วีดีโอนี้ที่เล่าถึง ความเชื่อ ของนักฟุตบอลที่ล้มอยู่ในระหว่างแข่งแล้วกลับลุกขึ้นสู้ และแค่ขอให้ เชื่อ ที่จะทำได้ซึ่งนักบอลนั้นก็มาจากกลุ่มที่คัดเลือกจากโครงการ FOX HUNT ที่คิง เพาเวอร์เองสนับสนุน ซึ่งนั่นก็คือส่วนหนึ่งของ การให้ ของคิง เพาเวอร์
บทความ ใจคนยั่งยืนกว่า เลสเตอร์ คิงเพาเวอร์ "เราเชื่อ"
เป็นบทความที่บ่งบอกถึงเรื่อง การให้ก่อน ถึงจะ ได้รับ เรื่องนี้เมื่อเอากลับมาคิดแล้วต้องยอมรับเลยว่า เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องที่ควรกระทำ เราไม่สามารถหวังผลลัพท์ก่อนการกระทำได้
จากบทความที่เขียนโดยนักวิจารณ์ฟุตบอลเขียนไว้อย่างน่าสนใจ เรื่องเกี่ยวกับการบริหาร ทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ของเจ้าสัว วิชัย ศรีวัฒนประภา และลูกชาย อัยยวัฒน์ ความยากลำบากในการปรับปรุงทีมขึ้นมาใหม่เรียกว่า
ตั้งแต่เริ่มซื้อทีมจากศูนย์ เพราะทีมไม่มีความพร้อมและมีหนี้ติดมาด้วย แล้วเอามาพัฒนาจนกระทั่งได้คว้าแชมป์พรีเมี่ยมลีก ซึ่งระหว่างบทความ คนเขียนได้เน้นคำไว้ว่า ให้ก่อน ที่พยายามบอกเรื่องความตั้งใจที่จะให้ของผู้บริหารทีม เรียกได้ว่าให้จนหมดใจ สุดท้ายผลลัพท์ที่ได้คือการคว้าแชมป์มา และทุกอย่างก็ดีขึ้น
สำหรับผมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเองหยุดอ่านไม่ได้ และอยากที่จะเอามากระจายให้ได้อ่านกัน
เลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อ 9 ปีก่อน กับ เลสเตอร์ ซิตี้ ในวันนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ย้อนกลับไปในเดือน สิงหาคม ปี 2010 วิชัย ศรีวัฒนประภา และลูกชาย อัยยวัฒน์ ตัดสินใจเทกโอเวอร์ สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ จากมิลาน มันดาริช ในราคา 40 ล้านปอนด์
วิสัยทัศน์ ของวิชัยตอนนั้น เขาเห็นความเป็นไปได้ ที่จะนำทีมฟุตบอลไปขยายตลาดในเอเชีย และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์คิง เพาเวอร์ ให้ก้าวไปสู่ระดับโลกมากขึ้น
แต่สิ่งแรกที่ พ่อลูก วิชัย-อัยยวัฒน์ต้องเผชิญ คือสื่อมวลชนที่อังกฤษไม่ยอมรับพวกเขา คือในมุมของชาวต่างชาติ นักธุรกิจชาวไทย เอาเงินมาซื้อสโมสร จริงๆจะหวังอะไรอยู่ก็ไม่รู้
"คุณจะเข้ามาโกยเงินจากสโมสรใช่ไหม" นี่คือสิ่งแรกที่นักข่าวถามสองพ่อลูกชาวไทยกลางห้องแถลงข่าว ในวันที่ประกาศตัวเทกโอเวอร์เลสเตอร์ ซิตี้ ถามกันแรงๆแบบนี้เลย
