“ดีอีเอส” จับมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน และ ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยเปิดตัวโครงการ #ThaiFightCOVID พร้อมนำเสนอ 2 แอปฯ เก็บข้อมูลติดตามผู้ที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ภายใต้ชื่อ #ThaiFightCOVID พร้อมนำเสนอแอปพลิเคชัน “AOT Airports” และ “SydeKick for ThaiFightCOVID” ในการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผู้ที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมลดความตระหนกให้กับภาคประชาชน รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ท่าอากาศยานทุกแห่งในประเทศไทยจะนำแอปพลิเคชันแรกชื่อ “AOT Airports” ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะมาใช้เก็บข้อมูลเพื่อติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย รวมถึงชาวไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. 2563 ภายหลังได้ข้อสรุปจากการประชุมเพื่อหารือแนวทางการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา
สนับสนุนคุณภาพโดย Slotxo | สล็อตxo
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า ผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่งไว้แล้วสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากคิวอาร์โค้ดที่ติดตั้งไว้ ณ จุดคัดกรองได้ทันที ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีซิมการ์ดสามารถซื้อซิมการ์ดจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่วางจำหน่ายบริเวณจุดคัดกรองในราคา 49 บาท และสามารถใช้ได้ 14 วัน
จากนั้น ทุกคนจะต้องลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล์ ก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บรวบรวมไว้ที่กรมควบคุมโรค เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามและสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 หากพบว่ามีการติดเชื้อภายหลังผ่านเข้าประเทศแล้ว ระบบจะแจ้งให้ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับทราบ ก่อนติดตามพิกัดที่อยู่ของผู้ป่วยและผู้ที่เดินทางร่วมกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หากเกิดเหตุขัดข้องจะใช้วิธีการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม ต.8แทน พร้อมยืนยันว่าข้อมูลต่าง ๆ จะถูกลบออกจากระบบภายใน 14 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นควบคู่กับลดความตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนในการสู้ภัย COVID-19
ปัจจุบันมีผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านทุกด่านตรวจคนเข้าเมืองเฉลี่ย 70,000 คนต่อวัน แยกเป็นชาวไทย 20,000 คน และชาวต่างชาติ 50,000 คน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่รัฐบาลยกเลิกศูนย์กักกันเพื่อควบคุมโรค และผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องกลับไปกักตัวที่บ้านหรือภูมิลำเนานั้น ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัทดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ชื่อ อาร์ติคูลัส ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “SydeKick for ThaiFightCOVID” ซึ่งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากดีป้า สำหรับติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกลับไปกักตัวที่ภูมิลำเนา โดยทุกคนต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว เพื่อแสดงตัวตนที่อยู่ในจังหวัดตามภูมิลำเนาของตัวเองก่อนออกจากศูนย์กักกันฯ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีคิวอาร์โค้ดศูนย์กลาง และแต่ละเขตทั้ง 50เขต รวมถึง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการลงทะเบียนเชื่อมต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อคอยตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มเสี่ยงว่า มีความรับผิดชอบต่อสังคม กักตัวเองอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งจะทำงานควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบมีผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“แอปพลิเคชัน SydeKick for ThaiFightCOVID เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพสัญชาติไทย โดยนำแนวคิดการดูแลความปลอดภัยของคนในครอบครัวมาปรับใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้แอปพลิเคชันจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความกังวลให้กับสังคมไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
นอกจากนี้ทางกระทรวงยังได้มีการหารือความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากดีป้า เพื่อหาบริการดิจิทัลให้แก่ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับไวรัส COVID-19 ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข