คนที่เรารัก เราตวาดลูก เราตำหนิภรรยา สามีได้อย่างรุนแรง เราเถียงพ่อแม่ ทำท่ารำคาญใส่ อย่างไม่แคร์ความรู้สึกอีกฝ่าย แต่เราพูดดี สงวนท่าที มีมารยาทกับคนที่ไม่รู้จัก หรือเพิ่งรู้จัก บางทีนี่เพราะเหตุผลกับคนอื่น และอารมณ์กับคนใกล้ตัว..

ถ้าเราสลับกัน ระหว่าง อารมณ์ และ เหตุผล นี้

ทั้งการใช้เหตุผล และอารมณ์ความรู้สึกนั้น ต่างก็มีส่วนดี ผมไม่ได้บอกว่าใช้ไม่ได้ หรือต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้เสมอไป แต่อยากเพียงให้ลองสังเกต หลายครั้งเราควรสลับกันดูบ้าง ระหว่าง อารมณ์ และ เหตุผล เช่น ในการทำงาน แม้ว่าเราจะมีเหตุผล มีเป้าหมายที่งานเพียงใด หากเรายอมถอย ยอมฟัง ยอมวาง “เหตุผล” ตัวเองลง นึกถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่อกันที่จะตามมา เช่น อยู่ในอารมณ์ “เพื่อน” กัน บางทีนี่อาจทำให้สองฝ่าย เข้าใจมากขึ้น ทบทวนดูก็ได้ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเพื่อนจริง ๆ ยากจะโกรธกันเรื่องงานแม้เพื่อนจะทำงานห่วยแค่ไหนก็ตาม และหรือ บางทีเรื่องที่เรากำลังเอาเหตุผลตนเองอยู่นี้ มันไม่ได้ใหญ่ สำคัญหนักหนานักหรอก แต่การที่ต่างเอาเหตุผลเข้าชนนั่นเอง “อารมณ์ร้าย ๆ” จึงตามมา บรรยากาศการทำงานเป็นทีม หรือสิ่งแวดล้อมการทำงานเสียไป ไม่คุ้ม และยากจะฟื้นฟู

เช่นกันกับ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว คนรอบข้าง ลดอารมณ์ความรู้สึกลงบ้าง ในหลาย ๆ กรณี เช่น หึง หวง ห่วงใย ก็ตามที วางอารมณ์ตรงนั้นลงได้ มีเหตุผล(ที่แท้จริง) สักหน่อย เชื่อว่า ความรู้สึกแย่ต่อกัน มันจะลดลง และความเข้าใจจะมากขึ้น ด้วยการแสดงออกที่ดีได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมปรับใช้เสมอ ไม่ได้บอกว่าทำได้ตลอดเวลา แต่พอเข้าใจก็พยายามระลึก เตือนสติตัวเอง และมันช่วยให้อะไรง่ายขึ้น ดีขึ้น ในชีวิตหลาย ๆ ครั้ง เหตุผลก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี เป็นสิ่งที่มนุษย์มี แต่การใช้ผิดที่ผิดทาง ไม่ได้ประโยชน์อะไรและส่วนใหญ่ ที่ร้ายคือ..

เวลาที่ผลลัพธ์มันไม่ตรงเจตนาแท้จริงของเรา..

 

สนับสนุนคุณภาพโดย  Pussy888

30 พ.ค. 63 เวลา 16:19 1,382