สำหรับในมุมของนักธุรกิจ ใช่ สุดท้ายพวกเขาก็ต้องหวังผลประโยชน์อะไรบ้าง จากการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในสภาพของเลสเตอร์วินาทีนั้น ไม่มีทางเลย ที่ตระกูลศรีวัฒนประภาจะได้รับอะไร
การทำทีมฟุตบอลอังกฤษ หนทางที่จะได้กำไร คือคุณต้องพาทีมเลื่อนชั้นไปสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้ แต่ปัญหาคือเลสเตอร์นั้นไม่มีเหลี่ยมไหนจะเลื่อนชั้นได้เลย
พอเทกโอเวอร์เข้าจริงๆ วิชัย-อัยยวัฒน์ ถึงได้รู้ว่า เลสเตอร์ มีปัญหาภายในเยอะมากๆ ชนิดที่พวกเขาต้องตกใจ
ทีมฟอร์มไม่ดี การเงินถังแตก ปัญหาภายในของสโมสรแตกแยก คือไม่มีทีท่าเลยว่าเลื่อนชั้นไปสู่ลีกสูงสุดได้
ดังนั้นสองพ่อลูกศรีวัฒนประภา จึงต้องวางแผนใหม่ พวกเขาตัดสินใจ "ให้" ก่อน และหวังว่าถ้าหากตัวเอง ทุ่มใจให้หมดตัวแล้ว จนเลสเตอร์ ซิตี้ ดีขึ้น สักวันก็จะ "ได้รับ" คืนกลับมา
เราเห็นนักธุรกิจทั่วไป เมื่อลงทุนแล้วก็อยากรับ รับ รับ เอากำไรให้เร็วที่สุด แต่ในกรณีของเลสเตอร์ วิชัยและอัยยวัฒน์มองว่า การที่คุณจะ "รับ" อย่างยั่งยืนได้นั้น การ "ให้ด้วยใจ" ก่อน ก็เป็นแนวทางที่ดี
ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งใจจะทำสโมสรเลสเตอร์ให้ดีที่สุด และก็หวังว่า เมื่อทำทีมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คราวนี้ก็อาจเริ่มสร้างกำไรได้บ้าง
หลังจากจ่ายเงินก้อนแรกเพื่อเทกโอเวอร์ไป 40 ล้านปอนด์ วันแรกที่อัยยวัฒน์ เริ่มเข้าไปทำงาน คือ 10 สิงหาคม 2010 สิ่งแรกที่เขาต้องเจอ คือ ปัญหากระแสเงินสดของสโมสรไม่พอ
รายได้ของสโมสร ไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้นักเตะในเดือนนั้น และต้องเบิกกับเจ้าของทีมก่อน 3 แสนปอนด์
"ผมคิดในใจ วันแรกเราเป็นหนี้ 3 แสนปอนด์แล้วหรอ" อัยยวัฒน์กล่าว
ในช่วงแรกๆ พ่อลูกศรีวัฒนประภา ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะเลสเตอร์ทีมนี้ไม่มีอะไรพร้อมเลย
ปัญหาภายในมีเยอะ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสตาฟฟ์ มีการแตกแยก
สตาฟฟ์ของเลสเตอร์ มีการแบ่งเป็น 2 ทีม คือสตาฟฟ์ฝั่งสเตเดี้ยม และ สตาฟฟ์ฝั่งฟุตบอล โดยสตาฟฟ์ฝั่งสเตเดี้ยมจะดูแลเรื่องการขายตั๋ว จัดการเอกสาร ผลิตของที่ระลึก คือเป็นฝ่ายหาเงินเข้าสโมสร
ซึ่งฝั่งสเตเดี้ยม ก็จะไม่ค่อยพอใจฝั่งฟุตบอล เพราะมองว่าตัวเองเป็นคนหาเงินเข้าสโมสร แต่ฝั่งฟุตบอลดีแต่จะใช้เงินละลายแม่น้ำในการเอาไปซื้อนักเตะ
รวมถึง เรื่องของสนามของเลสเตอร์ ที่ทั้งเก่า และทรุดโทรม ขณะที่ช็อปของสโมสร ก็มีขนาดเล็กมาก ไม่มีของขายอะไรที่น่าสนใจเลยด้วย ส่งผลให้ไม่มีรายได้ตรงจุดนี้
