วัคซีนมะเร็งปากมดลูก
โดย พญ.ณัฎฐินี ประชาศิลป์ชัย ตำแหน่ง สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี2
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human papilloma viruses) ชนิดมีความเสี่ยงสูง (โดยพบสายพันธ์16 และ18บ่อยที่สุด)จากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับชายคนเดียวแต่ผู้ชายคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น (ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อHPV ได้ 100% )ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย และเชื้อนี้ใช้ระยะเวลาก่อมะเร็งช้า สามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า10ปี โดยไม่แสดงอาการ
ผู้ที่สมควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ ผู้หญิง โดยการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับการฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย (ยังไม่ติดเชื้อ) พบว่าเด็กหญิงเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในอายุประมาณ 13 ปี
ดังนั้น คุณหมอจึงแนะนำการฉีดวัคซีนเริ่มตั้งแต่อายุ 11-12 ปี หรือฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ส่วนในอายุ 13-26 ปี ก็น่าจะฉีด (ถึงแม้จะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม) แต่อาจได้รับผลในการป้องกันโรคลดลงส่วนในอายุอื่นๆ การศึกษายังไปไม่ถึงในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า การฉีดวัคซีนได้ประโยชน์ในกลุ่มที่เหลือนี้ ส่วนการฉีดวัคซีนตัวนี้ในผู้ชายเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง กำลังอยู่ในการศึกษาเช่นกัน
เชื้อ HPV จะมี 2 ประเภทคือ เชื้อแบบที่ไม่ก่อมะเร็งแต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และเชื้อแบบที่ก่อมะเร็งซึ่งมีหลายสายพันธ์ จึงมีการนำเชื้อสายพันธ์ที่ก่อมะเร็งและพบบ่อย (ชนิดที่ 16, 18) มาทำวัคซีนHPVป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าและนานกว่ามีประสิทธิภาพดีป้องกันได้ 70% ช่วงอายุที่แนะนำคือ 9 -26 ปี ส่วนผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ววัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธ์ที่ยังไม่เคยมีการติดมาก่อนและการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์เดิม จึงยังได้ประโยชน์จากการป้องกันมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฉีดทั้งหมด 3เข็ม ครั้งที่2หลังจากครั้งแรก 1-2เดือน และครั้งที่3หลังจากครั้งแรก 6 เดือน จากงานวิจัยปัจจุบันซึ่งตามมาประมาณ 10 ปี ยังไม่แนะนำให้มีการฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
วัคซีนตัวใหม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 โดยสามารถสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าที่เกิดโดยธรรมชาติถึง 11 เท่า และคงอยู่นานถึง 5 ปีครึ่ง (วัคซีนตัวเดิมรายงานไว้เพียง 5 ปี) นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยว่าใช้ได้ผลดีกับสตรีอายุ 10 – 55 ปีเลยทีเดียว (วัคซีนตัวเดิมแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 9 –26 ปี) และยังส่งผลช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สายพันธุ์ 31 และ 45 ที่ก็เป็นตัวก่อมะเร็งเหมือนกันได้อีกด้วย ดังนั้นคนที่นิยมของใหม่ คงต้องอดใจรออีกหน่อยนะครับ แต่ถ้านิยมของเดิม ฉีดวัคซีนตัวเดิม (ชนิด 4 สายพันธุ์) นอกจากป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังได้แถมป้องกันหูดหงอนไก่อีกด้วย คุณผู้อ่านชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามต้องการ หรืออาจปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ท่านไว้วางใจก่อนตัดสินใจ
ข้อแนะนำ
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยงและการตรวจแพปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอตลอดจนการฉีดวัคซีน HPV หากทำร่วมกันทั้งสองวิธีจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-487-2115 หรือ https://www.facebook.com/Thonburi2Hospital?fref=ts
ขอบคุณที่เอามาฝากกันนะคะ