บอร์ด
กระทู้: เมื่อลูกรักของท่านฟันขึ้นซี่แรก…

เมื่อลูกรักของท่านฟันขึ้นซี่แรก

               ผู้ปกครองหลายท่านมักเข้าใจว่าฟันน้ำนมนั้นไม่สำคัญ เพราะเมื่อโตขึ้นฟันน้ำนมก็จะหลุดออกไปเอง พอลูกมีฟันน้ำนมผุก็ปล่อยไว้ไม่พามาพบทันตแพทย์  ซึ่งในบางครั้งพบว่าเด็กมีฟันผุลุกลามจนมีอาการปวดบวม และรับประทานอาหารไม่ได้ ทพญ.นภา ชวนชัยสิทธิ์ ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมเด็ก คลินิกทันตกรรมเดนทีค เดนทัล แคร์ ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับฟันน้ำนมว่า ในความเป็นจริงฟันน้ำนมมีความสำคัญอย่างมากต่อเด็ก ๆ เพราะฟันน้ำนมมีหน้าที่สำคัญหลายอย่างทั้งในด้านความสวยงาม การพูดออกเสียง การบดเคี้ยวอาหาร  ทำให้เด็กได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย นอกจากนี้ฟันน้ำนมยังมีหน้าที่กันเนื้อที่ให้แก่ฟันแท้ ช่วยให้ฟันแท้เข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องป้องกันไม่ให้ฟันแท้ซ้อนเกทับอีกด้วย

                ฟันน้ำนมซี่แรกของลูกจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยก่อนฟันขึ้น จะสังเกตเห็นเหงือกนูน ๆ ตรงตำแหน่งฟันหน้าของขากรรไกรล่าง หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีปลายฟันน้ำนมสีขาวโผล่ขึ้นมา ในขณะที่ฟันกำลังขึ้น เด็กบางคนอาจมีอาการเจ็บ ๆ คัน ๆ ที่เหงือก มีน้ำลายไหลเยอะ ชอบเอามือเข้าปาก เด็กอาจมีไข้และร้องงอแงด้วย อาการทั้งหมดนี้จะหายไปได้เองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ สามารถช่วยบรรเทาได้โดยนำยางสำหรับกัดไปแช่เย็นให้เด็กกัดเล่น หรือให้รับประทานยาแก้ไข้เมื่อเด็กมีไข้ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ปกครองทายาชาหรือเจลทาตอนฟันขึ้น (Teething gel) เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้

                ในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก ๆ ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ผู้ปกครองควรเริ่มแปรงฟันให้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น โดยเลือกแปรงสีฟันที่เหมาะกับช่วงอายุของเด็ก ขนแปรงมีความอ่อนนุ่ม หัวแปรงขนาดเล็กและด้ามจับถนัดมือคุณพ่อและคุณแม่ ร่วมกับการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก แปรงฟันในลักษณะถูไปถูมาทั้งด้านในและด้านนอกให้สะอาด และควรแปรงฟันให้วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน

                ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ แต่มีข้อควรระวังในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เนื่องจากการกลืนยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อาจทำให้ฟันแท้ตกกระ (Dental Fluorosis) ได้ ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ดังนี้

  • เลือกยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่ใส่ในยาสีฟัน ได้แก่ โซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium Fluoride) หรือ โมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Monofluorophosphate) โดยประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุของสารทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกัน
  • เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันฟลูออไรด์พอเปียกแปรง และระหว่างแปรงฟันให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดฟองยาสีฟันออกเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟันลงไป
  • เด็กอายุ 3 – 6 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เท่าเม็ดถั่วลันเตา หลังจากแปรงฟันให้บ้วนน้ำปริมาณน้อย ๆ เพื่อให้มีฟลูออไรด์คงค้างอยู่ในน้ำลายเพื่อป้องกันฟันผุ
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้ปริมาณยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามความยาวหน้าตัดแปรง หลังจากแปรงให้บ้วนน้ำปริมาณน้อย ๆ เช่นกัน

สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองควรเป็นคนบีบยาสีฟันให้เด็ก ๆ ทุกครั้งที่แปรงฟันและคอยดูแลอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กแปรงฟันเพื่อป้องกันไม่ให้กินหรือกลืนยาสีฟัน ส่วนการพาลูกเด็ก ๆ มาพบทันตแพทย์นั้นควรเริ่มตั้งแต่เด็กมีฟันซี่แรกขึ้น และไม่ควรเกินอายุ 12 เดือน การพาเด็กมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่เล็กและยังไม่มีฟันผุจะช่วยสร้างความคุ้นเคยและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำฟันให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี  โดยการพบทันตแพทย์ครั้งแรกนั้น ทันตแพทย์จะตรวจฟันและแนะนำวิธีการดูแลทำความสะอาดฟันและช่องปากที่ถูกต้องให้กับผู้ปกครอง พร้อมประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุของเด็กแต่ละคน พร้อมทาฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ และนัดดูแลอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3-6 เดือน

การดูแลฟันน้ำนมของลูกไม่ใช่เรื่องยากถ้าเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น เด็กๆ ก็จะมีรอยยิ้มที่สดใสน่ารัก มีสุขภาพฟันที่แข็งแรงและมีความสุขกับการทำฟันในอนาคตต่อไป

28 พ.ค. 58 เวลา 17:13 446