ขณะที่นักฟุตบอล ก็มีอุปกรณ์การซ้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก คือซ้อมกันตามมีตามเกิด มีเท่าไหร่ ก็ซ้อมแค่นั้น
ดังนั้นในฐานะเจ้าของทีม เขาต้องแก้ปัญหาทีละเปลาะ และวิธีของเขาคือการ "ให้" โดยใจบริสุทธิ์ และให้ "ความเชื่อ" กับอีกฝ่ายอย่างเต็มที่
---------
การแก้ปัญหาข้อแรก คือปัญหาความขัดแย้งของสตาฟฟ์
เขาตัดสินใจใช้วิธีแบบไทยๆ นั่นคือ จัดกิจกรรมร่วมกันซะเลย โดยวันที่ไม่มีแข่ง ก็ให้สตาฟฟ์ 2 ฝั่งแบ่งข้างทีมฟุตบอล มาสู้กันเลย ในสนาม
การมีกิจกรรมร่วมกัน เริ่มทำให้สองฝั่ง มีการละลายพฤติกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นในช่วงคริสต์มาส อัยยวัฒน์ ตัดสินใจปิดผับแห่งหนึ่งในเมือง แล้วให้เหล่าสตาฟฟ์มาฉลองกันเต็มที่ โดยเขารับผิดชอบค่าใช้จ่ายกินดื่ม จำนวน 4 หมื่นปอนด์เอง
มีคนทักอัยยวัฒน์ไม่น้อยว่าใช้เงินขนาดนี้ เพื่อเลี้ยงพนักงานที่เพิ่งร่วมงานกัน 4 เดือนเนี่ยนะ แต่อัยยวัฒน์ยืนยันว่า เขาขอเป็นฝ่ายเลี้ยงเอง
"ผมต้องการให้เขาเห็นว่า เราเข้ามาบริหารด้วยใจ เราซื้อใจคุณ คุณซื้อใจเรา ถ้าคุณทำให้เราดี คุณจะได้ในสิ่งที่เราอยากให้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องให้และรับ"
การให้ก่อน ทำให้สตาฟฟ์ของเลสเตอร์ ให้ความเชื่อใจอัยยวัฒน์ และบรรยากาศในที่ทำงานก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความกลมเกลียวกัน และไม่มีดราม่าใส่กันอีก
เมื่อแก้ปัญหาสตาฟฟ์เสร็จแล้ว อัยยวัฒน์ ก็เริ่มลุย แก้ปัญหาเรื่องของสภาพสนามที่เก่าและทรุดโทรมมาก
แฟนบอลของเลสเตอร์ พวกเขารักสโมสร แต่ทว่าในสนามกลับมีคนมาดูน้อย สาเหตุเพราะอะไรล่ะ ก็เพราะหนึ่งฟอร์มไม่ค่อยดี และสอง สภาพสนามมันโบราณ ไม่ค่อยน่าดึงดูดให้คนออกมาใช้เวลาวันหยุดที่สนามแข่งขัน
กล้องซีซีทีวี ทั้งสนามใช้งานได้ 10 ตัว ความปลอดภัยแทบไม่มี นอกจากนั้นเจ้าของคนเก่า ยังปล่อยห้องว่างในสโมสรให้ออฟฟิศเอกชนด้านนอกมาเช่าทำบริษัทอีกด้วย คือทุกอย่างมั่วไปหมด
อัยยวัฒน์เลยต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อวางระบบใหม่ เขาอยากให้สนามแข่งขันของเลสเตอร์ เป็นเหมือนแลนด์มาร์กที่คนในเมืองจะนึกถึง คือพัฒนาให้เทียบเคียงกับ สนามระดับพรีเมียร์ลีก เพื่อดึงดูดใจแฟนขาประจำ และขาจร ให้กลับมาอีกครั้ง
หลักการเดิม "ให้" ก่อน โดยอย่าเพิ่งไปหวังผลกำไร
อัยยวัฒน์ สั่งติดกล้องซีซีทีวีทั่วสนามเพิ่มความปลอดภัย ติดตั้งสกอร์บอร์ดใหม่ จากนั้นจัดการยกเลิกสัญญากับคนเช่าออฟฟิศในสนาม ก่อนจะเอาพื้นที่ตรงนั้นมาสร้างเป็นร้านอาหาร และขยายช็อปของสโมสรให้ใหญ่โต และสวยงาม
"เราอยากให้เขาคิดว่าช็อปของสโมสรเราเป็นที่ช็อปปิ้งแห่งหนึ่ง ถ้าว่างก็มาเดินดูของได้ตลอด เราจะมีการเปลี่ยนสินค้าตามฤดูกาลตลอด คือเราทำธุรกิจรีเทลมาก่อน เราก็ต้องวางระบบขายสินค้าให้ดี ไม่ให้ใครว่าได้"
อัยยวัฒน์ ส่งตั๋วเครื่องบินให้ทีมไอทีของคิง เพาเวอร์จากไทย มาช่วยวางระบบที่เลสเตอร์ สร้างการซื้อขายตั๋วออนไลน์ จากเดิมที่แฟนบอลต้องมาต่อแถวซื้อบัตรที่เคาน์เตอร์หน้าสนาม คือช่วยทำให้สโมสรมีความทันสมัย ง่ายต่อผู้ใช้มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังลงทุนหลายสิบล้านบาท สร้างเมกะสโตร์ของสโมสร เอาให้สวยงาม และมีของเก๋ๆ น่าซื้อสะสม ไม่แพ้ทีมดังๆในระดับพรีเมียร์ลีก
เขาลงทุนไปก่อน โดยไม่รู้ว่าจะได้คืนหรือไม่ แต่ความตั้งใจคือ ถ้าเขาให้ใจไปก่อนแล้ว วันหนึ่งที่แฟนบอลเห็นความเปลี่ยนแปลง และแฟนบอลมีกำลังซื้อ ก็จะมาตอบแทนเขาคืนเช่นกัน
---------
ปัญหาข้อที่ 3 คือเรื่องของนักเตะในสนาม ปัญหาของเลสเตอร์ คืออุปกรณ์ไม่มีความพร้อม ต่อให้ตัวนักเตะดี แต่เมื่อวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ดี มันก็ส่งผลต่อเกมในสนาม
ดังนั้นอัยยวัฒน์ ก็เลยยึดหลักการเดิมคือ ให้ก่อน เขาสั่งซื้อสายคาดอก วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งถือเป็นทีมแรกในระดับแชมเปี้ยนชิพ ที่ใช้เครื่องมือนี้ เพราะมันมีราคาแพงมหาศาล
"อุปกรณ์เหล่านี้ ช่วยให้นักเตะมีวินัยเพิ่มมากขึ้น จากนั้นเราก็ลงทุนกับการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดกันอย่างจริงจังมากขึ้น"
สโมสรลงทุนกับวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้ได้รู้สภาพร่างกายของผู้เล่นว่าใครยังบกพร่องตรงไหน และต้องเพิ่มเติมตรงไหน
นอกจากนั้น อัยยวัฒน์ยังลงทุน สร้างห้องแช่แข็ง หรือ Ice Chamber เวลานักเตะซ้อมเสร็จ ต้องถอดเสื้อผ้าออกหมด แล้วเข้าไปยืนในห้องที่มีอุณหภูมิติดลบ เป็นเวลา 30 วินาที โดยความหนาวเย็น จะขับไล่ความเมื่อยล้าของร่างกายให้หมดไป
"ตอนเข้าไปทำทีม บางวันจะมีฝึกซ้อมที่อินดอร์ เราเห็นว่าลูกบอลที่ตกบนพื้นสนามแทบไม่เด้ง นั่นเพราะเป็นพื้นสนามไม่ดี เราถามสตาฟฟ์ว่าแล้วคุณซ้อมกันยังไง เขาบอกก็ซ้อมกันอย่างนี้ ให้ผ่านไปในแต่ละวันนั้นล่ะ ซึ่งเราก็บอกว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะมันส่งผลถึงนักกีฬา" อัยยวัฒน์เล่า
นั่นทำให้อัยยวัฒน์ก็ต้องใช้เงินลงทุน ในการเปลี่ยนพื้นสนามอินดอร์อีก คือเรียกได้ว่า เขาใช้เงินมหาศาลไปกับการ สร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือให้นักเตะ ได้ซ้อมฟุตบอลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หลักการ "ให้ก่อน" ยังคงถูกใช้ นั่นเพราะเขาเชื่อว่า ถ้าสโมสรทุ่มเทเต็มที่ โดยแสดงให้เห็นความตั้งใจจริง ว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรๆให้มันดี มันจะส่งผลให้ตัวนักเตะ มีความรู้สึกตั้งใจซ้อม และตั้งใจเล่นมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดผลดีก็จะกลับมาสู่สโมสรเอง
นี่คือจุดเริ่มต้นในช่วงแรก ที่สองพ่อลูกศรีวัฒนประภา เข้าไปเทกโอเวอร์เลสเตอร์ ซึ่งก็ดูเหมือนสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำ ดูจะได้ผลดี เพราะเลสเตอร์ ค่อยๆเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
นักเตะแข็งแกร่งขึ้น สตาฟฟ์ทำงานได้ยอดเยี่ยม ขณะที่สนามก็สวยงาม กลายเป็นแลนด์มาร์กที่ใครๆก็อยากมาเยือน ส่งผลให้แฟนบอลเข้ามาชมเกมมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ
และเรื่องราวต่อจากนั้นก็อย่างที่เรารู้กัน เลสเตอร์ค่อยๆไต่เต้ามาช้าๆ อันดับของทีมในลีกแชมเปี้ยนชิพ ดีขึ้นเรื่อยๆ
2010-11 จบอันดับ 10
2011-12 จบอันดับ 9
2012-13 จบอันดับ 6 (ตกรอบเพลย์ออฟ)
2013-14 จบอันดับ 1 (เลื่อนชั้น)
และพอเลื่อนชั้นได้ 2 ปี พวกเขาก็สร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ
ดังนั้นหลักการ "ให้ก่อน" พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะเมื่อให้ด้วยใจกับคนที่คู่ควร ในวันหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน เมื่ออีกฝ่ายพร้อม เดี๋ยวก็จะ "ได้รับคืน" อย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญของพ่อลูก ศรีวัฒนประภา ที่พาทีมเลสเตอร์ จากระดับกลางตารางในแชมเปี้ยนชิพ ให้ก้าวมาไกลถึงแชมป์พรีเมียร์ลีก และทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในแชมเปี้ยนส์ลีกได้สำเร็จนั้น
จุดสำคัญคือ 1) พวกเขาเลือกจะให้ แม้ไม่รู้ว่าจะได้รับคืนเมื่อไหร่
และ 2) พวกเขามี "ความเชื่อ" เชื่อมั่นว่าถ้าหากเดินหน้าต่อด้วยแนวทางที่ถูกต้อง และไม่ยอมแพ้ไปก่อนกลางทาง แม้จะมีอุปสรรคแค่ไหน สุดท้ายจะไปถึงความฝันได้แน่นอน
2 ข้อเป็นแรงพลังบวกกัน ที่ทำให้การบริหารเลสเตอร์ ท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จชนิดที่โลกต้องจารึกแบบนี้
เครดิต: https://www.facebook.com/watch/?v=2611865772212129&_rdr